อัดงบ 1.6 ล้านล้านสู้โควิด ครม.เคาะ พรก.3 ฉบับ อังคารนี้

อัดงบ 1.6 ล้านล้านสู้โควิด ครม.เคาะ พรก.3 ฉบับ อังคารนี้

ครม.นัดพิเศษ เห็นชอบมาตรการสู้โควิด “สมคิด” ใช้งบ 10% ของจีดีพี คาดวงเงิน 1.6 ล้านล้านบาท ดูแลประชาชน ธุรกิจ สถาบันการเงิน ชงออก 3 พ.ร.ก.เข้า ครม.สัปดาห์หน้า

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษวานนี้ (3 เม.ย.) เพื่อหารือมาตรการเยียวยาและลดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่จะใช้ในระยะ 6 เดือน ข้างหน้า 

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการที่หารือถือเป็นมาตรการชุดใหญ่ครอบคลุมหลายมิติสำหรับเยียวยาและดูแลประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจส่วนรวมใน 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งต้องมีทรัพยากรหรือเงินเพียงพอ และวงเงินที่เตรียมจะอยู่ที่ 9-10% ของจีดีพี ซึ่งเหมือนกับที่หลายประเทศใช้สู้กับโควิด-19 และที่มาของงบประมาณจะมาจากการลดงบประมาณทุกกระทรวง และการออก พ.ร.ก.กู้เงิน  

รวมทั้ง ครม.ได้หารือเรื่องการตัดงบประมาณจากทุกกระทรวง 10% โดยไม่เกี่ยวกับรายจ่ายประจำหรือเงินเดือนเพื่อมาใช้ในการสู้กับวิกฤติโควิด-19 และเห็นชอบออก พ.ร.ก. 3 ฉบับ คือ 1.พ.ร.ก.การให้อำนาจ ธปท.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟท์โลน) 2.พ.ร.ก.การให้อำนาจ ธปท.ซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดชำระ 3.พ.ร.ก.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะหารือกับสำนักงบประมาณว่าจะมีการตัดงบประมาณแต่ละกระทรวงได้เท่าไหร่ โดยถ้าตัดและเปลี่ยนแปลงงบประมาณได้มาก จะทำให้วงเงินในการออก พ.ร.ก.การกู้เงินน้อยลง โดย ครม.นัดพิเศษเห็นชอบในหลักการแล้ว และทำรายละเอียดเสร็จจะเสนอ ครม.วันอังคารที่ 7 เม.ย.นี้ ทันที 

“ชุดมาตรการที่ออกมาจะครอบคลุมทั้งการดูแลประชาชนและภาคธุรกิจเพิ่มเติม ในส่วนที่ 2 คือ ดูแลเศรษฐกิจและภาคการผลิต ขณะที่ส่วนสุดท้าย คือ การดูแลภาคเศรษฐกิจการเงินไม่ให้ได้รับผลกระทบ เพราะทุกครั้งที่เกิดปัญหาในภาคธุรกิจที่แท้จริงแล้วภาคการเงินจะได้รับผลกระทบ”

ในขณะนี้ยังไม่มีปัญหาต่อภาคการเงินแต่เพื่อความไม่ประมาทจึงได้คิดส่วนนี้ครบถ้วนแล้ว โดยไม่เพียงการเยียวยาผลกระทบเท่านั้น แต่จะสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการเงินเพื่อเป็นเสาพิงให้ระบบเศรษฐกิจทั้งหมด ดังนั้นขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลดูแลอยู่ทั้งจากกระทรวงการคลังและ ธปท.จะทำงานร่วมกันเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน เพราะหากส่วนใดส่วนหนึ่งหายไปจะส่งผลกระทบกับประชาชนไม่ว่าจนหรือรวย

รายงานข่าวระบุว่า จีดีพีของไทย ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 16.8 ล้านล้านบาท โดยการตั้งงบประมาณ 10% ของจีดีพี เพื่อแก้วิกฤติโควิด-19 ที่ส่งกระทบกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม จะทำให้มีวงเงินสำหรับมาตรการชุดที่ 3 ประมาณ 1.68 ล้านล้านบาท 

“คลัง”มั่นใจดูแลเศรษฐกิจชุมชน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ชุดมาตรการที่จะออกมาจะเป็นมาตรการทั้งการดูแลประชาชน ดูแลเศรษฐกิจและสังคม โดยครอบคลุมไปถึงไปถึงภาคเกษตร ส่วนลูกจ้าง พนักงานที่ได้รับผลกระทบที่จะมาดูแลเพิ่มเติม ส่วนอีกอย่างคือการดูแลไปถึงสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์เพื่อให้คนที่เกี่ยวข้องลดผลกระทบ 

ขณะเดียวกันก็จะมีการดูแลในส่วนเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) ที่มีแรงงานเดินทางกลับต่างจังหวัดเพื่อเสริมสร้างอาชีพและทักษะใหม่ที่สร้างความเข้มแข็งและเศรษฐกิจภายในประเทศพร้อมกัน รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมทั่วประเทศ  กลุ่มต่อมาคือการดูแลผู้ประกอบการที่มีภาระด้านสินเชื่อจะมีมาตรการเพิ่มเติมจากระยะ 1-2 

ธปท.ดันซอฟท์โลนอุ้มธุรกิจสู้ไวรัส

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ครม.เห็นชอบหลักการมาตรการช่วยเอสเอ็มอีที่มีขนาดใหญ่ขึ้นผ่านการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย และสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยธปท.ขอออก พ.ร.ก.เพื่อให้ ธปท.จัดทำสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) โดยตรงได้ด้วยเงินของ ธปท.คล้ายกับที่ดำเนินการช่วงวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปี 2555 ซึ่งครั้งนี้จะเป็นโครงการที่ใหญ่กว่าที่ ครม.ได้อนุมัติให้ใช้เงินจากธนาคารออมสินทำซอฟท์โลน 1.5 แสนล้านบาท ในรอบที่ผ่านมา โดยรายละเอียดจะเสนอ ครม.วันที่ 7 เม.ย.นี้

นอกจากนี้ ธปท.เสนอขอหลักการสร้างหลังพิงให้ตลาดตราสารหนี้เอกชนเพื่อให้เดินต่อไปได้ โดยออก พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ซื้อตราสารที่จะครบกำหนดโรลโอเวอร์ แต่ต้องเป็นตราสารที่ผู้ออกมีคุณภาพดีและต้องระดมทุนจากตลาดเอกชนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่ง ธปท.จะไปเติมเต็มให้ตลาดทำหน้าที่ได้ตามปกติและมีเงื่อนไขการคัดกรองให้แน่ใจว่าเป็นบริษัทที่ดี

นายวิรไท กล่าวว่า ธปท.ขอขยายเวลาการคุ้มครองเงินฝากออกไป ซึ่งเรื่องนี้ต้องเรียนยืนยันว่า สถาบันการเงินวนประเทศไทยมีความมั่นคงมาก แต่ที่เสนอให้ขยายเวลาเพื่อลดความกังวลใจจากผู้ฝากเงิน ซึ่งเดือน ส.ค.นี้ จะลดการคุ้มครองเงินฝากลงเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาท จาก 5 ล้านบาท ธปท.จึงเสนอให้ขยายเวลาการคุ้มครองที่ 5 ล้านบาทไปอีก 1 ปี

รวมทั้ง ธปท.เสนอเลื่อนการนำส่งเงินสมทบของธนาคารพาณิชย์ที่จะไปใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน (FIDF4) โดยลดเหลือ 0.23% จาก 0.46% ของเงินฝากเป็นเวลา 2 ปี เพราะอัตราดอกเบี้ยลดลงมาก จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง 2 ครั้ง หากจะทำให้การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ภาคธุรกิจและประชาชนได้ตรงนี้อาจเป็นต้นทุนทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยให้ประชาชนได้ จึงเสนอให้ลดเงินนำส่งดังกล่าว

ลดค่าไฟ30%หนุนตั้ง รพ.สนาม

นายสนธิรัตน์ สนธิจรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ครม.รับทราบเสนอมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ผ่อนผันการเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุดให้เอสเอ็มอี โรงงานและโรงแรม 3 เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.2563

รวมทั้งลดค่าไฟฟ้าอย่างน้อย 30% ให้ผู้ประกอบการโรงแรมหรือหอพัก 2 รูปแบบ คือ 1.ที่พักหรือโรงพยาบาลสนามที่ใช้พักฟื้นผู้ป่วยโรคโควิด-19 และ 2.ที่พักหรือโรงพยาบาลสนามที่ใช้สังเกตอาการของผู้เข้าข่ายเฝ้าระวัง

ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ค้าน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำมันที่ลดลง จะลดอัตราสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายจาก 6% เหลือ 5% เป็นเวลา 1 ปี เพราะการใช้น้ำมันอากาศยานลดลงมากทำให้ประสบปัญหาถังเก็บน้ำมันไม่เพียงพอ รวมทั้งขยายระยะเวลาการคงอัตราสำรองแอลพีจีตามกฎหมายที่ 1% ออกไปอีก 6 เดือน (สิ้นสุด 30 มิ.ย.2564)