เปิดโมเดลรอด! ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไร ให้พ้นวิกฤติ ‘COVID-19’

เปิดโมเดลรอด! ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไร ให้พ้นวิกฤติ ‘COVID-19’

เปิดโมเดลรอดสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีเพื่อรับมือกับวิกฤติ "โควิด-19" ที่ต้องปรับตัวให้ทัน ทั้งระยะสั้น รวมถึงมองไปข้างหน้า เตรียมพร้อมในวันที่โรคระบาดควบคุมได้แล้ว

จากความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยของประชาชน การจำกัดพื้นที่และการเดินทางเพื่อควบคุมโรคระบาดโดยภาครัฐ ส่งผลโดยตรงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การขาดความต่อเนื่องของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) กระทบต่อเนื่องสู่ภาคการขายสินค้าและให้บริการแก่ลูกค้า 

แน่นอนว่า สึนามิลูกนี้กระทบต่อภาคธุรกิจน้อยใหญ่ต่างโดนซัดกันถ้วนทั่ว ส่งผลต่อการบริหารกระแสเงินสดและหนี้สินขององค์กร โดยธุรกิจขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจครอบครัว จะได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 แม้ว่า ภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนหลายเรื่อง เช่นการชดเชยเมื่อถูกหยุดพักงาน การผ่อนคลายนโยบายสินเชื่อ และการเลื่อนเวลาชำระภาษี แต่คำถามที่สำคัญคือ ผู้บริหารจะสามารถจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร เพื่อให้องค์กรผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้

ศศิธร พงศ์อดิศักดิ์ หัวหน้าสายงาน Private Enterprise และกรรมการบริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย มีความเห็นต่อสถานการณ์ COVID-19 ว่า “ทุกปัญหามีทางออกเสมอ” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่เจ้าของกิจการจากรุ่นสู่รุ่นได้ผ่านวิกฤติการณ์มาหลายครั้งนับไม่ถ้วน และครั้งนี้ก็เป็นบทพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งที่ทุกคนควรจะเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองเช่นกัน

158598777263

“สิ่งสำคัญของการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว ธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดเล็กในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้คือการตัดสินใจที่รวดเร็วบนข้อมูลและการคาดการณ์ถึงสถานการณ์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม” ผู้บริหารเคพีเอ็มจีให้ความเห็น

โดยผู้บริหารหญิงเก่งรายนี้ ได้แนะนำสิ่งที่ผู้ประกอบการควรจะต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วนเพื่อบริหารจัดการธุรกิจในสภาวะการณ์วิกฤติดังนี้

  • การจัดการ ณ ขณะนี้ ที่ทำได้เลย 

- เคลื่อนย้ายพนักงานเพื่อตอบสนองต่อวิกฤติการระบาด โดยเน้นการให้ความปลอดภัยของพนักงานเป็นหัวใจหลัก

- ประเมินสถานการณ์ ความเสี่ยงและผลกระทบที่มีต่อธุรกิจจากการที่เศรษฐกิจหยุดชะงัก เช่น ในด้านการดำเนินงาน สภาพคล่อง ความสามารถในการชำระหนี้ ตลอดจนแผนการลงทุนที่ได้เคยวางไว้

- พิจารณามาตรการช่วยเหลือของภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ที่จะได้รับ

- จำลองสถานการณ์ทางธุรกิจและการเงินเพื่อวางแผนฟื้นฟูกิจการให้กลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด 

158598779466

  • การจัดการในระยะสั้นถึงกลาง

- วางแผนเพื่อลดผลกระทบ รวมถึง การปรับแผนการขาย การสร้างโปรแกรมการช่วยเหลือลูกค้า (win-win strategy) การปรับแผนการจัดการห่วงโซ่อุปทาน การปรับแผนเรื่องกำลังคน การบริหารค่าใช้จ่าย การเลื่อนแผนการลงทุนที่สำคัญน้อยกว่าออกไปก่อน

- สื่อสารกับลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจรายสำคัญ

- พิจารณานำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานเพื่อให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- การเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้ธนาคารเพื่อบริหารหนี้สินขององค์กรให้มีความสามารถชำระหนี้ได้ตามสถานการณ์

  

  • การจัดการอย่างต่อเนื่องหลังโรคระบาดควบคุมได้แล้ว

- สร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความคล่องตัว เพิ่มจำนวนซัพพลายเออร์เพื่อกระจายความเสี่ยง

- ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ดิจิทัล และกระบวนการอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

- ประเมินการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ๆ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจถือเป็นโอกาสที่ดีในการพิจารณาปรับปรุงระบบงานภายในรวมถึงปรับเปลี่ยนงบประมาณการใช้จ่ายหรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้น ตลอดจนมองหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ดังจะเห็นได้จากหลายบริษัทมีการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์หรือมีบริการจัดส่งสินค้าถึงที่หมาย เป็นต้น

"ทุกวิกฤติย่อมมีจุดสิ้นสุด เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการฝ่าฟันเหตุการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน" ผู้บริหารเคพีเอ็มจี กล่าวทิ้งท้าย