โรงงานหน้ากากอนามัย 'ซีพี' คืบ 80% เร่งติดตั้งเครื่องจักรผลิตวันละ 1 แสนชิ้น

โรงงานหน้ากากอนามัย 'ซีพี' คืบ 80% เร่งติดตั้งเครื่องจักรผลิตวันละ 1 แสนชิ้น

"ซีพี"เผยโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย 100 ล้านบาท คืบหน้า 80% เตรียมติดตั้งเครื่องจักรกำลังการผลิตผลิต 1 แสนชิ้น/วัน

รายงานข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ระบุความคืบหน้าสัปดาห์ที่ 4 ซีพีนำเข้าเครื่องจักรถึงสุวรรณภูมิแล้ว หลังจากนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์และเพื่อคนไทย

หลังจากผ่านมา 3 สัปดาห์ โรงงานหน้ากาก มีความพร้อมแล้วกว่า 80% ซึ่งขณะนี้เข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 เป็นการเกาะติดการนำเข้าเครื่องจักร เพื่อผลิตหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์และคนไทยที่ขาดแคลนหน้ากาก ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ จากสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อค่ำวานนี้ (5 เม.ย.2563)

การนำเข้าเครื่องจักรของกลุ่มซีพี เป็นเครื่องจักรแบบอัตโนมัติ โดยสามารถผลิตหน้ากากได้เครื่องละ 50,000 ชิ้น ต่อวัน โดยซีพีได้นำเข้าเครื่องจักรเครื่องแรกมาถึงประเทศไทยแล้ว โดยสายการบิน YG 9021 ขนส่งสินค้ามาจากสนามบินประเทศจีน และเครื่องจักรเครื่องที่ 2 คาดว่าจะพร้อมในการนำเข้าจากประเทศจีนในวันที่ 9 เม.ย.นี้

โดยต้องตรวจสอบเที่ยวบินอีกครั้ง เพราะมีความเข้มงวด และมีมาตรการที่ต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลาในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 โดยกำลังการผลิตของโรงงานซีพีหน้ากากอนามัยฟรี หลังติดตั้งเครื่องจักรทั้ง 2 เครื่องแล้วเสร็จ จะอยู่ที่ 1 แสนชิ้นต่อวัน หรือ 3 ล้านชิ้นต่อเดือน

158614603037

ทั้งนี้ ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซีพีได้เร่งสร้างโรงงาน พร้อมห้องปลอดเชื้อที่คืบหน้ากว่า 80% แล้ว ในวันนี้เครื่องจักรอัตโนมัติสำหรับผลิตหน้ากากได้ถูกนำออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ และเดินทางไปยังโรงงาน เพื่อประกอบและทดสอบในขั้นตอนถัดไป โดยจะใช้กระบวนการเทเลคอนเฟอเรนซ์เพื่อติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศในการติดตั้งและปรับแต่งเครื่องจักรต่อไป

เนื่องจากในช่วงเวลานี้แต่ละประเทศได้เพิ่มความเข้มงวดของมาตรการเข้าออกประเทศ ทำให้กระบวนการนำเข้า มีความซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้ซีพีต้องปรับแผนเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา โดยขนส่งเครื่องจักร จากเมืองสู่เมือง จากรถบรรทุก สู่เครื่องบิน ผ่านหลายเมือง ในที่สุดความพยายามก็ทำได้สำเร็จ จนสามารถนำเครื่องจักรเข้ามาได้ในวันนี้

ก่อนหน้านี้นายธนินท์ ระบุว่า จะใช้เงินลงทุนตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย 100 ล้านบาท เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน โดยเมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ โรงงานนี้จะดำเนินการโดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะมอบให้กับศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาฯ