‘โควิด-19’ ภูมิคุ้มกันสร้างได้ด้วยการยืดระยะเวลาระบาด

‘โควิด-19’ ภูมิคุ้มกันสร้างได้ด้วยการยืดระยะเวลาระบาด

ถ้าติดเชื้อ “โควิด-19” จริง อาการจะหนักหนาสาหัสแบบไหน อาการฉุกเฉินจาก “การป่วย” ทั่วไป กับ อาการฉุกเฉินจากการป่วยด้วยโรคโควิด-19 ต่างกันอย่างไร ลดความตระหนกด้วยการทำแบบประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โควิด-19 โดยโรงพยาบาลราชวิถี

ทำไมคนที่สงสัยใน ‘อาการ’ ว่าตัวเองจะป่วยด้วยโรค Covid-19 (โควิด-19) ไปตรวจแล้วพบว่าตนเองติดเชื้อจริง ขณะที่บางคนไปตรวจแต่พบว่าป่วยเป็นเพียงไข้หวัดปกติ คนส่วนมากได้ยินได้ฟังมาหลายทางจนเครียดและตระหนกไปตามๆ กัน เฝ้าแต่ถามตัวเอง “ฉันติดเชื้อหรือยัง” หมั่นทดสอบตัวเองด้วยการหายใจเข้าลึกๆ ว่าเริ่มมีอาการเจ็บหน้าอกหรือยัง

หลายคนสงสัย มีอาการเป็นไข้ ต้องไปโรงพยาบาลทันทีหรือไม่ หรือต้องรอสังเกตอาการนานแค่ไหน รอนานไป..ถ้าติดเชื้อ Covid-19 จริง อาการจะหนักหนาสาหัสแบบไหน อาการฉุกเฉินทั่วไป กับ อาการฉุกเฉินจาก ‘การป่วย’ ด้วยโรค Covid-19 ต่างกันอย่างไร

‘กรุงเทพวันอาทิตย์’ มีโอกาสสัมภาษณ์เรื่องนี้กับ พญ.ณธิดา สุเมธโชติเมธา แพทย์ผู้ดูแลงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency Medical Service-EMS) ศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อครั้งรับเชิญ TK Park เป็นวิทยากรในกิจกรรม ‘Skill Alive: รู้สู้โรค’ เสริมความรู้ด้านสุขภาวะ สอนการป้องกันและรู้เท่าทันเชื้อไวรัสโควิด-19

158590276044

พญ.ณธิดา สุเมธโชติเมธา

พญ.ณธิดา ยังเป็นหัวหน้ากลุ่มงานลูกค้าสัมพันธ์และเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านสื่อสารองค์กร โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อ Covid-19 ยังรับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ แบบประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Covid-19  ให้คนไข้ประเมินตนเองก่อนเข้าสู่โรงพยาบาล และวางระบบคนไข้เข้ามาใช้บริการคลินิกไข้หวัด

:: แบบประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Covid-19 ออนไลน์ ::

"ขณะนี้ระบบของโรงพยาบาลมีการออกแบบฟอร์มออนไลน์ให้ทุกคนเข้าไปประเมินด้วยตัวเองได้ เพื่อลดความตื่นตระหนก และลดการมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

ต้องบอกว่าตอนนี้โรงพยาบาลก็ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงที่คนไข้ที่ไม่ป่วยพอไปโรงพยาบาลก็อาจทำให้ตัวเองติดเชื้อได้ ถ้าตัวเองไม่ป่วยแล้วสงสัยว่าฉันต้องไปโรงพยาบาลแล้วหรือยัง คนไข้สามารถเข้าไปทำแบบประเมินความเสี่ยงออนไลน์ได้

ข้อเสนอแนะ(recommendation)ในนั้นจะบอกไว้เลยว่า ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มไม่มีอาการ ไม่ได้เข้าพื้นที่เสี่ยง มีโอกาสน้อยมากที่จะป่วย

ถ้าคุณมีอาการ คุณไม่ได้เข้าพื้นที่เสี่ยง คุณอาจไม่ได้ป่วยโรคโควิด-19 คุณอาจเป็นไข้หวัดอื่นๆ ทั่วไป ก็จะมีการแนะนำวิธีการดูแลเบื้องต้น

ในกรณีที่คุณเข้าพื้นที่เสี่ยง และคุณมีอาการ ก็จะมีการบอกว่าอาการแบบไหนที่คุณควรจะเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล

แต่โดยปกติคนไข้ทั่วไปที่ต้องการเข้ามาตรวจที่โรงพยาบาล ก็สามารถมาตรวจที่คลินิกไข้หวัดในเวลาได้ ช่วงนี้เราเปิดคลินิกให้แล้ว ทุกวัน ตั้งแต่แปดโมงเช้าจนถึงเที่ยงคืน แต่เราจะรับบัตรถึงแค่สี่โมงเย็น หลังสี่โมงเย็นไปแล้วจะเป็นคนไข้ฉุกเฉิน

คนไข้ที่ป่วยฉุกเฉินจริงๆ สามารถใช้ระบบบริการฉุกเฉินได้ตามปกติ โทร.1669 แต่ถ้าคนไข้เป็นกลุ่มเสี่ยง แนะนำว่าเวลาโทร.เข้า กรุณาบอกข้อมูลตามความเป็นจริง เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เตรียมการรับส่งคนไข้ให้ถูกต้อง และป้องกันอย่างเหมาะสม

ในแบบประเมินฯ เรามีคำแนะนำยาวไปถึงขั้นตอนขอเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลเราด้วย กรณีคนไข้อยู่จังหวัดอื่น หรือมีสิทธิ์บัตรที่ไหน ถ้าคนไข้เข้าไปทำแบบประเมินความเสี่ยงและอยู่ในกลุ่มจำเป็นต้องเข้ามาที่โรงพยาบาล ก็จะแนะนำว่า คนไข้เช็คสิทธิ์ตัวเองก่อนได้เลย มีลิงค์ของการเช็คสิทธิ์ที่คนไข้เช็คดูได้ ว่าตัวเองมีสิทธิ์บัตรที่ไหน ถ้าคนไข้ไปตามสิทธิ์ คนไข้จะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา"

     ------------------------------------------------

     -------------------------------------------------

:: อาการฉุกเฉินทั่วไปที่ต้องมาโรงพยาบาล ::

“คนไข้ที่เข้ามาแผนกฉุกเฉิน ปกติมีพยาบาลคัดกรองให้อยู่แล้ว ว่าเรียกภาวะฉุกเฉินหรือไม่

อาการฉุกเฉินที่เราทราบๆ กันอยู่ดีคือ หมดสติเฉียบพลัน หัวใจหยุดเต้น อาการหอบเหนื่อยมาก เหนื่อยอย่างไหนเรียกว่ามาก ปกติคนไข้ทั่วไปที่หอบเหนื่อยยังพูดได้เป็นประโยค ในระดับหอบเหนื่อยมากคือพูดไม่ได้เลย หรือพูดไม่เป็นคำ หรือซึม ปลุกไม่ตื่น หมดสติ ชัก

คนไข้ที่อยู่ในกลุ่มรองลงมา อาจจะหอบเหนื่อย แต่ยังไม่มากเท่าไร

ต้องยอมรับว่าถ้ามาโรงพยาบาลช่วงนี้ ถ้าเจอในช่วงเวลาที่คนไข้เข้ามารับบริการเยอะ ก็อาจจำเป็นต้องรอ แต่ห้องฉุกเฉินตอนนี้เปิด 24 ชั่วโมง สำคัญคือว่าถ้าคุณมีประวัติเสี่ยง ต้องบอกเจ้าหน้าที่ตั้งแต่แรก”

:: อาการฉุกเฉินของโรค โควิด-19 ::

“คนไข้มีอาการหอบเหนื่อยมาก อาการหนักคือหอบจนเขียว แต่กว่าจะถึงจุดนี้ ต้องบอกก่อนว่า คนติดเชื้อ 80% ไม่มีอาการอะไรเลย เขาอาจจะป่วยเล็กน้อย ก็สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ แต่เป็นพาหะ

คนไข้ที่จะเข้าสู่ระบบถึงขนาดเป็นหนักถึงฉุกเฉินได้ มีอยู่แค่ 2-4% ตามสถิติตอนนี้ เพราะตัวเลขยังไม่นิ่ง

อย่าเพิ่งตกใจ ว่าทุกคนเป็นแล้วจะต้องมีอาการหนักระดับเหนื่อยมากจนเขียว เพียงแต่ว่าเราจะให้ทุกคนระมัดระวังตัวไว้ก่อน ถ้ามีอาการไข้สูง มีไอ เจ็บคอ และเริ่มมีอาการไอแบบเสมหะ หอบเหนื่อยมากขึ้น ก็อาจจำเป็นต้องมาโรงพยาบาลและรับการรักษาด้วยการให้ยาตั้งแต่เบื้องต้น”

:: อาการต้องมีครบ ไข้สูง ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย ::

“อาจจะไม่ครบ บางคนไม่มีไข้เลย แต่ติดเชื้อ บางคนมีแค่ไอ แต่อาการส่วนใหญ่ของคนไข้ คือมีไข้ มีไอ

ถามว่าจะแยกออกจากโรคอื่นได้อย่างไร ก็แยกยาก คนนี้เป็นไข้โควิด-19 คนนี้เป็นไข้หวัดใหญ่ คนนี้เป็นไข้หวัดทั่วไป

แต่วิธีป้องกันตัว..ไม่แตกต่างกัน เมื่อเราป่วย เราต้องป้องกันไม่ให้ตัวเองรับเชื้อเพิ่มเติม หรือไปแพร่เชื้อให้คนอื่น

ต้องดูแลสุขภาพอนามัยให้ถูกต้อง กินอาหารให้ดีเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน สวมใส่เครื่องป้องกันเพื่อไม่ให้เสมหะหรือน้ำลายตนเองไปปะปนคนอื่น อย่าใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับคนอื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

คนอายุน้อยๆ หรือคนแข็งแรง มีโอกาสหายได้อย่างปกติ แต่ถ้าเป็นคนสูงอายุ มีโอกาสทำให้เขาป่วยหนักได้สูง

ดังนั้น เราไม่อยากให้เกิดการระบาดไปสู่ผู้อายุ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในประชากรทั้งหมด

ในคนไข้ที่ได้รับการรักษาช้า อาจทำให้เขาแย่ลงเร็ว 

ดังนั้น ตราบใดที่ทรัพยากรทุกวันนี้ หมอ พยาบาล เตียงนอนในโรงพยาบาล ยังพอรับรักษาทุกคนอยู่ ทุกคนมีโอกาสหายหมด

แต่ถ้าเมื่อใดที่ระบาดเยอะๆ จนทรัพยากรในโรงพยาบาลไม่พอ จะทำให้คนที่ควรจะหาย..ไม่หาย

คำแนะนำในปัจจุบันคือ ทำอย่างไรไม่ให้ระบาด คือคุณต้องดูแลตัวเอง ถ้าติดแล้ว หรือยังไม่ติดก็ตาม แต่สงสัยว่าตัวเองเป็นพานะ ก็ต้องป้องกันไม่ให้ตัวเองแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ หมอกับพยาบาลจะได้มีพื้นที่สำหรับรักษาคนให้หาย"

158590706381

:: ปัจจัยอะไรทำให้คนที่สงสัยในอาการตัวเอง แล้วไปโรงพยาบาล ::

“เขามักจะเจอว่าตัวเองไปใกล้ชิดกับคนที่ผลตรวจการติดเชื้อโควิด-19 เป็นบวก ใกล้ชิดในที่นี้คือพบปะ(contact)เกินห้านาที อยู่ในระยะน้อยกว่าหนึ่งเมตร ยกตัวอย่างคนในครอบครัว ถ้าสามีเป็น ภรรยาก็อาจมีโอกาสติดเชื้อไปด้วย คุณแม่เป็น ลูกก็อาจมีโอกาสติดเชื้อไปด้วย"

 

:: เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนนั้นเป็นบวกจริงๆ ::

"ตอนนี้ฐานข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่รัฐ เนื่องจากถูกกำหนดว่าเป็นโรคระบาดร้ายแรง ทันทีที่โรคติดเชื้อระบาดร้ายแรงถูกตรวจเจอ จะมีการส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบ ทุกคนที่ป่วยแล้วโพซิทีฟ(ติดเชื้อโควิด-19) ตามระบบเขาจะมีชื่ออยู่บนนั้น เราสามารถตรวจสอบได้ว่าจริงหรือไม่จริง

ดังนั้นคนที่เดินเข้ามาในโรงพยาบาลแล้วพูดว่า เพื่อนข้างบ้านไปตรวจแล้วผลเป็นบวก โรงพยาบาลเช็คได้บวกจริงหรือไม่ หรืออาจเป็นแค่ข่าวลือ

อีกกรณีหนึ่งเวลาที่หมอจะสงสัย คือกรณีที่มีคนป่วยหนักๆ คือเป็น ปอดอักเสบ หอบเหนื่อย..เป็นกลุ่ม เป็นเพื่อนกันแล้วไปทำกิจกรรมร่วมกัน ยกตัวอย่างสนามมวย เพื่อนกลุ่มเดียวกัน เป็นปอดอักเสบพร้อมกันทีเดียว 5 คนขึ้นไป คุณหมอจะส่งตรวจ

แต่ถ้าไอ เจ็บคอ ไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง คุณหมอจะถามต่อ มีคนใกล้ตัวเป็นพร้อมกันหลายคนไหม หมอจะเอ็กซเรย์ปอดดูออกซิเจนต่อเนื่องไป ถ้าไม่ได้เป็นถึงระดับปอดอักเสบ ก็อาจจะเป็นแค่ไข้หวัดทั่วไป ซึ่งปกติจะใช้เวลาหาย 3-7 วันอยู่แล้ว ช่วงระหว่างเวลานี้ เราก็ต้องทำตัวป้องกัน ไม่ให้แพร่เชื้อให้คนอื่น ไม่ว่าเราจะเป็นหรือไม่เป็น ทำเหมือนกับว่าเราเป็นก็ยังดี คือป้องกันและตั้งใจไม่แพร่เชื้อเพิ่มให้ใคร"

 

:: ลักษณะอาการปอดอักเสบ ::

“มีหอบเหนื่อย มีไข้ ไอ เริ่มเหนื่อย คุณหมอจะฟังเสียงปอด เหมือนมีน้ำในปอด” 

:: โดยส่วนตัว คุณหมอมีวิธีปฏิบัติตัวเองอย่างไรในสถานการณ์นี้ ::

“ช่วงนี้ทำเหมือนว่าตัวเองป่วยและทุกคนป่วย เรารู้แล้วว่ามีโอกาสที่ทุกคนจะไปคอนแท็คมา และเขาก็อาจจะเป็นพาหะอยู่ เพราะฉะนั้นช่วงนี้ก็หลีกเลี่ยงการที่เราจะอยู่ใกล้กันเกินไป คือการทำโซเชียล ดิสแทนซิ่ง (social distancing)

ที่โรงพยาบาลตอนนี้ส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีการระยะไกล(tele) หลีกเลี่ยงการเข้าห้องประชุมร่วมกันเยอะๆ เนื่องจากเวลาเข้าพื้นที่ปิด มีโอกาสฟุ้งกระจายของสารคัดหลั่ง ก็สวมอุปกรณ์ป้องกัน

ถ้าอยู่โรงพยาบาลจะสวม medical mask (หน้ากากอนามัยทางการแพทย์) แต่ถ้าออกมาข้างนอกก็สวมหน้ากากอนามัยผ้าเพื่อป้องกันละอองฝอยเราออกไปข้างนอก แต่ไม่สามารถป้องกันเข้ามาข้างในได้ วิธีป้องกันคือ เราต้องอยู่ในระยะห่างพอสมควร ไม่ให้คนอื่นมาไอใส่เรา

ถ้าคนอื่นสวมอุปกรณ์ป้องกันเหมือนกัน โอกาสที่เขาจะปล่อยเสมหะโดนเราก็น้อยลงไปอีก

ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน แอลกอฮอล์เจลพกไว้ติดตัวบ้างในกรณีที่เราล้างมือไม่ได้ 

กลับเข้าบ้าน ล้างมือ อาบน้ำ อุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว เช่น โทรศัพท์มือถือ ใช้แอลกอฮอล์เช็ด เพื่อความสบายใจ

158590339436

เราไม่กลัวว่าเราจะป่วยหนัก แต่เรากลัวจะเอาเชื้อโรคไปแพร่ให้คนสูงอายุในบ้าน หรือคนในบ้านที่ป่วยอยู่แล้ว ซึ่งภูมิคุ้มกันไม่เท่าเรา เพราะเราเข้าพื้นที่เสี่ยงทุกวัน ก็พยายามอยู่ห่างๆ กัน กินข้าวก็แยกๆ กันหน่อย เพื่อที่ว่าไม่รู้ฉันจะไปโดนแจ๊คพอตวันไหน คนอื่นจะได้ไม่เดือดร้อน

แต่เอาจริงๆ ไม่ต้องเครียด ภายในระยะเวลาปีครึ่งหรือสองปี ทุกคนจะมีภูมิคุ้มกัน เพราะเป็นเชื้อไวรัสที่ร่างกายจะสร้างภูมิฯ ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรจะค่อยๆ มีภูมิคุ้มกัน แต่ว่ามันจะช้า

เราจึงพยายามทำให้การระบาดช้า ทุกอย่างที่หมอพยายามอธิบายให้ทุกคนอยู่บ้าน ลดความเสี่ยงไม่ให้ระบาดพรวดเดียวทั้งประเทศ เราไม่อยากได้แบบนั้น

ตอนนี้เตียงโรงพยาบาลเต็ม ห้องไอซียูเต็ม เครื่องช่วยหายใจไม่พอ ก่อนหน้านี้ที่โรคจะระบาด เรายังต้องระดมทุนซื้อเครื่องช่วยหายใจ ขอซื้อเตียงโรงพยาบาล ถ้าระบาดจริง จะมีคนป่วยมากกว่านี้ ถ้าป่วยเกินขีดความสามารถที่หมอรับ คงเห็นตัวอย่างในต่างประเทศแล้ว

คนเป็นน้อย(คนติดเชื้อมีจำนวนน้อย) มีระยะเวลาให้หมอรักษา เป็น-หาย-กลับบ้าน ยังมีเวลาให้เวียน แต่ถ้าเป็นตูมเดียวเข้ามา ไม่มีที่ให้นอน อันนี้จะแย่เอา

โรงพยาบาลราชวิถีรับคนไข้โควิด-19 ทุกวัน มีกลับบ้านทุกวันเหมือนกัน แต่คนไข้ปัจจุบันก็ไม่ได้ลด ทุกวันนี้เตียงก็ไม่พออยู่แล้ว เพราะโรคปกติก็ยังดำเนินอยู่ปกติ แต่มีโควิด-19 เพิ่มเข้ามาอีก ภาระยิ่งสูงขึ้นไปอีก

ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ได้ต้องการการดูแลตลอด แต่ถ้าเขาเป็นหนัก เขาต้องการการดูแลระดับไอซียู ยิ่งเป็นโรคติดเชื้ออีก เขาต้องการทรัพยากรเยอะมาก ต้องการห้องที่ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เครื่องกรองอากาศ เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งมีอยู่จำกัด ยิ่งถ้าทุกคนต้องอยู่แยกกัน ทุกคนต้องใช้อุปกรณ์ส่วนตัวเพื่อไม่ให้เกิดการระบาด

เมื่อก่อนถ้าเป็นโรคทั่วไป ไม่ใช่การระบาด อุปกรณ์ใช้เวียนกันไปได้ แต่อันนี้ทำไม่ได้แบบนั้น ก็พยายามุทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้ระบาด หมอมีหน้าที่รักษา ยังไงหมอก็รักษาอยู่แล้ว แต่ถ้าทุกคนช่วยกันไม่ให้ระบาดก็จะดีมาก”

-----------------

ภาพ : TK Park