อาการติด 'โควิด-19' เด็กต่างจากผู้ใหญ่

อาการติด 'โควิด-19' เด็กต่างจากผู้ใหญ่

สธ.ระบุสนามมวย-ผับทำอัตราแพร่โรคโควิด-19ในไทยทะลุ 3 จากสถานการณ์ปกติอยู่ที่ 1 เศษ เจอผู้ป่วยอายุ 1 เดือนน้อยสุดในไทย ย้ำเด็กอาการต่างจากผู้ใหญ่ อัตราเสียชีวิตยิ่งแก่ยิ่งมาก

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 4 เมษายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ข้อมูลโดยทั่วไปของโรคโควิด-19 ทั่วโลกในขณะนี้ คือ ระยะฟักตัวเฉลี่ย 5 วัน แต่จะอยู่ในช่วง 2-10 วัน ค่าความสามารถในการแพร่โรค(R0)โดยทั่วไปอยู่ที่ 2.2 คือ ผู้ติดเชื้อ 1 ราย สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้อีก 2.2 ราย แต่บางสถานการณ์มีบางคนสามารถแพร่ได้มากกว่าคนทั่วไป หรือที่เรียกว่าเป็นซูปเปอร์สเปรดเดอร์ และเมื่อมีสถานการณ์ที่เกิดผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ค่าความสามารถในการแพร่เชื้อก็จะสูงขึ้น เช่น กรณีที่ประเทศไทยมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสนามมวย หรือสถานบันเทิง ช่วงเวลานั้นค่าความสามารถในการแพร่โรคโควิด-19ของประเทศไทยก็จะอยู่ที่ อยู่ที่ราว3.4-3.6 แต่ในสถานการณ์ทั่วไปประเทศจะมีค่าความสามารถในการแพร่โรคค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 1 เศษ


ส่วนความรุนแรงของโรคโควิด-19 มากกว่า 80 %ของผู้ป่วยมีอาการค่อนข้างน้อย และในจำนวนนี้ประมาณ 30 % ไม่มีอาการใดๆเลยแสดงว่าเป็นผู้ที่ติดเชื้อไม่มีอาการ และมีภูมิคุ้มกันแล้ว และประมาณ 20 % ต้องรับการดูแลทางการแพทย์ ประมาณ 5 % ได้รับการรักษาพยาบาลกรณีพิเศษ และเสียชีวิต 1.4 %ของผู้ป่วย โดยอัตราป่วยตายตามกลุ่มอายุ แยกเป็น 10-19 ปี 0.2 % 20-29 ปี 0.2 % 30-39 ปี 0.2% 40-49 ปี 0.4 % 50-59 ปี 1.3 % 60-69 ปี 3.6 % 70-79ปี 8 % และ 80 ปีขึ้นไป 14.8 %

158605979596


สำหรับอาการสำคัญของผู้ติดโควิด-19 ในกลุ่มผู้ใหญ่และเด็กจะมีลักษณะที่ไม่ค่อยเหมือนกัน โดยเด็กจะมีอาการน้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยในผู้ใหญ่จะมีอาการไข้และไอเป็นอาการหลักที่สำคัญ โดยไข้ 89 % ไอ 68 % ส่วนอาการอื่นๆ เช่น เจ็บคอเจอ 14 % มีน้ำมูกเจอน้อยเพียง 5 % มีปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 15 % อ่อนเพลีย 38 % และถ้าเริ่มมีอาการปอดอักเสบก็จะหายใจลำบาก หรือหายใจเร็ว 19 % ส่วนในเด็ก อาการไข้จะน้อยกว่าผู้ใหญ่เจอเพียง 42 % ไอเจอ 49 % จะเห็นว่าในเด็กอาการไอเจอได้มากกว่าอาการไข้ มีน้ำมูก 8% อ่อนเพลียก็จะเจอน้อย 7.6 % หากมีอาการปอดอัดเสบก็จะหายใจเร็ว หายใจลำบาก

158605983267
ผู้ป่วยอายุน้อยสุด 1 เดือน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดระยองแถลงข่าวพบผู้ป่วยโควิด-19อายุ 1 เดือน ซึ่งถือเป็นผู้ป่วยอายุน้อยที่สุดของประเทศไทย นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวว่า เมื่อมีผู้ป่วยยืนยันเป็นเด็กโดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 1 ปี นิยามของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะต่างจากผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ เพราะเด็กไม่ได้ไปไหน ไม่ได้ไปสถานที่ต่างๆ ดังนั้น ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็จะเป็นคนในบ้าน ญาติที่ใกล้ชิด ซึ่งผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่ใช่ทุกรายจะต้องติดเชื้อ ก็ให้คำแนะนำในการเฝ้าระวังสังเกตอาการ อย่างไรก็ตาม เด็กที่ติดโควิด-19มักอาการไม่มาก แต่หากเด็กติดแล้วมีญาติผู้ใหญ่ที่สูงวัยเข้าไปใกล้ชิด เด็กก็สามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงได้