ซ้อมเคอร์ฟิว! ส่องคนไทยร่วมมือแค่ไหนช่วงล็อคดาวน์

ซ้อมเคอร์ฟิว! ส่องคนไทยร่วมมือแค่ไหนช่วงล็อคดาวน์

“กูเกิล” เผยข้อมูลตำแหน่งของประชาชนใน 131 ประเทศ รวมถึงไทย เพื่อประเมินว่า พลเมืองแต่ละประเทศไปร้านค้า สวนสาธารณะ และที่ทำงานน้อยลงหรือไม่ในเดือน มี.ค.ซึ่งเป็นช่วงที่หลายประเทศออกคำสั่งให้ประชาชนกักตัวอยู่แต่ในบ้าน

การวิเคราะห์ข้อมูลตำแหน่งจากมือถือของผู้ใช้นับพันล้านคนผ่านแอพพลิเคชั่น “กูเกิล แมพส์” ถือเป็นชุดข้อมูลสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มีในการช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประเมินว่า ประชาชนได้ปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้อยู่แต่ในบ้านหรือไม่

รายงานของกูเกิลแสดงแผนภูมิเปรียบเทียบการไปห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สวนสาธารณะ สถานีรถไฟใต้ดินป้ายรถเมล์ ร้านขายของชำ ที่ทำงาน และสถานที่อื่น ๆ ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมากับในช่วง 5 สัปดาห์ก่อนหน้า และสำหรับบางประเทศ กูเกิลยังทำแผนภูมิข้อมูลรายพื้นที่ เช่น ระดับเทศมณฑลในสหรัฐด้วย

สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลของกูเกิลระบุว่า ระหว่างวันที่ 16 ก.พ.-29 มี.ค. ที่ผ่านมา คนไทยไปสถานที่หมวดค้าปลีกและสันทนาการ (ร้านอาหาร, คาเฟ่, ศูนย์การค้า, สวนสนุก, พิพิธภัณฑ์, ห้องสมุด และโรงภาพยนตร์) ลดลง 55% เทียบจากเส้นฐานในวันที่ 16 ก.พ.

158591256441

ขณะที่สถานที่หมวดร้านขายของชำและร้านยา (รวมถึงตลาดสด) คนไทยไปน้อยลง 27%, หมวดสวนสาธารณะ (อุทยานแห่งชาติ, ชายหาด, ท่าเทียบเรือ, พลาซ่า) คนไปลดลง 54%, หมวดสถานีขนส่งสาธารณะ (รถไฟใต้ดิน, รถเมล์, รถไฟ) คนไทยไปลดลง 61%, หมวดสถานที่ทำงาน คนไทยไปน้อยลง 21% และหมวดที่พักอาศัย คนไทยอยู่ติดบ้านมากขึ้น 16%

158591272640

ข้อมูลดังกล่าวเก็บรวบรวมในช่วงที่รัฐบาลไทยประกาศล็อคดาวน์กรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด ซึ่งมีการปิดห้างร้านหลายแห่งเพื่อป้องกันไม่ให้คนออกมารวมตัวในที่สาธารณะ ก่อนประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนทั่วประเทศออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น.ของทุกวัน โดยมีผลตั้งแต่วันนี้ (3 เม.ย.) เป็นต้นไป เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ขณะที่ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นวันละกว่า 100 คน สะสมเกือบ 2,000 คนแล้ว (นับถึง 3 เม.ย.)

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อระบุว่า การวิเคราะห์การเดินทางจำแนกตามกลุ่มอายุ รายได้ และข้อมูลประชากรอื่น ๆ จะช่วยกำหนดกรอบของการบริการประกาศสาธารณะได้

ด้าน เฟซบุ๊ค ซึ่งมีผู้ใช้เป็นจำนวนนับพันล้านคน ได้แบ่งปันข้อมูลตำแหน่งแบบเดียวกันให้กับนักวิจัยนอกภาครัฐ ซึ่งทำรายงานที่คล้ายกันให้กับทางการในหลายประเทศด้วย แต่ไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณะเหมือนอย่างกูเกิล

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลหลายประเทศตั้งแต่จีน สิงคโปร์ ไปจนถึงอิสราเอล ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตการเคลื่อนไหวพลเมืองของตนเองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในความพยายามเพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัส ซึ่งมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวมกว่า 1 ล้านคน และผู้ป่วยเสียชีวิตอีกกว่า 5 หมื่นคน

158591258277

ในยุโรปและสหรัฐ บรรดาบริษัทเทคโนโลยีเริ่มแบ่งปันข้อมูลสมาร์ทโฟนแบบไม่เปิดเผยตัวตน เพื่อติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น แม้แต่เยอรมนี ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เคารพความเป็นส่วนตัวมาก ตอนนี้ รัฐบาลกำลังพิจารณาใช้แอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟนในการจัดการการระบาดของโรคดังกล่าวด้วย