ส.ส.ก้าวไกล เรียกร้องรัฐบาลอย่าลืมโฟกัสปัญหา 'ไฟป่า' ภาคเหนือ

ส.ส.ก้าวไกล เรียกร้องรัฐบาลอย่าลืมโฟกัสปัญหา 'ไฟป่า' ภาคเหนือ

ส.ส. พรรคก้าวไกล เรียกร้องรัฐบาลโฟกัสปัญหา "ไฟป่า" ภาคเหนือ เพราะความรุนแรงไม่แตกต่างจาก "โควิด-19" พร้อมเสนอนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดับไฟ

นายนิติพล ผิวเหมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรคก้าวไกล กล่าวว่าเห็นใจรัฐบาลในขณะนี้ที่มีวิกฤตโรคระบาดเกิดขึ้น จึงต้องรับมือและแก้ปัญหารายวัน แต่อีกด้านหนึ่งที่ลุกลามและรุนแรงไม่แพ้กัน คือปัญหาไฟไหม้ป่าทางตอนบนของประเทศไทยที่ต่อเนื่องมากว่า3สัปดาห์แล้ว แต่ยังไร้มาตราการที่จะแก้ปัญหาและระงับความรุนแรงนี้จากภาครัฐ

ขณะนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือได้รับผลกระทบโดยตรง พวกเขาถูกผลักภาระให้ดูแลตัวเองจากโรคโควิด-19ระบาดอีกทั้งยังต้องหาทางดับไฟป่า ช่วยกันบริจาคเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งพบว่าในตอนนี้การแก้ปัญหาไฟไหม้ป่าได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานเอกชนและอาสาสมัครจากหน่วยงานต่างๆ เป็นหลัก

ล่าสุดเช้าวันนี้.. มีอาสาสมัครจำนวนสามรายที่ต้องเสียชีวิตระหว่างการช่วยเหลือดับไฟป่า ตนขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตที่ต่อสู้กับไฟป่าเชียงใหม่ทุกท่าน ตลอดช่วงเวลานีตนเข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ได้เห็นและรับข้อมูลทุกฝ่าย และเป็นข้อมูลจริงที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง เพราะการเข้าไปสังเกตการณ์และร่วมทำงานด้วยนั้นไม่มีใครรู้ว่าตนเองนั้นเป็น ส.ส. ประชาชนยินดีจะเปิดเผยข้อมูลให้ทราบ

นายนิติพลบอกอีกว่า ปัญหาที่พบในการทำงานของรัฐคือ ไม่เตรียมการสำหรับปัญหาไฟป่าโดยใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะกลัวประชาชนจะพบสิ่งที่รัฐปกปิดไว้ จึงอยากเสนอ 5 ข้อในการจัดการปัญหาไฟป่า เพื่อที่จะไม่ต้องเสียสละชีวิตของคนที่ต้องเป็นด่านหน้าในการสู้ไฟป่าอีกต่อไป ดังนี้

158599640461

1. ใช้ดาวเทียมตรวจสอบจุดไฟไหม้ (Hot Spot)

ปัจจุบันไทยใช้ข้อมูลดาวเทียมของนาซ่าที่โคจรผ่านไทยจำนวน 3 ดวง คือ TERRA AQUA และ SUOMI NPP พูดให้ง่าย กล้องที่ติดอยู่บนดาวเทียมทั้งสามตัวนี้เป็นกล้องระบบ MODIS และ VIIRS ซึ่งกล้อง VIIRS จะคมชัดกว่า MODIS (แต่หน่วยงานราชการมักใช้ภาพจาก MODIS)

2. ขอข้อมูลดาวเทียมจากประเทศอื่นๆ

แนะนำให้ใช้ข้อมูลดาวเทียมจากประเทศอื่นๆ เพื่อมาช่วยด้านความละเอียดและความถี่ในการสำรวจของดาวเทียม เพราะเทคโนโลยี ก้าวไกล ไปทุกวัน กล้องบนดาวเทียมก็มีความละเอียดและคมชัดมากขึ้น เช่น กล้อง ASTER ที่ญี่ปุ่นติดบนดาวเทียมนั้นมีความละเอียดกว่าสองตัวข้างต้นมาก (VIIRS และ MODIS) กล้อง ASTER นี้มีละเอียดกว่า ชนิดที่ว่าถ่ายเห็นแหล่งต้นกำเนิดไฟได้ ระบบนี้ไทยเราควรเอามาทดลองใช้เป็นอย่างยิ่ง

นายนิติพลระบุว่า ประเทศไทยควรเอามาทดลองใช้ในภาคปฏิบัติ ในทางวิชาการมีบทความต่างประเทศยืนยันว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เพราะไทยสูญเสียพื้นที่ป่าจากปัญหาไฟป่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจำนวนมาก เพราะไม่รู้ต้นตอของการกำเนิดไฟ

3. ใช้โดรนบินเพื่อชี้พิกัด แทนการเดินเท้าสำรวจ

ไฟป่าในฤดูร้อนเช่นนี้มันลามเร็วมาก เมื่อลมร้อนบวกกับอากาศที่ร้อนมากๆ คนจะไปเดินลาดตะเวนเป็นวันๆได้อย่างไร ทุกวันนี้เชียงใหม่ใช้วิธีเดินเท้าลาดตระเวนตลอดวัน วิธีแบบนี้คนมีเท่าไหร่ก็ไม่พอ สิ้นเปลืองกำลังคนและเสี่ยงต่อชีวิตมากเกินไป
ลองคิดดูว่า เมื่อรับสัญญาณดาวเทียมแล้ว ใช้ทีมโดรนเคลื่อนที่เข้าบริเวณไฟป่าที่เข้าถึงได้โดยไม่เป็นอันตราย และบินโดรนเข้าชี้พิกัด GPS ทันที เราจะได้พิกัดไฟป่าที่ตรงจุดที่สุด

4. ดับไฟทันทีด้วยเฮลิคอปเตอร์

เมื่อพบจุดที่เกิดไฟป่าต้องเข้าดับทันทีโดยเฮลิคอปเตอร์ รถมอเตอร์ไซด์วิบาก หรือเดินเท้า ฯลฯ เมื่อได้พิกัด GPS จากโดรน การดับไฟก็จะทันเวลาแล้ว เหลือแค่เลือกใช้วิธีการดับไฟให้สะดวกและเร็วที่สุดเท่านั้น

5. ต้องบูรณาการทุกฝ่าย

บูรณาการและเอาข้อมูลจริงระหว่างหน่วยงานมาพูดในการประชุม ข้อนี้สำคัญที่สุด เหมือนจะทำง่าย แต่กลับยากที่สุด ถ้าอยากจะดับ ไฟป่าเชียงใหม่ ให้ได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ “เอาความจริงมาพูดกัน” เพื่อหาทางดับไฟป่าให้เร็วที่สุด

"สุดท้ายอยากฝากถึงรัฐบาลว่าในฐานะที่ท่านเป็นฝ่ายบริหาร ท่านไม่มีทางจะขอร้องให้ปัญหาเกิดขึ้นที่ละอย่าง เพราะฉะนั้นวันนี้ทั้งไวรัสระบาด ไฟไหม้ป่าที่ลุกลามรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ คือคำตอบว่าศักยภาพของรัฐบาลเป็นเช่นไร ผมไม่ต้องการจะตอกย้ำความล้มเหลวของรัฐบาลในห้วงเวลานี้ แต่อยากขอร้องให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายทำให้ประชาชนเห็นเสียทีว่าประเทศนี้มีรัฐบาล เพราะทุกวันนี้ประชาชนดิ้นรนด้วยตัวเองทั้งนั้น" นายนิติพลกล่าว