'บีโอไอ'เร่งดึงอุตฯการแพทย์ ลงทุนผลิตอุปกรณ์สู้โควิด-19

'บีโอไอ'เร่งดึงอุตฯการแพทย์  ลงทุนผลิตอุปกรณ์สู้โควิด-19

สำนักงานบีโอไอ เตรียมเสนอมาตรการดึงดูดการลงทุนผลิตอุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน ต่อบอร์ดบีโอไอ หนุนผลิตเครื่องมือรองรับระบาด

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในขณะนี้ บีโอไอ อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการเร่งรัดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการลงทุนผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการนำมาต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะนำมาตรการนี้เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด บีโอไอ) ในวันที่ 10 เม.ย. นี้

มาตรการส่งเสริมนี้ จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในระดับสูง เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน หรือขยายกำลังการผลิตอย่างรวดเร็ว แต่จะกำหนดกรอบเวลาในการผลิตสินค้าเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาด หากผลิตได้ตามเวลาที่กำหนดก็จะได้สิทธิประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ โดยสินค้าที่จะอยู่ในมาตรการส่งเสริมพิเศษนี้ เช่น การผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ การผลิตชุดป้องกันไวรัสสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ การผลิตชุดตรวจไวรัสโควิด-19 การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะที่ใช้กับผู้ป่วยฉุกเฉินในห้องไอซียู การผลิตยา การผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น

“จากประสบการณ์การต่อสู้เชื้อโควิด-19 ในต่างประเทศ ประเทศที่มีอัตราการตายสูงมักจะมีปัญหาในเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ" 

158591969080

ดังนั้นไทยจะต้องเร่งผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ให้มีเพียงพอรองรับผู้ป่วยภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้ไทยลดอัตราการสูญเสียให้น้อยที่สุด เพื่อให้เราผ่านพ้นในช่วงวิกฤตินี้ไปได้

นอกจากนี้ บีโอไอ ได้ศึกษาผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการลงทุนในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มการลงทุนจะเปลี่ยนไป โดยบางอุตสาหกรรมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล และซอฟท์แวร์ เพราะช่วงโควิด-19 ระบาดทำให้หน่วยงานต่างๆหันไปใช้การสื่อสารออนไลน์ และใช้เทคโนโลยีดิจิทับลเข้ามาอำนวยความสะดวกในการทำงานมากขึ้น ทำให้หลักสถานการณ์คลี่คลายบริษัทต่างๆ ก็จะเร่งปรับองค์กรมาในแนวทางนี้ เพื่อรับมือกับวิกฤติในอนาคต

รวมถึงอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และเครื่องจักรอัตโนมัติ จะขยายเพราะการแพร่ระบาดของโรคติดต่อจะพุ่งเป้าไปที่แรงงานที่เป็นหัวใจของการผลิต ดังนั้นแนวโน้มการปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในภาคอุตสาหกรรม และบริการ อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้ผู้คนหันมาดูแลใส่ใจ และรักษาสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นในธุรกิจนี้ทั้งภาคบริการด้านสุขภาพ และการผลิตสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ จะมีแนวโน้มขยายตัวที่รวดเร็ว

บีโอไอได้มอนิเตอร์สถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด วิเคราะห์พฤติกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในโลก เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับตัวออกมาตรการดึงดูดการลงทุนใหม่ที่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง 

"หลังจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านไป จะมีแนวโน้มการลงทุนใหม่เกิดขึ้น ซึ่งบีโอไอพร้อมก้าวเข้าไปชิงความได้เปรียบให้กับประเทศไทยได้มากที่สุด นอกจากนี้ จะนำผลการศึกษาวิเคราะห์ทั้งหมดมาออกเป็นยุทธ์ส่งเสริมการลงทุน 7 ปี ฉบับใหม่ ที่จะเริ่มนำมาใช้ในปี 2565 ทดแทนยุทธศาสตร์ฯฉบับเดิมที่จะหมดอายุในปี 2564ซึ่งรายละเอียดของยุทธศาสตร์ฯจะมีความชัดเจนในปีหน้า”

สำหรับการดำเนินงานของ บีโอไอ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงวิกฤติโรคโควิด-19 แต่ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนนับจำนวนโครงการไม่ได้ลดลงเลย มีจำนวนใกล้เคียงกับปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากแต่ละบริษัทต่างเดินหน้าธุรกิจลงทุนตามแผนที่ได้วางไว้ แม้ว่าปัญหาไวรัสโควิด-19 จะกระทบกับการดำเนินธุรกิจในช่วงนี้ แต่ก็เป็นวิกฤตในระยะสั้น ดังนั้นจึงต้องลงทุนตามที่กำหนด เพื่อไม่ให้กระทบกับแผนการระยะยาวของบริษัทต่างๆ