‘ทริส’จ่อหั่นเรทติ้ง 6 บริษัท พิษ ‘โควิด-19’ ฉุดผลดำเนินงาน-สภาพคล่องธุรกิจวูบ

‘ทริส’จ่อหั่นเรทติ้ง 6 บริษัท พิษ ‘โควิด-19’ ฉุดผลดำเนินงาน-สภาพคล่องธุรกิจวูบ

“ทริสเรทติ้ง” หั่นเครดิต 3 บจ. “บีอีซี-เนาวรัตน์-เอแคป” หลังผลดำเนินงานอ่อนแอลง ส่อปรับเพิ่มอีก 6 บจ. ผลจากพิษโควิด กระทบผลดำเนินงาน สภาพคล่องธุรกิจ ยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องติดตามฐานะการเงินแต่ละบริษัทใกล้ชิด

นายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ "โควิด-19" ที่มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และธุรกิจต่างๆทำให้ ทริสเรทติ้งต้องติดตามบริษัทต่างๆ อย่างใกล้ชิดและเข้าไปประเมิน(รีวิว)ฐานะการเงิน สภาพคล่องต่างๆ โดยจะเน้นในกลุ่มอุตสหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวมากสุดก่อน เพื่อประกาศอันดับความน่าเชื่อถือ(เครดิตเรทติ้ง) ออกมาให้นักลงทุนทราบ เพื่อใช้พิจารณาการลงทุน ซึ่งไตรมาส1ปีนี้ ประกาศอันดับเครดิตบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ไปแล้ว 30 บริษัท ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงกว่าปกติเพราะปีนี้เกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติขึ้น และมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะสามารถคลี่คลายได้เมื่อไหร่ รวมถึงมาตรการของภาครัฐที่จะประกาศออกมาควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งจะส่งกระทบภาพรวมธุรกิจ

ทั้งนี้บริษัทได้มีการจัดกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ สายการบิน โรงแรม โรงภาพยนตร์ ขนส่งสินค้า โรงกลั่นและปั๊มน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เหล็กและเหมืองแร่ปลายน้ำและต้นน้ำ กระดาษ รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบปานกลาง คือ ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ พลังงานกลางน้ำ โครงสร้างพื้นฐานของการขนส่ง ยางพารา เคมีภัณฑ์ สินค้าอุปโภคคงทน ก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง เงินทุน และสื่อโฆษณา และกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต่ำ คือ สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าแบรนด์ที่ไม่ใช่สินค้าคงทน บรรจุภัณฑ์ การแพทย์ สาธารณูปโภค เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ และโทรคมนาคม

158618015295

จากการรวบรวมข้อมูลการประกาศอันดับเครดิตของบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ในช่วงไตรมาสแรกปี 2563 พบว่า ทริสเรทติ้ง ประกาศอันดับเครดิตบริษัทจดทะเบียน(บจ.)จำนวน 30 แห่ง แบ่งเป็น "ปรับลด" เครดิต 3 บริษัท , ประกาศเครดิตพินิจ จำนวน 6บริษัท และ คงอันดับเครดิต จำนวน 21บริษัท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีการปรับเพิ่มแนวโน้ม 3 บริษัท ปรับลดแนวโน้ม 4 บริษัท และแนวโน้มคงเดิม 14

บริษัทที่ถูกปรับลดเครดิต 3 บริษัท คือ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) ลดจาก A- เป็น BBB เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทที่อ่อนแอมากกว่าที่คาด ขณะที่โอกาสฟื้นตัวยังเป็นไปได้ค่อนข้างยากในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า จากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อการโฆษณายิ่งชะลอตัวลง และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการรับสื่อของผู้ชมและการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมสื่อที่มีภาวะแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนส่งผลให้ความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทเป็นไปอย่างจำกัด

บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ(NWR) ลดจาก BBB- เป็น BB+ เพราะผลการดำเนินงานที่อ่อนแอโดยบริษัทมีรายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 อยู่ที่ 5.9 พันล้านบาท ลดลงถึง 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะมีงานรอส่งมอบจำนวนมาก และรายได้ยังต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการเอาไว้ โดยส่วนใหญ่มาจากความล่าช้าของงานก่อสร้างโครงการหลัก ๆและโครงสร้างทางการเงินของบริษัทอ่อนแอ เพราะมี อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 51.9% ณ เดือนก.ย. 2562 เพิ่มจาก 46.1% ณ สิ้นปี 2561 และคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปจากความล่าช้าในงานก่อสร้างบางโครงการฯลฯ

บมจ.เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป(ACAP)ซึ่งต้นปีนี้ได้ปรับลดไปแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งนี้ถูกปรับลดจาก B เป็น C และครั้งล่าสุดอยู่ที่ D เพราะบริษัทผิดนักชำระหุ้นกู้(ACAP202A)ที่ถึงกำหนดวันที่ 7 ก.พ.2563 มูลค่า 395.30 ล้านบาท

ส่วนบริษัทที่ทริสประกาศเครดิตพินิจ 6 บริษัท มีแนวโน้มเป็นลบมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับเครดิตลง คือ 1.บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF) เพราะประกาศว่าบริษัทจะลงทุน 20% ในบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย)และ Tesco Stores(Malaysia) Sdn.Bhd. หากดีลสำเร็จซึ่งจะทำให้คาดอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนสูงขึ้นอยู่ที่ 65% จากระดับ 62% ในปี 2562 มีความเสี่ยงต่อฐานะการเงิน, 2.บมจ.ซีพี ออลล์(CPALL)แนวโน้มเป็นลบ เพราะจากการประกาศลงทุน 40% ในบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) และ Tesco Stores (Malaysia)Sdn.Bhd. ซึ่งหากดีลสำเร็จคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 75% จากระดับ 68% ในปี 2562มีความเสี่ยงต่อฐานะการเงิน

3.บมจ.ดุสิตธานี (DTC) 4.บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า (CENTEL) 5.บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล(MINT) 6.บมจ. แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้(GRAND)สะท้อนความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับผลกระทบที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่จะมีต่อผลการดำนินงานและสภาพคล่องของบริษัท