‘หมอ’ และ ‘พยาบาล’ รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขทำงานหนักแค่ไหนเพื่อสู้ โควิด-19

‘หมอ’ และ ‘พยาบาล’ รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขทำงานหนักแค่ไหนเพื่อสู้ โควิด-19

เข้าใจภาระงานของ “หมอ” “พยาบาล” และ”บุคลากรทางสาธารณสุข” ในช่วง “โควิด-19” ที่กำลังช่วยกันรับมือกับสถานการณ์ระบาดเพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องสูญเสียไปมากกว่านี้

ในสถานการณ์โควิด-19 ฝ่ายที่รับหน้าเสื่อหนักที่สุดในช่วงวิกฤติการระบาดนั้น ก็คือ หมอ พยาบาล และบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ที่ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจรักษา เฝ้าระวัง ตลอดจนควบคุมการระบาดของโรคให้ส่งผลกระทบกับคนไทยให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อย่างหลายๆ ครั้งที่มีการโพสต์ภาพการทำงานของหมอ และพยาบาล ในการรับมือ และแก้ไขสถานการณ์ของการระบาดด้วยน้ำเสียงชื่นชม หรือล่าสุด ที่มีการโพสต์ถึงเรื่องของพยาบาลรายหนึ่งใน จ.เชียงรายที่ทำงานหนักจนเสียชีวิตนั้น ก็เป็นอีกครั้งที่นำไปสู่คำถามถึง ภาระงานของ หมอ พยาบาล รวมทั้งบุคลากรทางสาธารณสุขส่วนอื่นๆ ต้องรับภาระงานกันมากน้อยแค่ไหน

เราต่างรู้กันดีว่า ตลอดมา แพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุขของไทยนั้นเป็นอีกสาขาอาชีพที่ต้องรับภาระงานหนักเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยจากการสำรวจการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ของกรมการแพทย์ เมื่อต้นปี 2562 พบว่า กว่าร้อยละ 60 มีการทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เกินกว่าเวลาที่แพทยสภาเคยประกาศไว้ว่าไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดังนั้น การทำงานถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จึงเป็นการทำงานเกินเวลาที่แพทยสภาประกาศถึง 2 เท่า และยังพบว่าอีกว่ากว่าร้อยละ 30 แพทย์ทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเกินกว่า 3 เท่า ที่สำคัญยังพบว่าแพทย์ร้อยละ 15 ต้องอยู่เวรทั้งสัปดาห์ และแพทย์กว่าร้อยละ 90 มีประสบการณ์ต้องทำงานและขึ้นเวรทั้งๆ ที่ตนเองป่วย เพราะหาคนทำแทนไม่ได้ และโดนบังคับให้ทำ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการระบุในข้อมูลชุดดังกล่าวอีกว่า แพทย์กว่า 50% ต้องรับผิดชอบคนไข้นอก มากกว่า 100 รายต่อวัน ซึ่งจริงๆ มาตรฐานการตรวจผู้ป่วยรายใหม่ คนหนึ่งควรใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10-15 นาที รายเก่า 5 นาที อีกทั้งแพทย์มากกว่า 55% ต้องรับผิดชอบคนไข้ห้องฉุกเฉินเกือบ 70 รายต่อวัน

นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายทางการแพทย์ กรมการแพทย์ ผู้ทำสำรวจชุดข้อมูลดังกล่าวเคยเผยถึงข้อมูลบนเฟซบุ๊กส่วนตัว Methee Wong ถึงการทำงานของพยาบาลว่าไม่ว่าจะเป็นพยาบาลใหม่ หรือพยาบาลที่มีประสบการณ์ ภาระงานที่หนักเท่าๆ กัน โดยพยาบาลส่วนใหญ่นั้นก็ยังต้องทำงานนอกเวลาเกินกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไม่ต่างจากแพทย์ และกว่า 50% ของพยาบาลต้องทำงานติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง ขณะที่แพทย์นั้นมีกว่าร้อยละ 90 ที่ต้องทำงานข้ามวัน

โดยแบบสำรวจการทำงานของหมอและพยาบาลยังลงรายละเอียดถึงภาระงานขอชพยาบาลไทยเอาไว้ด้วยว่า โดยเฉลี่ย ส่วนใหญ่ต้องรับผิดชอบคนไข้ไม่ต่ำกว่าวันละ 50 ราย ในขณะที่มาตรฐานพยาบาล (RN)ward สามัญต่อคนไข้ควรอยู่ที่ 1:4-1:5 ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ดังนั้นในความเป็นจริง คนไข้ 50 คนควรมีพยาบาลดูแลอย่างน้อย 10-12 คน

ความเห็นบางส่วนในการสำรวจข้อมูลชุดนั้น ก็ตอบเอาไว้อย่างชัดเจนถึงการถูกมองข้ามของวิชาชีพพยาบาล การได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะในระดับบริหารที่ไม่เคยเอาใจใส่เท่าที่ควร ซึ่งบุคลากรทางสาธารณสุขส่วนอื่นๆ ก็ได้รับเสียงสะท้อนเป็นไปในทำนองนี้ไม่ต่างกัน

ขณะที่หากลองเปรียบเทียบจากเรื่องเล่าในโซเชียล เกี่ยวกับภาระงานของพยาบาลก็มักออกมาทำนองนี้เสมอ ไม่ว่าจะเป็น

“ พยาบาลงานหนักมาก เวลาที่ลาพักก็ไม่มีต้องขึ้นเวรตลอดไม่ใช่อยากได้เงินค่าเวรมาก แต่พราะ ภาระงานและคนไม่เพียงพอต้องขึ้นทำงาน เมื่อเวลา พ่อแม่ตัวเองป่วย บางคนไม่สามารถลาไปดูแลได้ด้วยซ้ำ ต้องให้ลูกคนอื่นดูแลแทนครับ”

“ ใน 1 ปี ประเทศไทยผลิตพยาบาลได้เยอะมากทั่วประเทศ ทั้งสถาบันของรัฐบาลและเอกชนเอง หากพยาบาลเหล่านั้นทำงานให้กับโรงพยาบาลรัฐบาลทั้งหมดยังไงก็เพียงพอครับ แต่ที่บอกว่าขาดแคลนเพราะ พยาบาลทนในสภาพงานที่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐบาลที่งานหนัก เสี่ยงภัยรอบด้าน สวัสดิการต่างแย่มากๆ และค่าตอบแทนไม่คุ้มค่ากัน ฉะนั้นโดยส่วนใหญ่ก็จะไปทำงานโรงพยาบาลเอกชน หรือเปลี่ยนสายงานไปเลย”

“ พยาบาลที่ทำงานมานานเฉพาะด้าน ความชำนาญจะมีมากกว่าหมอ จึงไม่น่าแปลกใจเวลาที่คนไข้ในตึกเกิดปัญหา อาจารย์หมอเฉพาะทางนอกจากจะคุยกับแพทย์เวรมักจะขอคุย confirm อาการคนไข้กับพยาบาลอีกที ”

นั่นคือสิ่งที่ หมอ พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุขต้องรับมือในห้วงเวลาปกติ แล้วถ้าหากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างวิกฤติ โควิด-19 ล่ะ พวกเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง

รายงานจาก บีบีซีไทย : ภารกิจสู้โควิด-19 ของหมอรุ่นใหม่ที่ รพ.ชุมชนในฉะเชิงเทรา โดย ธันยพร บัวทอง ระบุว่า จ.ฉะเชิงเทรามีผู้ติดเชื้อจากกลุ่มสนามมวยเป็นกรณีแรก ๆ ถัดจากกรณีนักแสดง แมทธิว ดีน ซึ่งเป็นพิธีกรในการแข่งขันชกมวยที่สนามลุมพินีเมื่อต้นเดือนมีนาคม

วันที่ 16 มี.ค. ทางโรงพยาบาลรู้แน่ชัดแล้วว่าคนไข้กลุ่มเสี่ยงจากกรณีสนามมวยอยู่ในพื้นที่ สาธารณสุขจังหวัดมีนโยบายให้โรงพยาบาลชุมชนรับผู้ป่วยต้องสงสัยเข้าไว้ในการดูแล รวมทั้งผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง

นั่นเป็นเวลาเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง ที่โรงพยาบาลเล็ก ๆ แห่งนี้ ต้องเตรียมตัวให้พร้อม
โรงพยาบาลตัดสินใจย้ายผู้ป่วยในหอผู้ป่วยชายไปขึ้นไว้ที่ตึกใหม่ และแปลงวอร์ดนั้นเป็นหอผู้ป่วยแยกโรคที่รักษาเฉพาะโควิด-19 ทันทีในคืนนั้น
"ตรงไหนเป็นโซนสะอาด ตรงไหนเป็นโซนสกปรก ต้องนั่งวาดผังในวอร์ดนั้นใหม่ ตรงนั้นเป็นโซนสีเขียวนะ จะต้องใส่ชุดหรือแมสก์แบบไหน แค่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์พอไหม โซนเหลืองจะต้องมี N95 โซนแดงที่ต้องมีการสัมผัสกับคนไข้จะต้องใส่ชุด PPE อะไรแบบนี้ อันนี้ทำกันในคืนนั้น จำได้ว่าคืนนั้นอยู่กันถึง ตี 1-2"

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น จนถึงตอนนี้ นอกจากกำลังใจที่จะส่งให้กลุ่มคน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียสละทำงานในความเสี่ยงของการระบาด โควิด-19 อีกทางหนึ่งที่เราจะช่วยแบ่งเบาภาระของพวกเขาได้ดีก็คือ ความรับผิดชอบต่อตัวเอง และสังคม ด้วยการปฏิบัติตามระเบียบที่ออกมาอย่างเคร่งครัด

เพื่อให้ประเทศไทยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายนี้ไปด้วยกัน