"3 ฟู้ดเทค" เสริมสร้างสุขภาพสู้โควิด-19!

 "3 ฟู้ดเทค" เสริมสร้างสุขภาพสู้โควิด-19!

วิทยาศาสตร์ฯ มธ.เสริมสร้างสุขภาพสู้โควิด-19! โชว์ “3 ฟู้ดเทค”  “ผงปรุงรสล็อบสเตอร์” “ดิปปิ้งชีสซอสโปรตีนสูงจากเมล็ดถั่วพู” “พุดดิ้งผงกึ่งสำเร็จรูปจากกระเจี๊ยบเขียว”ยกระดับวัตถุดิบทางการเกษตร

ผศ. ดร. ณัฐธนนท์ หงส์วริทธิ์ธร คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หรือ SCI-TU กล่าวว่า ประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพ ด้านอุตสาหกรรมอาหารแถวหน้าของโลก ด้วยการเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบและพืชผลทางการเกษตรคุณภาพ สำหรับการแปรรูปและส่งออกจำนวนมาก

ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างมิติใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารไทยได้แจ้งเกิดในตลาดโลกยิ่งขึ้น SCI-TU จึงมีนโยบายในการผสานองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ากับศาสตร์ความรู้ด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะหลักการตลาดและการดำเนินธุรกิจ ภายใต้แนวคิด “SCI+BUSINESS” เพื่อหล่อหลอมบัณฑิตให้สามารถเป็น นักวิทย์คิดแบบผู้ประกอบการ

158590473797

คณาจารย์และนักศึกษา SCI-TU สามารถสร้างสรรค์ “3 ฟู้ดเทค” (Food Tech) ที่สะท้อนถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงยกระดับพืชผลทางการเกษตรของไทย จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและระดับประเทศ อีกทั้งยังเสริมสร้างสุขภาพสู้โควิด-19 (COVID-19) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ผงปรุงรสล็อบสเตอร์ ผู้ช่วยเชฟมือหนึ่งเพื่อรังสรรเมนูมื้อพิเศษ (Lobster-Xanthin) : สร้างมูลค่าเพิ่ม Food Waste สู่ ผงปรุงรสพรีเมียมเกรด แคลเซียมสูง โซเดียมต่ำ ผงปรุงรสสำเร็จรูปอเนกประสงค์ ครบครันด้วยโภชนาการทางอาหาร ที่เกิดจากแคลเซียมและแอสตาแซนทินซึ่งสารสกัดสีแดงช่วยออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของร่างกายได้

ด้วยเทคนิคการแยกสารสกัดสำคัญและเทคนิคการปรุงแต่งรสชาติ ที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์ “ยิ่งปรุง ยิ่งอร่อย ยิ่งดีต่อสุขภาพ” เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร และแม่บ้านยุคใหม่ที่ต้องการเสริมเสน่ห์ปลายจวัก ด้วยการใช้ผงปรุงรสเติมแต่งมื้ออร่อยในหลากรูปแบบ ทั้งการคลุกเคล้ากับของทอด และโรยบนข้าวสวย โดยนวัตกรรมดังกล่าว สามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง ในเวทีประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ (SIIF 2019) ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ได้สำเร็จ อีกทั้งได้รับการจดอนุสิทธิบัตร ตลอดจนมีความพร้อมผลิตและจัดจำหน่ายสู่เชิงพาณิชย์

158590473838

ดิปปิ้งชีสซอสโปรตีนสูงจากเมล็ดถั่วพู ไม่มีคอเลสเตอรอล เอาใจสายวีแกน (Vegan Cheese) : ทรานส์ฟอร์มพืชผลทางการเกษตร สู่โปรตีนแห่งอนาคต ผลิตภัณฑ์ชีสซอสโปรตีนสูงจากเมล็ดถั่วพู ทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภควีแกน ที่มาพร้อมประโยชน์ที่มากกว่า Daily free soy free ไม่มีส่วนผสมของนมจากสัตว์ และ 0% คอเลสเตอรอล

ตอบโจทย์ผู้บริโภคสายวีแกน ช่วยเพิ่มทางเลือกในการบริโภคกับผลิตภัณฑ์มากคุณประโยชน์ผ่านกระบวนการผลิตที่คัดสรรอย่างเหมาะสม อาทิเช่นเทคนิคการกลบกลิ่นรส หรือเพิ่มเนื้อสัมผัสภายในปากให้ความรู้สึกหอมชีสและกินเพลิน ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว สามารถคว้า 3 รางวัลใหญ่ ได้แก่ รางวัล Grand Prize เป็นตัวแทนประเทศไทยเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศ รางวัลชนะเลิศ และรางวัล Popular Vote จากเวทีประกวด Food Innopolis Innovation Contest 2020

158590473174

พุดดิ้งผงกึ่งสำเร็จรูป กลืนง่าย ช่วยขับถ่ายคล่อง (O-Krajeab) : ยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่น สู่ขนมทานง่าย ดีต่อสุขภาพ พุดดิ้งสำเร็จรูปผสมเมือกกระเจี๊ยบเขียวชนิดผงรสน้ำนมถั่วเหลือง จากการศึกษาวิจัยถึงสรรพคุณของกระเจี๊ยบเขียวที่มีใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระจากกระเจี๊ยบเขียว ที่มีสารสำคัญช่วยต้านสารอนุมูลอิสระที่ทำลายเซลล์มนุษย์ 

ช่วยเสริมสร้างเซลล์ในร่างกายให้แข็งแรง มีใยอาหารที่ดีต่อการขับถ่าย และมีส่วนช่วยลดน้ำตาลในเลือด จึงเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการขับถ่ายและอาหารสำลักรวมถึงการปรับรูปแบบการทานพุดดิ้งเป็นชนิดผงดังนั้น จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถทานง่าย แถมพกพาสะดวก โดยล่าสุด นวัตกรรมดังกล่าว สามารถคว้า 2  รางวัล ได้แก่ “รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1” และ “รางวัลนำเสนอยอดเยี่ยม” จากเวทีประกวด Food Innopolis Innovation Contest 2020 มาครองได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าว เป็นผลการดำเนินการให้คำปรึกษาวิจัยของ ดร.สุธีรา วัฒนกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ในการพัฒนาสูตรและทดสอบการยอมรับของผู้บริโภค อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ร่วมกับทีมคณาจารย์สาขา

158590473777

ทั้งนี้ นอกเหนือจากนวัตกรรมอาหารแล้ว SCI-TU โดยสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ยังพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาธุรกิจอาหารในมิติต่าง ๆ อาทิ นวัตกรรม เทคโนโลยี สูตรและกระบวนการผลิต และโครงการ ค้นหารสชาติที่ถูกใจผู้บริโภคด้วยการประเมินคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารทางประสาทสัมผัส การเสนอแนะ SMEs พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัส 

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ โปรเจค “ทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารทางประสาทสัมผัส สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ดร.สุธีรา วัฒนกุล สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร โทร. 080-420-9696 หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/Foodsciencetu หรือ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 และ www.facebook.com/ScienceThammasat

158590487473