สนธิรัตน์ชี้‘โควิด’ไม่กระทบแผนดันไทย‘ฮับแอลเอ็นจี’

สนธิรัตน์ชี้‘โควิด’ไม่กระทบแผนดันไทย‘ฮับแอลเอ็นจี’

“สนธิรัตน์” ยันเดินหน้านโยบายผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายแอลเอ็นจีระดับภูมิภาค มั่นใจโควิด-19 ไม่กระทบ ด้านกฟผ.เล็งปรับแผนนำเข้ารอบใหม่ หลังความต้องการใช้แอลเอ็นจีเปลี่ยนจากผลกระทบโควิด

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก จะไม่ส่งผลกระทบต่อนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG HUB)ในระดับภูมิภาคของอาเซียน และต่อยอดไปสู่ธุรกิจนำเข้าในรูปแบบการขนส่งในลักษณะเรือขนาดเล็กแปรสภาพก๊าซผ่านรถขนส่ง (small scale LNG) เพื่อกระจายไปสู่ภูมิภาค

เบื้องต้นได้รับรายงาน จากปตท. ว่าจะสามารถเตรียมขนส่งเชิงพาณิชย์ได้ตามแผนภายในไตรมาส 3 ปีนี้ หรือภายในไตรมาส 4 ปีนี้แม้โควิด-19 จะทำให้เกิดผลกระทบ โดยกระทรวงพลังงาน ก็จะดูเรื่องของการปรับแก้กฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องหรือเป็นอุปสรรคต่อนโยบายการค้าเสรีLNG ด้วย ซึ่งจะดำเนินการคู่ขนานกันไป

นอกจากนี้ ในส่วนการทดสอบนำเข้า LNG ในรูปแบบตลาดจร(Spot) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ก็ยังเดินหน้าตามแผน โดยจะมีการนำเข้า LNG Spot ล็อตที่2 ปริมาณ 65,000 ตัน ในเดือน เม.ย.นี้ส่วนแผนนำเข้า LNG ล็อตใหม่ของ กฟผ.ที่นำเสนอเข้ามานั้น ทางกระทรวงพลังงาน จะพิจารณาภายหลังจากการนำเข้า LNG ล็อตที่ 2 ของ กฟผ. แล้วเสร็จ เพื่อให้เห็นถึงข้อมูลความต้องการใช้ LNG ที่เหมาะสม การปรับปรุงกระบวนการต่างทั้งระบบ ซึ่งจะนำไปสู่การอนุมัติให้ กฟผ. เป็น shipper รายที่ 2 ของประเทศอย่างเต็มรูปแบบต่อไป

นายพัฒนา แสงศรีโรจนน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และ โฆษก กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้ประสานไปยัง บริษัท PETRONAS LNG ที่เป็นผู้ชนะการประมูลจัดหาและนำเข้าLNG ให้กับ กฟผ.แล้ว ซึ่งได้รับการยืนยันว่า การนำเข้า LNG ล็อตที่ 2 ในเดือนเม.ย.นี้ จะเป็นไปตามกำหนดการเดิม แม้ว่าจะมีการระบาดของโรคโควิด-19 แต่การขนส่งLNG ไม่ได้รับผลกระทบ

ขณะเดียวกัน ทางบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) ซึ่งเป็นคลังรองรับ LNG ก็มีความพร้องรองรับ LNG แม้จะมีมาตรการเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยและการป้องกันโรคมากขึ้น

“กฟผ.อยู่ระหว่างทบทวนแผนการขอLNG รอบถัดไป โดยปริมาณนำเข้าอาจจะลดลงจากแผนเดิม เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้LNG ทั่วโลก”

สำหรับกรณีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ล่าสุด มีติให้ทบทวนแผนการศึกษาโครงการคลังรับ-จ่ายLNG ลอยน้ำ หรือ FSRU ปริมาณ 5 ล้านตันต่อปี ซึ่งปัจจุบัน กฟผ.อยู่ในขั้นตอนการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) นั้นตามมติดังกล่าวให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โดย กฟผ.ได้เสนอข้อมูลไปแล้วส่วนตัวมองว่าควรปรับโครงการให้เหมาะสม เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะตอบสนองนโยบายของรัฐ ที่ต้องการให้การแข่งขันนำเข้า LNG เพื่อประโยชน์ต่อผู้ใช้ไฟฟ้าและประเทศในอนาคต