องค์กรโลกเตือน 'โควิด-19' ฉุดเศรษฐกิจถดถอยหนัก

องค์กรโลกเตือน 'โควิด-19' ฉุดเศรษฐกิจถดถอยหนัก

องค์กรระดับโลก ประสานเสียงเตือน เตรียมรับมือผลกระทบครั้งใหญ่จาก "โควิด-19" ที่จะฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยครั้งใหญ่ สร้างผลกระทบรุนแรงกว่าต้มยำกุ้ง  และฉุดรายได้อุตฯการบินหนักกว่า 9/11

นายเดวิด มัลพาส ประธาน "ธนาคารโลก" (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (3 เม.ย.) ว่า การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกครั้งใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบหนักที่สุดต่อประเทศ ส่วนใหญ่ที่ยากจนและอ่อนแอที่สุดในโลก

ทั้งนี้ นายมัลพาสได้โพสต์บนเว็บไซต์ลิงค์อินว่า ธนาคารโลกมุ่งมั่นที่จะรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าวอย่างแข็งขัน และจริงจังด้วยโครงการสนับสนุนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศยากจน พร้อมกล่าวเสริมว่า กำลังวางแผนหารือกับผู้นำของเอธิโอเปีย เคนยา และประเทศอื่นๆ ในเร็วนี้

 

  • ปล่อยกู้กัมพูชา 20 ล้านดอลล์

เวิลด์แบงก์ประจำกัมพูชา เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารได้อนุมัติสินเชื่อ 20 ล้านดอลลาร์ให้แก่โครงการรับมือเหตุฉุกเฉินการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกัมพูชา ซึ่งการอนุมัติสินเชื่อด่วนครั้งนี้ จะช่วยให้กัมพูชาสามารถรับมือภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพระดับโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์การแพทย์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการวินิจฉัยและรักษาโรคโควิด-19 เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค เพิ่มความสามารถรับมือการระบาดใหญ่ และลดระยะเวลาในการฟื้นตัวของประชาชนและเศรษฐกิจให้สั้นลง

โครงการนี้จะช่วยให้กัมพูชา บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรค การตรวจโรคอย่างรวดเร็ว การเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาด โดยจะมีการจัดหาเงินทุนก่อสร้างศูนย์รักษาและกักกันตัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการวินิจฉัยของห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลรับผู้ป่วยส่งต่อใน 25 เทศบาลและจังหวัดของประเทศ รวมถึงจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นสำหรับรักษาและป้องกันโรค

กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา เปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันผลอยู่ที่ 114 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายดีแล้วจำนวน 35 ราย

 

  • ไอเอ็มเอฟเตือนเลวร้ายกว่าต้มยำกุ้ง

ถ้อยแถลงของประธานเวิลด์แบงก์สอดคล้องกับคำกล่าวของ นางคริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างวิกฤตทางการเงินอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“ในประวัติศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ เราไม่เคยพบว่าเศรษฐกิจโลกหยุดชะงักแบบนี้ นี่เป็นวิกฤตการณ์ที่รุนแรงกว่าวิกฤตการเงินในปี 2551-52” นางจอร์จีวา กล่าว

โรคโควิด-19 ได้ลุกลามไปยังประเทศและเขตเศรษฐกิจจำนวน 204 แห่งทั่วโลก โดยยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ทั่วโลกเกินกว่า 1 ล้านรายแล้ว ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเกือบ 55,000 ราย โดยสหรัฐเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 สูงสุดในโลก ส่วนอิตาลี เป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลก

ก่อนหน้านี้ ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เพราะผลพวงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมย้ำว่า  เป็นที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งอาจจะย่ำแย่กว่าช่วงวิกฤตการเงินในปี 2551 แต่เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า และอาจเป็นการดีดตัวครั้งใหญ่ หากประเทศต่างๆประสบความสำเร็จในการสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และป้องกันไม่ให้ปัญหาสภาพคล่องส่งผลให้เกิดภาวะล้มละลาย และการปลดพนักงานตามมา

นางจอร์จีวา ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว พร้อมกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศในตลาดเกิดใหม่ และประเทศที่กำลังพัฒนา

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกหดตัวลง 0.10% ในปี 2552 หลังจากเกิดวิกฤตการเงิน ซึ่งมีสาเหตุจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ อิงค์ ในปี 2551 และถ้าหากเศรษฐกิจหดตัวในปีนี้ จะถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2552

  • อนามัยโลกชี้ส่งผลกระทบต่อโลกทุกมิติ

นายทีโดรส เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อวันศุกร์(3เม.ย.)ว่า ส่งผลกระทบในทุกภาคส่วนไม่เฉพาะปัญหาด้านสาธารณสุขเท่านั้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลก เร่งแจกจ่ายอุปกรณ์ตรวจเชื้อโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้เข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด

นายเกเบรเยซุส เตือนด้วยว่า ประเทศที่ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการติดเชื้อเร็วเกินไป อาจมีความเสี่ยงมากกว่าเดิม ทั้งในแง่เศรษฐกิจที่อาจจะฟื้นตัวได้ช้าและกินเวลานาน อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสที่จะมีการกลับมาติดเชื้อของผู้คนในประเทศด้วย ซึ่งวิธีการแก้ไขในตอนนี้ คือ การยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด พร้อมๆกับการผ่อนคลายและเพิ่มการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจกับประชาชนในช่วงวิกฤตนี้ไปก่อน

  

  • ไออาต้าคาดฉุดรายได้อุตฯการบินหนักกว่า 9/11

สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวิกฤติที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่อุตสาหกรรมการบินเคยเผชิญ และคาดว่าจะรุนแรงกว่าเมื่อสมัยเหตุการณ์ก่อการร้ายในวันที่ 11 ก.ย. 2544 หรือ 9/11 โดยขณะนี้ได้สะท้อนให้เห็นแล้วจากการที่สายการบินต่าง ๆ ต้องพากันปรับลดต้นทุนและใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

ถ้อยแถลงของไออาต้ามีขึ้น หลังโควิด-19 ทำให้ความต้องการเดินทางทางอากาศทั่วโลกปรับตัวลดลง 14% เมื่อเดือนก.พ. ซึ่งลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 ขณะที่ความต้องการเดินทางในเอเชียแปซิฟิกร่วงลงถึง 41% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนซึ่งร่วงหนักถึง 84%

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงการแพร่ระบาดช่วงแรก ๆ ที่ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในประเทศแถบเอเชีย ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากว่า ตัวเลขนี้จะปรับตัวลดลงอีก เนื่องจากขณะนี้โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงทั่วโลก โดยบางประเทศมีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 มากกว่าจีน ซึ่งเป็นต้นตอการแพร่ระบาด และหลาย ๆ ประเทศเพิ่งเริ่มจำกัดการเดินทางเมื่อเดือนมี.ค.

ก่อนหน้านี้ ไออาต้า คาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลกคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ไออาต้า ระบุว่า โรคโควิด-19 จะทำให้รายได้ของสายการบินประเภทเครื่องบินโดยสารลดลง 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ถึง 1.13 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดว่าจะขยายวงกว้างแค่ไหน