‘อีเห็น’ และสัตว์ป่า ผู้รับกรรมจาก ‘ไฟป่า’ ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

‘อีเห็น’ และสัตว์ป่า ผู้รับกรรมจาก ‘ไฟป่า’ ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

ย้อนมอง “ไฟป่า” ผ่าน “อีเห็น” และสัตว์ป่าอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ

ภาพ อีเห็น ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าหนีตายออกมานอนอยู่กลางถนนระหว่างทางในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย นอกจากจะสร้างความสะเทือนใจไปทั่วสังคมออนไลน์แล้ว ยังสะท้อนถึงผลกระทบของไฟป่า ที่ไม่ได้จำกัดวงแค่ทรัพยากรธรรมชาติสำหรับมนุษย์เท่านั้น แต่มันยังเหมารวมไปยัง บ้าน ของสัตว์ป่า ที่อยู่ในพื้นที่นั้นอีกด้วย
     
กรณีไฟป่าที่ดูน่ากลัวจากภาพมุมสูงโดยเฉพาะจุดที่ใกล้กับวัดพระธาตุดอยสุเทพ ทำให้เห็นว่า พื้นที่ป่ากว่า 1.6 แสนไร่แห่งนี้ตกอยู่ในความเสี่ยงขนาดไหน จนนำไปสู่การออกมาตรการปิดป่า 100% พร้อมสนธิกำลังเจ้าหน้าที่-ชาวบ้าน-ฝ่ายปกครอง ในการเฝ้าระวัง และตรวจจับผู้กระทำผิด ซึ่งถูกดำเนินคดีไปแล้ว 6 ราย จากที่ปรบกฏในข่าวหลายวันก่อน แต่ในทางกลับกัน ยังมีผลกระทบที่มองไม่เห็น อย่างกรณี อีเห็น ที่หนีลงมายังริมถนน และสัตว์ป่าอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าที่เกิดขึ้น
    
จากรายงาน สัตว์ป่าในบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ระบุว่า จากการสำรวจของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยพบว่ามีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ราว 489 ชนิด แยกเป็น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 50 ชนิด นก 361 ชนิดซึ่งถือเป็นความหนาแน่นที่ค่อนข้างสูง นอกจากนั้นยังมีชนิดพันธุ์หายาก 16 ชนิด และชนิดพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบที่นี่อีก 10 ชนิด ซึ่ง อีเห็น และสัตว์เหล่านี้ล้วนกระจายอยู่ในพื้นที่ความเสียหายของไฟป่า 2,400 ไร่ อย่างไม่ต้องสงสัย
โดยเฉพาะ อีเห็น ที่มีชีวิตผูกพันกับต้นไม้ค่อนข้างสูง อย่าง อีเห็นข้างลาย หรือ อีเห็นธรรมดา ข้อมูลจาก มูลนิธิโลกสีเขียวให้รายละเอียดว่า อีเห็นเป็นสัตว์หากินกลางคืน และกลับสู่ที่พักก่อนรุ่งสาง มักกินผลไม้เป็นอาหารหลัก อาทิ เบอร์รี่ ผลปาล์ม ลูกไทร และผลไม้ฉ่ำน้ำอื่นๆ 
     
ในระบบนิเวศ อีเห็น มีบทบาทเป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญ ของป่า ซึ่งขนาดประชากรของอีเห็นนั้นคัอนข้างกระจายตัวอยู่มาก แต่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของจีนก็มีการล่าอีเห็นอย่างหนักเช่นเดียวกัน
       
ไม่เพียงแต่ อีเห็น และผองเพื่อนสัตว์ป่าจะถูกไฟป่าเผาบ้านผลาญชีวิต ฝุ่นควันจากกองไฟขนาดมหึมาเหล่านั้นยังย้อนกลับมาส่งผลต่อระบบนิเวศภาพรวมอีกทอดหนึ่งด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาหมอกควันภาคเหนือได้กลายเป็นวาระระดับชาติอย่างแท้จริง อย่างที่เชียงใหม่เอง  สถานการณ์ยังดูเหมือนจะแย่ลงอีกด้วยเมื่อค่าดัชนีคุณภาพอากาศของ จ. เชียงใหม่ พุ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกในช่วงเดือนมีนาคม 2562 และกลับมาพุ่งสูงอีกด้วยค่าฝุ่น PM 2.5 ที่สูงถึงหลัก 1,000 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
เมื่อบวกกับความขัดแย้งระหว่าง คน-ป่า-รัฐ ก็ยิ่งตอกย้ำให้ปัญหาไฟป่า และหมอกควันภาคเหนือในหลายพื้นที่ ซับซ้อนขึ้น ความขัดแย้งเหล่านี้ ได้แก่ มาตรการทวงคืนผืนป่าและการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับพื้นที่ชุมชน โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์จาก 15% เป็น 25% ของพื้นที่จังหวัด รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดกับชาวบ้านในเรื่องการใช้ประโยชน์จากป่า
 
แม้ตอนนี้ภาพ อีเห็น และสัตว์ป่าน้อยใหญ่ที่ทยอยปรากฎเรียกคะแนนสงสารจากผู้คนในสังคมออนไลน์ และทำไห้ประเด็นไฟป่า และหมอกควันแทรกตัวขึ้นมาอยู่ในความรับรู้ของผู้คนท่ามกลางวิกฤติ โควิด-19 ขณะนี้บ้าง 
 
แต่หากนี่จะเป็นเพียงความเวทนาที่เห็นสัตว์ร่วมโลกต้องมารับเคราะห์จากการกระทำที่ตัวเองไม่ได้ก่อ แต่ไม่สามารถผลักดันไปสู่แนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมได้แล้วล่ะก็ อีเห็นตัวนี้ และสัตว์ป่าตัวอื่นๆ ก็คงไม่ต่างจากไฟไหม้ฟางวูบเดียวแล้วก็มอดไป ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น