'พาไท' พลิกวิกฤติสู่การพัฒนา ‘เสื้อคลุมกันติดเชื้อ’

'พาไท' พลิกวิกฤติสู่การพัฒนา ‘เสื้อคลุมกันติดเชื้อ’

กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม “พาไท” ระดมสมองเร่งผลิตเสื้อคลุมกันติดเชื้อโควิด-19 (Isolation Gown) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมตั้งเป้าระดมทุนผลิตกว่า 5,500 ตัวก่อนสงกรานต์ที่จะถึงนี้ เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด

เมื่อหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม “พาไท” ได้รับสัญญาณ S.O.S. จากเพื่อนที่เป็นนายแพทย์ว่า เสื้อคลุมกันติดเชื้อ (Isolation Gown) ของบุคลากรทางการแพทย์กำลังขาดแคลน ส่งผลให้ทีมงานรีบระดมสมองหาแนวทางแก้ไข พร้อมกับเพื่อนๆ ศิษย์เก่าจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) 

ทีมงานไม่ได้มองเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น แต่ได้ทำการค้นคว้าหาข้อมูล พร้อมวิเคราะห์แนวโน้มการระบาดของโรค ด้วยเหตุนี้ การหาเสื้อคลุมกันติดเชื้อที่เย็บเสร็จพร้อมส่งทีมแพทย์ จึงไม่ใช่ทางออกเพียงอย่างเดียว แต่ทีมงานจะต้องหาวิธีผลิตเพื่อส่งมอบให้กับทีมแพทย์ได้อย่างต่อเนื่อง

นี่คือที่มาของโครงการ ISO-Gown Crowdsourcing ที่ได้รับคำปรึกษาด้านการตัดเย็บจากผู้เชี่ยวชาญในโรงงาน VK Jeans และ PINN Shop ในการพัฒนาแพทเทิร์นเสื้อคลุมกันติดเชื้อ โดยปรับแบบจากเสื้อคลุมกันติดเชื้อที่ทีมแพทย์มอบให้เป็นตัวอย่าง ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่ขั้นตอนการตัดเย็บเท่านั้น แต่คือการหาวัสดุทดแทนผ้า PP Laminated Non-Woven 35 GSM ที่หาได้ยาก มีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ต่างประเทศ

158608937694

จากการค้นหาวัสดุที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงและผลิตได้ในประเทศ ผลลัพธ์ที่ได้คือ เนื้อผ้า PP Laminated Non-Woven 40-50 GSM มีคุณสมบัติกันน้ำได้ดี เหมาะกับการตัดเย็บเสื้อคลุมกันติดเชื้อ โดยให้ทีมแพทย์นำวัสดุไปทดสอบทุกครั้งก่อนตัดเย็บ (สิ่งที่ต้องระวังคือ แม้ว่าเนื้อผ้าจะมีชื่อเรียกเดียวกัน ขนาดความหนาเท่ากัน แต่มาตรฐานของแต่ละโรงงานไม่เหมือนกัน) เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ชิ้นงานสามารถใช้ทดแทนเสื้อคลุมกันติดเชื้อที่ผลิตจากวัสดุต่างประเทศได้

158616626138

เมื่อได้แหล่งวัตถุดิบแล้ว ทีมงานจึงนำไปผลิตเสื้อคลุมกันติดเชื้อทันที และได้ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี 200 ตัวเมื่อ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากเริ่มทำงานได้เพียง 1 อาทิตย์ และอีก 300 ตัวใน 3 วันถัดมา พร้อมตั้งเป้าระดมทุนการผลิตเพื่อให้ได้ 5,500 ตัวก่อนสงกรานต์ที่จะถึงนี้ โดยมุ่งหวังที่จะส่งมอบให้กับโรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดโดยตรง เพื่อความรวดเร็วและลดขั้นตอนการส่งมอบที่ซ้ำซ้อน

ส่วนเป้าหมายระยะยาว ทีมงานส่งเสริมให้เกิดการทำซ้ำในรูปแบบของโครงการในลักษณะเดียวกันเพื่อป้อนให้บุคลากรทางการแพทย์อย่างพอเพียง ในระดับที่สามารถรองรับการแพร่ระบาดที่อาจรุนแรงในอนาคต โดยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน และบุคคลหลายฝ่าย

ในเบื้องต้นทีมงานได้จัดทำแพทเทิร์นการตัดเย็บให้อยู่ในรูปแบบไฟล์ที่หลากหลาย สกุล เช่น jpg, ai, dwg เพื่อให้ผู้สนใจและจิตอาสาดาวน์โหลดไปใช้งานได้ทันที ในส่วนขั้นตอนการผลิตก็ได้แยกสายการผลิตเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. โรงงานตัดเย็บขนาดใหญ่ ที่พร้อมผลิต และจัดส่งชิ้นงานให้กับโรงพยาบาล เป็นการช่วยเหลือด้านค่าจ้างแรงงานให้กับพนักงานในช่วงพักกิจการ 2. โรงงานเย็บผ้าขนาดเล็ก จะมีทุนสนับสนุนค่าจัดส่งผ้า และรับเสื้อคลุมจากทีมเย็บเพื่อจัดส่งไปยังโรงพยาบาล

3. ทีมงานอาสาสมัครจากกลุ่ม PINN Shop ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เป็นกลุ่มที่ต้องการช่วยเหลือสังคมโดยใช้ความสามารถด้านการตัดเย็บ สำหรับกลุ่มนี้ทีมงานจะช่วยรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่ายอุปกรณ์เสริม เช่น แถบตีนตุ๊กแก ยางยืดที่ปลอกแขน เป็นต้น

ทีมงานกลุ่ม “พาไท” อยากให้รูปแบบของโครงการนี้ไม่ได้หยุดอยู่ที่กลุ่มคนที่กล่าวถึงเท่านั้น แต่อยากให้ทุกท่านได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น การระดมทุน การใช้ทักษะฝีมือด้านการตัดเย็บ การหาแหล่งวัตถุดิบหรือแม้กระทั่งการขนส่ง เพื่อสร้างกองกำลังที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นในทุกจังหวัด

158616621571

หวังว่ารูปแบบการทำงานของโครงการนี้ จะเป็นตัวจุดประกายต่อยอดให้เกิดโครงการใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า นักออกแบบและเพื่อนๆ ในทุกสาขาอาชีพ สามารถมีส่วนร่วมช่วยเหลือผู้คนในยามวิกฤติได้จากความเชี่ยวชาญของตนเอง

ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊คกลุ่มพาไท วิสาหกิจเพื่อสังคม www.facebook.com/pathaise/