พิษโควิด-19 กระทบภาคเกษตร I Green Pulse

พิษโควิด-19 กระทบภาคเกษตร I Green Pulse

องค์กรติดตามเรื่องความมั่นคงด้านอาหารแสดงความกังวลถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ว่า การระบาดครั้งนี้ ไม่น่าจะไม่ใช่โอกาสของเกษตรกรส่วนใหญ่

โดยมูลนิธิชีววิถี หรือ BioThai ได้ทำการวิเคราะห์ตลาดโลกและตลาดในประเทศ และพบว่า ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกส่งสัญญาณบอกว่า สินค้าเกษตรกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของสายพานอุตสาหกรรมก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

“ประชาชนที่อยู่ในภาคการผลิตอื่นทั้งอุตสาหกรรม บริการ การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัส ในขณะที่เกษตรกรที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมก็หนักหนาไม่แพ้กัน” มูลนิธิระบุ

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของมูลนิธิ พบว่า ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ของโลก ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีราคาปรับลดลง

โดยหนักที่สุดคือเกษตรกรที่ปลูกอ้อยและยางพารา เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีราคาลดลงมากถึง 24.6% ในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันลดลง ส่งผลให้ทั้งอ้อยที่ปลูกเพื่อผลิตเอทานอลและข้าวโพดจำนวนหนึ่งมีราคาดิ่งลง

ยางพาราซึ่งมีราคาลดลงมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว แม้จะขยับขึ้นช่วงสั้นๆประมาณกลางปี แต่ก็ดำดิ่งมาตลอด เฉพาะช่วงเดือนมีนาคมที่ราคาลดลง 21.7% ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ จนถึงการคาดการณ์เศรษฐกิจถดถอยอันเกิดจากไวรัสระบาด มูลนิธิระบุ

ในส่วนของข้าว เป็นสินค้าที่มีราคาขยับสูงขึ้น โดยในตลาดโลกราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 3% แต่ราคาในประเทศขยับสูงขึ้นมากกว่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่า ความแห้งแล้งร้ายแรงในรอบ 40 ปีจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปรังของไทยที่จะหายไปถึงครึ่งหนึ่ง

ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ เช่น เวียดนาม ชะลอการทำสัญญาการส่งออกข้าวรอบใหม่เพื่อสร้างหลักประกันเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ในขณะที่รัฐบาลของมาเลเซียกังวลว่าสต็อคข้าวในประเทศอาจไม่เพียงพอ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาด

“เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรัง อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด จะได้รับข่าวร้ายซ้อนข่าวร้ายนี้ เนื่องจากปัญหาความแห้งแล้งจะทำให้ได้ผลผลิตน้อยไปกว่าเดิม ทั้งนี้ไม่รวมถึงชาวสวนผลไม้ซึ่งภัยแล้งได้ส่งผลกระทบแล้วในหลายจังหวัด” มูลนิธิระบุ

ในส่วนของไข่ไก่ที่เป็นที่ต้องการกันมากจนขาดตลาด ทางมูลนิธิมองว่า ก็ไม่ได้ทำให้เกษตรกรรายย่อยได้ประโยชน์อะไร เพราะผู้ควบคุมห่วงโซ่การผลิตไปจนถึงตลาดคือบริษัทขนาดใหญ่

มูลนิธิกล่าวว่า เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงไก่ซึ่งมีจำนวนรวมกันมากกว่า 92% ของจำนวนผู้เลี้ยงไก่นั้นมีกำลังการผลิตเพียง 35% ของปริมาณไข่เท่านั้น และแม้เกษตรกรรายย่อยกลุ่มนี้อาจจะขายไข่ได้ราคาสูงขึ้นบ้าง แต่ต้นทุนการเลี้ยงไก่ 85% อยู่ในการควบคุมของบริษัทขนาดใหญ่ ที่เป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์และได้รับสิทธิ์ในการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่

ทางมูลนิธิตั้งข้อสังเกตถึงการผูกขาดการผลิตและการควบคุมระบบเกษตรและอาหารตลอดห่วงโซ่ที่ทำให้เกษตรกรถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์

“ไม่ว่าจะมองจากวิกฤตที่ปรากฏอยู่ข้างหน้า หรือมองยาวไกลไปถึงอนาคตของเกษตรกรรมและอาหารของโลกที่ควรจะเป็น การผลิตเพื่อเป้าหมายเพื่อ “ความมั่นคงทางอาหาร” จะเป็นทางออกและทางรอดของเรา” มูลนิธิกล่าว