Work from home โต๊ะ เก้าอี้ และการยศาสตร์ของการทำงานที่บ้าน

Work from home โต๊ะ เก้าอี้ และการยศาสตร์ของการทำงานที่บ้าน

Work from home มาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ทำให้หลายองค์กรเริ่มให้พนักงานทำงานที่บ้านกันแล้ว แต่การทำงานที่บ้านไม่ได้สบายอย่างที่คิด ไม่ใช่แค่ระบบติดตามงาน หรือการไม่ได้เข้าสังคม แต่ไม่สบายเพราะของใกล้ตัวเรานี่แหละ

หลังจากทำงานที่บ้านมาสักพัก มีใครรู้สึกปวดหลัง หนักบ่าไหล่เป็นพิเศษหรือเปล่า ? นอกจากจะจัดสภาพแวดล้อมที่บ้านให้เหมาะสมกับการทำงานแล้ว บางที่สิ่งที่ติดตัวคุณมากที่สุด อาจทำให้คุณเกิดอาการเหล่านั้นได้ขึ้นมา

เคยคุยกับนักออกแบบผลิตภัณฑ์ท่านหนึ่ง ซึ่งได้รับการว่าจ้างให้ออกแบบเก้าอี้สำหรับพนักงานชำแหละไก่ในโรงงานส่งออกไก่แห่งหนึ่ง เมื่อสอบถามลักษณะการทำงานกับพนักงานในไลน์ผลิตแล้ว พบว่าที่จริงสิ่งที่พนักงานต้องการไม่ใช่เก้าอี้สำหรับนั่ง แต่เป็นเก้าอี้ตัวเล็กสำหรับพักขา และท่าทางในการทำงานที่สะดวกของพนักงานหั่นไก่ คือท่ายืนแต่มีที่นั่งและที่พักขาที่เหมาะสม

ฉะนั้น การทำงานที่บ้านของหลายคนตอนนี้ จึงต้องคิดถึงเรื่องการยศาสตร์ให้มาก ไม่เช่นนั้นออฟฟิศซินโดรมจะถามหาเอาง่ายๆ แม้ว่าจะไม่ได้ทำงานที่ออฟฟิศก็ตาม

  • การยศาสตร์ (Ergonomic)  คืออะไร?

Ergonomic รวมมาจาก 2 คำ คือ Ergo เป็นภาษากรีก แปลว่าการทำงาน ส่วน nomous คือกฎเกณฎ์ ในที่นี้หมายถึงบริบทและปัจจัยแวดล้มที่มีผลกับมนุษย์ ทั้งอากาศ สถานที่ และสิ่งของเครื่องใช้ที่ติดตัวเรา ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์ ฉะนั้นในการออกแบบตั้งแต่ตึกสูงใหญ่ บ้าน บันได เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ล้วนแต่คิดถึงหลักการยศาสตร์ เพื่อให้การใช้งานนั้นเหมาะสมกับร่างกายของมนุษย์ บางครั้งจึงมีการเรียกอีกคำให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า การออกแบบที่ถูกต้องตามหลักสรีรศาสตร์

เช่น ความสูง ความกว้างของลูกตั้ง ลูกนอนของบันได รวมถึงความชันก็ต้องมีความเหมาะสมสำหรับการเดิน ที่จริงการยศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนมาก สัดส่วนของข้างของเครื่องใช้ของผู้คนในแต่ละซีกโลกซึ่งมีความสูง ขนาดร่างกายเฉลี่ยต่างกัน ก็ยังต้องแตกต่างกัน

แต่การจะคัสตอมเมดสินค้าทุกอย่างให้เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละคน ย่อมเป็นไปไม่ได้ ในขณะที่ Universal Design นั่นสำคัญ ทำให้เกิดการมาเจอกันครึ่งทางของ Custom Made Design จึงออกมารูปแบบของดีไซน์ที่คำนึงถึงการยศาสตร์ (Ergonomic Design) ซึ่งสำคัญมากทั้งในแง่ของความสะดวกสบาย ผลิตภาพผลิตผลที่ดี และความปลอดภัยในการทำงาน (ร่างกายในระยะยาว)

สำหรับช่วงนี้ เมื่อบรรดามนุษย์เงินเดือนซึ่ง Work from home ทำงานจากที่บ้านมากขึ้น และพบว่าทำไมนั่งทำงานไม่สบาย สำหรับคนที่ไม่ได้หอบงานกลับไปทำที่บ้านประจำ อาจไม่ได้มีโต๊ะหรือเก้าอี้ทำงานที่เหมาะสม การเลือกหาซื้อเก้าอี้ทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ

  • ตั้งแต่กระดูกสันสันหลังยันก้นกบ

การนั่งทำงานที่ดีตามหลักการยศาสตร์นั้น ต้องดูตั้งแต่การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ ที่ควรมีระยะห่างจากมอนิเตอร์กับตัวเราราว 45 – 75 ซม. การวางมือบนคีย์บอร์ดนั้นควรให้ข้อศอกตั้งฉากกับพื้น เมื่อวางมือกลางคีย์บอร์ดแล้ว ข้อมือควรจะวางอยู่ในระนาบสบายๆ ไม่ยกหรือคว่ำจนเกินไป การปรับระดับความสูงได้ของเก้าอี้จึงสำคัญ แม้ว่าจะขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน แต่เก้าอี้ก็ควรปรับความสูงให้พอดีสำหรับสรีระ ไม่ให้อยู่ต่ำเกินไปจนต้องยกข้อมือตลอดการทำงาน หรือสูงจนเท้าลอยจากพื้น

ท่านั่งทำงานควรจะหนังหลับตรงแบบสบายๆ นอกจากคอยสังเกตตัวเองแล้ว การปรับเอนของเก้าอี้ก็สำคัญ หลายเวลาที่เราอยากยืดหลังบ้าง การเอนตัวของเก้าอี้ที่สมดุล ไม่ทำให้รู้สึกเหมือนจะหงายล้ม แต่ผ่อนคลายหลังได้บ้าง เพราะเราควรเปลี่ยนท่านั่งทุก 1 ชั่วโมง

จากบทความ “การนั่งทำงานตามหลักการยศาสตร์” ของ จันทนี นิลเลิศ ระบุว่าการนั่งทำงานมีผลทั้งร่างกายส่วนบนและส่วนล่าง เมื่อเรานั่ง น้ำหลักจะทิ้งตัวลงไปที่ Sit Bone และมักจะโน้มตัวไปข้างหน้า ทำให้กล้ามเนื้อหลังส่วนล่างเกิดอาการล้าได้ ในขณะที่ร่างกายส่วนบน หากนั่งไม่ถูกต้อง หรือใช้เก้าอี้ที่ไม่เหมาะสม ก็จะทำให้เกิดความปวดเมื่อยล้าตั้งแต่กระดูกสันหลังระดับอกขึ้นไปถึงต้นคอ รวมถึงบ่าไหล่ที่ต้องรับน้ำหนักศีรษะที่โน้มข้างหน้า ก็จะเกิดอาการปวดขึ้นมาได้

ปัญหาเหล่านี้มักเกิดจากความเคยชินของท่านั่ง และเก้าอี้เองที่ไม่เอื้ออำนวย หลายคนใช้เก้าอี้แบบฟิกซ์ (เช่น เก้าอี้สำหรับโต๊ะทานข้าว) ซึ่งปรับอะไรไม่ได้เลยมานั่งทำงาน หรือเก้าอี้หากจะต้องปรับระดับก็ต้องใช้มือหมุนวุ่นวาย เก้าอี้ที่ปรับได้บ้างไม่ได้บ้าง เก้าอี้ที่ออกแบบที่พักแขนมาแคบ หรือสูงต่ำเกินไป ฯลฯ

แม้ว่าผลิตผลจากการทำงานจะเกิดจากความสามารถของตัวคนทำงานเป็นสำคัญ (อย่าง สตีเฟน คิง ที่ช่วงแรกๆ ของชีวิตปากกัดตีนถีบ ต้องนั่งเขียนนิยายบนโต๊ะฟิกซ์หน้าตาเหมือนเก้าอี้เล็กเชอร์ในมหาวิทยาลัย ก็ยังสร้างผลงานชั้นเลิศออกมาได้) แต่ร่างกายซึ่งมีเพียงหนึ่งเดียวนั้น ป้องกันดีกว่ารักษา

เก้าอี้ที่ออกแบบมาเพื่อสุขภาพนั้น จะเน้นเรื่องกระดูกสันหลังมากเป็นพิเศษ เก้าอี้ประเภทนี้เรามักเห็นว่ามีดีไซน์หลากหลาย เก้าอี้บางแบรนด์มีหน้าตาแปลกประหลาด เช่น เบาะรองนั่ง และเบาะรองหลังแยกเป็น 2 ชิ้น เพื่อการกระจายน้ำหนักของกระดูกสันหลังยันก้นกบให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด ไม่เกิดแรงกดทับจากบนลงล่าง จากข้างล่างกระทับด้านบน เพราะร่างกายเราสัมพันธ์กันหมด

 

  • ยืนทำงานบ้างก็ดีเหมือนกัน

อย่างที่ยกตัวอย่างพนักงานหั่นไก่ในโรงงาน ซึ่งที่จริงแล้วไม่ได้ต้องการเก้าอี้ใหม่ที่นั่งแล้วหายเมื่อย แต่กลับเป็นตั่งเล็กๆ ไว้พักเท้า เพราะการหั่นวัตถุดิบในท่ายืนนั้นเหมาะสมอกว่า เหมือนที่เวลาเราทำกับข้าว หรือล้างจาน จะให้นั่งก็ไม่สะดวก เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำอาหาร แม้กระทั่งท่ายืนที่เหมาะสม (กางขาไม่เกินสะโพก) ระดับของเคาน์เตอร์ที่ใช้งาน องศาที่ข้อศอกขณะหั่น ล้วนมีผลต่อประสิทธิภาพในการหั่นผัก หั่นเนื้อ และกับร่างกายของเชฟด้วย

โต๊ะทำงานแบบปรับระดับให้ยืนได้เมื่อนั่งจนเมื่อยก้นจึงถือกำเนิดขึ้น ปรับระดับตามความสูงที่เหมาะสมกับสรีระของเรา ทำให้การทำงานสบายขึ้น

นอกจากโต๊ะ เก้าอี้ที่เหมาะสมสำหรับการทำงานแล้ว อย่าลืมสังเกตท่านั่งทำงานของตัวเอง บางคนติดนั่งเอียงตัวจนหมอนรองกระดูกปลิ้นก็มี

สุดท้าย อย่าทำงานเพลินจนลืมลุกไปเดินยืดเส้นยืดสายบ้าง บางคนรู้สึกว่าลุกขึ้นทุกชั่วโมงนั้นบ่อยไป เราของอย่างน้อยให้คุณยืดเหยียดบิดตัวบนเก้าอี้บ้าง และควรอย่างยิ่งที่จะไม่นั่งทำงานต่อเนื่องยาวนานเกิน 3 ชั่วโมงเด็ดขาด

ทำงานอยู่บ้านก็ลุกไปลุกมา จะไปเปิดตู้เย็นก็ไม่ว่ากัน ขอให้ได้ขยับก็เท่ากับดีต่อร่างกายแล้ว

อ้างอิง 1

อ้างอิง 2