9 ปัจจัยเสี่ยงต้องเฝ้าระวังโควิด-19 สธ.ย้ำสอบสวนโรคทุกราย

9 ปัจจัยเสี่ยงต้องเฝ้าระวังโควิด-19 สธ.ย้ำสอบสวนโรคทุกราย

"สธ." เผย 9 ปัจจัยเสี่ยงต้องเฝ้าระวังโควิด-19 ย้ำสอบสวนโรคทุกราย ควบคู่มาตรการทางสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยเหลือน้อยที่สุดหรือเหลือศูนย์ เผยผู้ผลิตยาญี่ปุ่นบริจาคยาฟรีประเทศที่ร่วมศึกษาวิจัย ไม่ใช่เพื่อรักษาประชาชน

เมื่อวันที่ 5 เม..63 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้โรคนี้อาการจะไม่รุนแรง 80% สามารถหายได้ แต่โรคนี้มีการระบาดได้เร็ว มีการแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้มากกว่า 2 คน ซึ่งถ้าไม่ระวัง และไม่ควบคุมก็จะทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมาก ถึงสัดส่วนผู้ป่วยอัตรารุนแรงค่อนข้างต่ำ แต่ก็ทำให้มีผู้ป่วยอาการรุนแรงมากตามไปด้วยและหากเกินศักยภาพของระบบการแพทย์ที่จะรับมือได้ ก็จะมีความยากลำบากในการรับมือเรื่องนี้ได้ ดังนั้น จำเป็นต้องมีการชะลอการแพร่ระบาดของโรค และเพิ่มศักยภาพในการดูแลคนไข้ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะถ้าการแพร่ระบาดไปอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งในไทยสถานการณ์ค่อนข้างดี ทำอย่างไรก็ต้องทำ เพื่อให้จำนวนผู้ป่วยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในจำนวนที่สามารถดูแลประคับประคองสถานการณ์ไปได้

3 เป้าหมายจัดการแก้ปัญหา

นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวต่อว่าสำหรับแนวคิดการจัดการเรื่องดังกล่าว ระดับรัฐบาล ตอนนี้ได้มีการผนึกกำลังทุกกระทรวง บูรณาการทำงานร่วมกัน และในระดับประเทศ ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ และเอกชนเข้าไปช่วยจัดการปัญหา โดยมีเป้าหมายในการแก้ปัญหา 3 ด้าน คือ 1.ป้องกันและการสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย และยับยั้งการระบาดภายในประเทศ และ 3.ลดผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และเพิ่มความมั่นคงของประเทศไทย ได้กำหนดมาตรการลดความเสี่ยงสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากไทยในกลุ่มประเทศพื้นที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ต้องมีใบรับรองแพทย์ และหนังสือรับรอง มีประกันสุขภาพอย่างน้อย 100,000 USD การงดไม่ให้มีการเดินทางระหว่างประเทศเป็นการชั่วคราว และการรับไว้สังเกตอาการในสถานที่รัฐจัดไว้ให้(Quarantine) รวมถึงงดการให้เข้าประเทศเป็นการชั่วคราว

ส่วนการยับยั้งการแพร่เชื้อ มีมาตรการทางสาธารณสุข ค้นหาผู้ป่วยให้ได้โดยเร็ว แยกผู้ป่วย ดูแลผู้ป่วย ค้นหาผู้สัมผัสให้ได้อย่างครบถ้วน แยกผู้สัมผัส ติดตามผู้สัมผัสไป 14 วัน ให้ความรู้ประชาชน และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลเคร่งครัด เป็นการตัดวงจรการติดเชื้อต่างๆ ส่วนการเพิ่มระยะห่างทางสังคม และมาตรการการรักษา จะจัดตั้งคลินิกโรคทางเดินหายใจ กำหนดบทบาทหน้าที่ของสถานพยาบาลแต่ละแห่ง บูรณาการผู้เชี่ยวชาญและระดมกำลังบุคลากร สำรองยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ

ย้ำปชช.ปฎิบัติตามมาตรการสธ.-สังคม

“อยากให้ประชาชนรับฟังข่าวสาร บอกวิธีการจัดการความเสี่ยง และรับรู้เอามาประยุกต์ใช้อย่างมีสติ อย่าวิตกกังวลเกินไป หลีีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่น คนที่มีอาการไอจาม ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องใส่หน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนกลางช้อนตัวเอง ล้างมือ และหากป่วยและมีประวัติเสี่ยง รีบไปพบแพทย์ และป้องกันการแพร่เชื้อโดยปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้ง สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอด ล้างมือบ่อยๆ คิดว่าเราป่วยแต่เราจะไม่เป็นผู้แพร่โรค ส่วนการวัดไข้ในกลุ่มผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ตรวจไม่พบไข้จะมีเพียง 10% ส่วนเด็กนั้นจะไม่ตรวจพบสูงกว่า ดังนั้น ต้องใช้ร่วมกับมาตรการอื่นๆ อาทิ การสนับสนุนให้ทุกคนใช้หน้ากากผ้า สนับสนุนทุกคนให้ล้างมือบ่อยๆ การให้ผู้มีอาการไข้หรือไอพักอยู่กับบ้าน” นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว

สำหรับกรณีวัคซีน ขณะนี้มีหลายบริษัทกำลังศึกษา คาดว่าจะมีวัคซีนใช้เร็วๆ นี้ หรือประมาณ 6 เดือน แต่ถ้าวัคซีนใช้ไม่ได้อาจจะรอนานกว่านั้น ส่วนการล้างมือด้วยวิธีที่ดีที่สุด คือ การล้างด้วยต้องล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ดีที่สุด เจลแอลกอฮอล์เป็นของทดแทนหากไม่ได้อยู่ใกล้ห้องน้ำ

“ตอนนี้มาตรการสธ.ยังมีการสอบสวนโรคทุกราย ซึ่งมีการดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการทางสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยเหลือน้อยที่สุด หรือเหลือ ศูนย์ สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่พอใจ ส่วนจะพ้นวิกฤตเร็วๆ อยากให้ทุกคนร่วมมือกัน ไม่ว่าคนที่ไทยที่อยู่ในประเทศ หรือคนที่อยู่ต่างประเทศ หรือคนที่คิดจะกลับมาในประเทศไทย”นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว

“ยาฟาวิพิราเวียร์” รักษาโควิด-19

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าการรักษาโควิด -19 ในประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาไปตามผลการศึกษาวิจัยจากทั่วโลก ซึ่งในรอบเดือนที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนแนวทางไป 2 ครั้ง และในวันที่ 6 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อหารือว่าแนวทางและกระบวนการในรักษาของประเทศจะมีการปรับอย่างไร

ทั้งนี้โดยหลักการแล้ว อาการของผู้ป่วยโควิด-19 พบว่า 65% จะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัด ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ 20% ไม่แสดงอาการ 12% ปอดอักเสบไม่รุนแรง และ 3% ปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญสรุปแนวทางการดูแลรักษาโรคนั้น พบว่า กลุ่มที่ไม่มีอาการ 20% จะให้สังเกตอาการในโรงพยาบาล 7 วัน และหากเอกซเรย์ปอดปกติ จะให้ย้ายคนไข้จากโรงพยาบาลไปนอนที่สถานที่ราชการจัดให้ หรือหอผู้ป่วยเฉพาะโควิด-19 ซึ่งในกทม.มี 3 แห่ง อีก 7 วัน เพื่อเป็นการประหยัดเตียงในโรงพยาบาล

ส่วนกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง 65% นั้น จะรักษาตามอาการหรือพิจารณาให้ยาต้านไวรัส ที่ไม่ใช่ ยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) และถ้ามีอาการดีขึ้นก็จะย้ายไปหอผู้ป่วยเฉพาะโควิด -19 โดย 2 กลุ่มดังกล่าวจะอยู่กับโรงพยาบาล 14 วัน

ส่วนกลุ่มที่มีปอดอักเสบไม่รุนแรง 12% จะให้ยารักษาไวรัสในโรงพยาบาล 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการปอดอักเสบรุนแรงขึ้นก็จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) และกลุ่มปอดอักเสบรุนแรง จะให้ยาต้านไวรัส ยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) และให้อยู่ในห้อง ICU ซึ่ง 2 กลุ่มนี้จะอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน และจะไม่มีการย้ายคนไข้ไปหอผู้ป่วยเฉพาะโควิด-19 จะให้อยู่ในโรงพยาบาลจนหายดีและกลับบ้าน

9 ปัจจัยเสี่ยงเกิดปอดอักเสบสู่โควิด-19

นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อว่าสำหรับปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการปอดอักเสบนั้น ได้แก่ 1.อายุมากกว่า 60 ปี 2.ภาวะอ้วน 3.ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 4.โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือถุงลมโป่งพอง 5.โรคไตวายเรื้อรัง 6. ตับแข็ง 7.โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ 8.โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และ 9.โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออัมพาต ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ แพทย์จะเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีอาการแย่ลงหรือเป็นจุดที่ต้องเฝ้าระวังต่อไป

นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของข่าวที่ญี่ปุ่นจะบริจาคยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) นั้น เป็นความต้องการของผู้ผลิตยาที่อยากศึกษาวิจัยแบบทั่วโลก ประมาณ 30-40 ประเทศ และจะให้ยาฟรีเฉพาะประเทศที่เข้าร่วมรับการศึกษาวิจัย เพื่อเป็นการศึกษาวิจัย ไม่ใช่เพื่อการรักษาประชาชน ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาจริง และผู้เชี่ยวชาญไทยก็ได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการรักษา แต่อย่างไรก็ตาม การให้ฟรีนั้น เป็นไปเพื่อการศึกษาวิจัยให้ผลชัดเจนผ่านการเปรียบเทียบว่าให้ยากับไม่ให้ยาจะมีผลออกมาเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาวิจัยแบบดังกล่าว

จัดหายาฟาวิพิราเวียร์ให้เพียงพอ

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่านักรบโควิด-19 อาวุธที่จำเป็น คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) 200 mg ดังนั้น ผู้บริหารสธ. จะจัดหายามาให้ประชาชน เป้าหมายในการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)คือการดูแลพี่น้องประชาชนให้ได้ข้อบ่งชี้ที่สมควรได้ และต้องให้ได้ทั่วถึง ซึ่งได้ตั้งเป้าไว้ 350,000 เม็ด โดยได้มีการนำเข้ามาแล้ว 4 ครั้ง 87,000 เม็ด โดยนำเข้าครั้งที่ 1 วันที่ 24 ก.พ.2563 ซื้อจากญี่ปุ่น 5,000 เม็ด

ครั้งที่ 2 วันที่ 2 มี.ค.2563 จีนบริจาค 2,000 เม็ด ครั้งที่ 3 วันที่ 12 มี.ค.2563 ซื้อจากญี่ปุ่น 40,000 เม็ด และครั้งที่ 4 วันที่ 30 มี.ค.2563 ซื้อจากญี่ปุ่น 40,000 เม็ด ขณะนี้มีกระจายยาไปในส่วนของโรงพยาบาล 12 เขต และส่วนภูมิภาค โรงเรียนแพทย์ทั้งหลาย ซึ่งได้มีการจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยไปแล้ว 48,875 เม็ด คงเหลือ 38,126 เม็ด ส่วนแผนการจัดหานั้น 1.สั่งซื้อจากจีน 100,000 เม็ด ส่งมอบ 6 เม.ย.2563 และสั่งซื้อจากญี่ปุ่น 100,000 เม็ด เพราะฉะนั้นได้มีการจัดหาและใช้ยาอย่างดีมีเหตุผล เพื่อรักษาพี่น้องผู้ป่วยให้หาย

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์กรเภสัชกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางองค์กรเภสัชกรรมได้มีการเตรียมยาที่ใช้ในการต่อสู้โควิด-19 ซึ่งมีจำนวน 7 รายการ โดยส่วนใหญ่สามารถผลิตได้ภายในประเทศจึงไม่เกิดปัญหาในเรื่องนี้มีการสำรองไว้แล้ว แต่ในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) จำเป็นต้องมีการนำเข้ามา เนื่องจากได้มีการทดลองใช้ในประเทศจีนและได้ผลดี