‘โควิด-19’ ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำสหรัฐ

‘โควิด-19’ ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำสหรัฐ

การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ทำให้ชาวอเมริกันตกงานและต้องเข้าสู่ภาวะความยากจนทันทีหลายล้านคน วิกฤตินี้ตีแผ่และเร่งให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกรุนแรงขึ้น

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ครัวเรือนชนชั้นกลางและผู้มีรายได้น้อยของสหรัฐได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกและหนักที่สุด หนทางออมเงินมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เอ็ดเวิร์ด อัลเดน ผู้เชี่ยวชาญจากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า วิกฤตินี้เป็นมรสุมใหญ่มากต่อชาวอเมริกันหลายล้านคน ที่เกือบจะฟื้นตัวจากวิกฤติการเงินเมื่อปี 2551 ค่าจ้างแท้จริงต้องใช้เวลาฟื้นตัว 8 ปีหลังวิกฤติ แรงงานรายได้น้อยเพิ่งได้ค่าจ้างเพิ่มในช่วง 2 ปีหลังเท่านั้น

ค่าจ้างปี 2562 เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 20 ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากบางรัฐเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ

“วิกฤตินี้ทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้นมหาศาล การจ้างงานที่เคยเพิ่มขึ้นหายหมด” อัลเดนกล่าว

การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นตลอด 10 ปีถึงคราวหยุดลงกะทันหันในเดือน มี.ค. คนตกงาน 701,000 คน อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดใน 45 ปี สู่ระดับ 4.4%

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะลงเลือกตั้งสมัยที่ 2 ในเดือน พ.ย. คุยเสมอมาว่า การว่างงานในหมู่คนผิวสีและละตินต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่อัตราการว่างงานของคนทั้งสองกลุ่มกับพุ่งขึ้นในเดือนที่ผ่านมา

แม้ช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต แต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยอเมริกัน ที่สั่งสมกำไรจากตลาดหุ้น กับคนชั้นล่างอีก 90% ยังมีอยู่

เกรกอรี ดาโก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิก เผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผลักให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยและยิ่งเร่งความเหลื่อมล้ำให้มากออกไปอีก

ช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มี.ค.แรงงานอเมริกันยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงานเกือบ 10 ล้านคน ผู้ที่ตกงานทันทีส่วนใหญ่ทำงานบริการค่าจ้างต่ำ ในสหรัฐมีตาข่ายรองรับทางสังคมเพียงไม่กี่ด้าน และอัตราการออมต่ำสุดๆ ที่ราว 8%

มิเกล โรดริเกซ วัย 55 ปี บริกรร้านอาหารแห่งหนึ่งรัฐแมริแลนด์ ที่ทำงานนี้มา 20 ปีแล้ว เผยว่า เสียใจมากที่ต้องพึ่งพาสวัสดิการว่างงานเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ย้ายจากเอลซัลวาดอร์มาอยู่สหรัฐเมื่อปี 2526 เขากังวลเรื่องค่าตอบแทน ไม่รวมทิปที่เป็นรายได้ส่วนใหญ่ ว่าอาจไม่พอเลี้ยงดูลูก 3 คน

แต่โรดริเกซไม่ได้ประสบชะตากรรมนี้คนเดียว ผลสำรวจของออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกพบว่า ชาวอเมริกันครึ่งหนึ่งไม่มีเงินออมฉุกเฉินรับมือกับปัญหาการเงินที่จู่โจมกะทันหัน ยิ่งครัวเรือนรายได้ต่ำสุดสถานการณ์ยิ่งสาหัส 3 ใน 4 ไม่มีเบาะรองรับปัญหาการเงิน เป็นกลุ่มที่มีน้อยที่สุดและต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ยิ่งไวรัสโคโรนายังระบาดต่อเนื่อง จึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่าต้องชัตดาวน์เศรษฐกิจไปอีกนานแค่ไหน

แบรดลีย์ ฮาร์ดี อาจารย์มหาวิทยาลัยอเมริกัน เตือนว่า ผลกระทบต่อการจ้างงานและค่าจ้างอาจมีอยู่ไปจนถึงต้นปี 2564 เป็นอย่างน้อย

“เนื่องจากอัตราการออมต่ำและหนี้ค้างชำระในระดับสูง ครัวเรือนอเมริกันจำนวนมากจึงไม่มีเบาะรองรับให้ก้าวผ่านอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่กำลังมาถึงได้”

ขณะที่อัลเดนมองว่า สิ่งที่วิกฤติไวรัสโคโรน่าระบาดเหมือนกับวิกฤติการเงินโลกปี 2551 คือเน้นย้ำถึงความเสี่ยงมหาศาลของชาวอเมริกันจำนวนมาก ประชาชนรายได้น้อยไม่ได้เตรียมตัวเกษียณ ส่วนคนวัย 70-80 ปีก็ต้องทำงานต่อไป