‘ดื่มช่วงล็อคดาวน์’ ลดเครียด หรือเพิ่มความรุนแรง?

‘ดื่มช่วงล็อคดาวน์’ ลดเครียด หรือเพิ่มความรุนแรง?

ในช่วงที่ชีวิตผู้คนทั่วโลกกำลังสุ่มเสี่ยงเพราะไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ระบาด การล็อคดาวน์เป็นมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้ ระหว่างนั้นบางประเทศห้ามขายแอลกอฮอล์ บางประเทศมองว่าร้านขายสุราเป็นบริการที่จำเป็น

ผู้นำประเทศคนหนึ่งถึงขนาดแนะนำว่า การดื่มหลังจากติดอยู่ในบ้านมาทั้งวันเป็นสิ่งจำเป็นในการฟื้นฟูจิตใจ

การถกเถียงกันเรื่องแอลกอฮอล์กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าครอบคลุมทั้งประเด็นสุขภาพ เศรษฐกิจ ความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงการดื่มไวน์สักแก้วอาจช่วยรับมือกับความเครียด ช่วงที่ชีวิตพลิกผันนานหลายสัปดาห์ได้จริงหรือไม่

ภาพความแตกต่างในประเด็นนี้เห็นได้จากตำรวจแอฟริกาใต้ใช้กำลังรุนแรงห้ามขายแอลกอฮอล์ทุกชนิดในช่วงชัตดาวน์ แต่ในอเมริกาเหนือและยุโรปหลายประเทศ ร้านขายแอลกอฮอล์ยังเปิดให้บริการตามปกติแถมลูกค้าหนาแน่น เพราะได้รับอนุญาตให้เปิดได้เช่นเดียวกับซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายยา

ในแคนาดา ที่ร้านกัญชาถูกกฎหมายก็ยังเปิดให้บริการได้ ฟรังซัวส์ เลอโกลต์ นายกรัฐมนตรีรัฐควิเบกตัดสินใจให้ขายแอลกฮอล์ได้ต่อไป ความเคลื่อนไหวนี้สร้างความยินดีปรีดาให้กับลูกค้า แต่ถูกสหภาพแรงงานวิจารณ์หนักด้วยกังวลเรื่องสุขภาพพนักงานในร้าน ซึ่งเลอโกลต์ก็ชี้แจงถึงการตัดสินใจเช่นนี้

“เพื่อลดความเครียด คุณต้องออกกำลังกายบ้าง ไปเดินเล่น แต่บางครั้งไวน์สักแก้วอาจช่วยคุณได้” นายกฯ ควิเบกกล่าว

ชาวแคนาดานั้นแตกต่างประชาชนมากมายในโลก ตรงที่ไม่ถูกสั่งล็อคดาวน์อย่างเป็นทางการ แต่ขอความร่วมมือให้อยู่กับบ้านและเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งนี่มากพอทำให้ยอดขายแอลกอฮอล์สูงขึ้น

“ทุกคนรู้สึกเหมือนเป็นวันศุกร์หรือวันเสาร์ตลอดเวลา” แคเธอรีน พาราดิส นักวิเคราะห์จากศูนย์การใช้สารเสพติดแห่งแคนาดาให้ความเห็น

ด้านโฆษกสมาคมแอลกอฮอล์แห่งควิเบก (เอสเอคิว) บรรษัทของรัฐที่ปีที่แล้วมีรายได้สุทธิ 1,146 ล้านดอลลาร์แคนาดา กล่าวว่า ผู้บริโภคแห่กันไปร้านค้าเหมือนกับช่วงสัปดาห์ก่อนคริสต์มาส ขณะที่ยอดขายออนไลน์ก็พุ่งถึงขีดสุดไม่แพ้กัน

สำหรับภาพรวมทั่วประเทศ พาราดิสชี้ว่า การปิดร้านขายแอลกอฮอล์อาจตัดรายได้ของรัฐบาลลงไปมาก ประเมินว่า รายได้ส่วนนี้อยู่ที่ราว 411 ดอลลาร์แคนาดาต่อคนต่อปี

ที่พรมแดนอีกฝั่งหนึ่ง ณ นครนิวยอร์ก ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของสหรัฐ ก็จัดให้ร้านขายสุราและไวน์เป็นธุรกิจที่จำเป็นด้วย

สมาคมร้านค้าสุรานิวยอร์กยืนยันว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สเตฟาน คาลอจริดิส ประธานสมาคมเผยว่า มองในแง่นี้ย่อมเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สำหรับคนที่ติดสุรา ผลข้างเคียงของการหยุดแอลกอฮอล์กะทันหัน อาจมีทั้งตัวสั่น นอนไม่หลับ และคลื่นไส้

แอนน์ เอลิซาเบธ ลาพอยต์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันการเสพติดในมอนทรีออล กล่าวว่า อาการเหล่านี้จะยิ่งสร้างปัญหารุนแรงขึ้นโดยเฉพาะกับคนที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ยิ่งอันตรายมากๆ

หรือแม้แต่ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลางส่วนใหญ่ การปิดร้านขายสุราอาจนำไปสู่ความตึงเครียดและกระวนกระวายมากขึ้นได้

ทั้งนี้ ตั้งแต่ไวรัสโคโรน่าเริ่มระบาดแอลกอฮอล์ยังตอบสนองวัตถุประสงค์อื่นด้วย ในฝรั่งเศส ร้านค้าไวน์ยังคงเปิด เพอร์นอต ริคาร์ด และบาคาร์ดี เป็นบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่เจ้าแรกๆ ที่หันมาผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ

เช่นเดียวกับในโปแลนด์ วอดก้าและแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่ลักลอบผลิตเกือบ 5 แสนลิตร ถูกใช้เป็นยาฆ่าเชื้อแทนที่จะนำไปทำลายทิ้ง

แม้แต่ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก แห่งเบลารุส ยังแนะนำให้ดื่มวอดก้า 1 แก้วขนาด 100 มิลลิลิตร หลังจากไปซาวนา เป็นยาวิเศษสำหรับไวรัสโคโรน่า

แต่ในขั้วตรงข้ามกัน แคร์รี หล่ำ หัวหน้าคณะบริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ห้ามร้านอาหารและบาร์ทุกแห่งเสิร์ฟแอลกอฮอล์ โดยให้เหตุผลว่าการหาดื่มง่ายจะทำลายการเว้นระยะห่างทางสังคม

“หลายครั้งที่ผู้คนรู้สึกเป็นกันเองเวลาดื่ม ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ” ผู้บริหารฮ่องกงให้เหตุผล

ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านการเสพติดอย่างพาราดิสกล่าวด้วยว่า บางครั้งความเสี่ยงที่มากกว่านี้ผลพวงจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปคือความรุนแรงในครอบครัวที่อยู่ระหว่างล็อคดาวน์ และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ

เพื่อลดความเสี่ยงนี้ กรีนแลนด์จึงสั่งห้ามขายแอลกอฮอล์ในกรุงนุกเป็นการชั่วคราว