เศรษฐกิจ 'ไม่สะดุด' ต้องหยุดการแพร่เชื้อ

เศรษฐกิจ 'ไม่สะดุด' ต้องหยุดการแพร่เชื้อ

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกต่างต้องชะงักเพราะโควิด-19 กันถ้วนหน้า หลายประเทศต่างอัดเม็ดเงินในมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ เช่นเดียวกับไทย แต่อย่าลืมว่าขณะนี้ไม่มีมาตรการใดดีไปกว่าด้านสาธารณสุข เพราะหากหยุดยั้งไวรัสได้ เศรษฐกิจก็จะหยุดการชะลอตัวด้วยเช่นกัน

สถานการณ์ “เศรษฐกิจโลก” เวลานี้ ไม่ต่างจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ที่ยังคง “หนักขึ้น” เรื่อยๆ โดยทั่วโลกเวลานี้ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ทรุดหนักลงเรื่อยๆ เรื่องนี้ทั้งธนาคารโลก หรือ “เวิลด์แบงก์” และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ “ไอเอ็มเอฟ” ต่างมีความเห็นไปทางเดียวกันว่า “โควิด-19” กำลังทำเศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญ “ภาวะถดถอย” ครั้งใหญ่

โดย “เวิลด์แบงก์” ประเมินว่า ประเทศที่ยากจนและอ่อนแอกำลังเผชิญภาวะยากลำบากที่สุด ในขณะที่ “ไอเอ็มเอฟ” บอกว่า ไม่เคยเจอภาวะที่เศรษฐกิจจากทั่วโลกต้อง “หยุดชะงัก” พร้อมกันแบบนี้มาก่อน ซึ่งเวลานี้โควิด-19 กำลังลุกลามไปในหลายประเทศ และเขตเศรษฐกิจรวมกว่า 204 แห่งทั่วโลก ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อมีเกินกว่า 1 ล้านราย และยังมีผู้เสียชีวิตเกือบ 5.5 หมื่นราย ส่งผลต่อเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลงอย่างหนัก ทำให้เกือบทุกประเทศต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทั้งผ่านมาตรการทางการเงินและมาตรการทางการคลัง ในวงเงินมหึมา ซึ่งในหมู่ “นักเศรษฐศาสตร์” เรียกกันว่าเป็น “บาซูก้า” ที่นำมาต่อสู้กับ “วิกฤติโควิด” ที่กระทบเศรษฐกิจ

เริ่มจาก “พี่ใหญ่” สุดของโลก “สหรัฐ” แม้ปัจจุบันจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุ 100% มาอยู่ที่ 107% แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ห่วงปากท้องของประชาชนมากกว่าหนี้ภาครัฐ จึงออกมาตรการชุดใหญ่แบบไม่เกรงใจใคร โดยการแจกเงินเพื่อชดเชยรายได้ รวมทั้งการเพิ่มเงินประกันการว่างงาน และการผ่อนผันการชำระหนี้สินเพื่อการศึกษา ซึ่งตั้งวงเงินส่วนนี้ไว้ถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 10% ของจีดีพี ยังไม่นับรวมกับสิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ “เฟด” เตรียมดำเนินการ คือ การอัดฉีด “คิวอี” แบบไม่อั้นเพื่อดูแลเศรษฐกิจและภาคธุรกิจไม่ให้สะดุดจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้

ขยับมาใกล้ไทยนิด คือ ญี่ปุ่น หนี้สาธารณะต่อจีดีพีปัจจุบันสูงถึง 255% แต่ญี่ปุ่นยังคงอัดฉีดเงินก้อนโตกว่า 62.5 ล้านล้านเยน หรือราว 11% ของจีดีพี ผ่านการแจกเงินครัวเรือนละ 2 แสนเยน หรือราว 6 หมื่นบาท เพื่อชดเชยในช่วงที่ขาดรายได้ รวมทั้งยังมีมาตรการอุดหนุนค่าจ้าง และมาตรการลดหรือยกเว้นภาษี ในขณะที่ “มาเลเซีย” เพื่อนบ้านของไทย หนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ราวๆ 52% ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้มาเลเซียกังวล เพราะยังคงอัดฉีดเงินสูงถึง 2.5 แสนล้านริงกิต หรือราวๆ 17% ของจีดีพี ผ่านการ “แจกเงิน” เพื่อชดเชยรายได้ อุดหนุนค่าจ้าง รวมไปถึงการลดค่าไฟฟ้า และการผ่อนผันการชำระหนี้

สำหรับ “ไทย” ปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 42% ล่าสุด “รัฐบาล” บอกว่าเตรียมวงเงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจในระยะ 6 เดือนข้างหน้าไว้ราวๆ 10% ของจีดีพี หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท แน่นอนว่าด้วยศักยภาพทางการคลังของไทย “มีเพียงพอ” ที่จะดำเนินการในระดับนี้ แต่การใช้เม็ดเงินที่มากมายมหาศาลเช่นนี้ เราควรทำอย่างระมัดระวังและต้องใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด โดยส่งตรงถึงมือผู้เดือดร้อนตัวจริง ที่สำคัญการดูแลเศรษฐกิจในภาวการณ์แบบนี้ ไม่มีมาตรการใดดีไปกว่ามาตรการด้าน “สาธารณสุข” เพราะหากเราหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้ได้ เศรษฐกิจก็จะหยุดการชะลอตัวด้วยเช่นกัน ดังนั้นรัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น ขณะที่ทุกคนในประเทศก็ต้องให้ความร่วมมืออย่างจริงจังในการหยุดยั้งการแพร่เชื้อ เพื่อหยุดการทรุดตัวของเศรษฐกิจ หากทุกคนร่วมมือกัน “ชีวิตในแบบปกติ” ก็จะกลับมาโดยเร็ว