ฟิทช์ หั่นเครดิตแบงก์กรุงเทพ เป็นระดับ BBB หลังเจอพิษโควิด-ศก.ชะลอตัว

ฟิทช์ หั่นเครดิตแบงก์กรุงเทพ เป็นระดับ BBB หลังเจอพิษโควิด-ศก.ชะลอตัว

ฟิทช์ หั่นเครดิตธนาคารกรุงเทพ จาก BBB+ เป็น BBB หลังเจอผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบกับกับการดำเนินงานของธนาคารที่อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็น ‘BBB’ จากเดิม ‘BBB+’ และคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ และปรับลดอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ เป็น ‘BB+ ‘ จาก ‘BBB’ และยกเลิกสถานะ “อยู่ระหว่างสังเกตุการณ์ผลกระทบจากการปรับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต” (Under Criteria Observation)

ทั้งนี้การที่ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิตของ BBL สะท้อนถึงความท้าทายของสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสที่กระจายไปในวงกว้าง โดยผลกระทบดังกล่าวได้เพิ่มแรงกดดันต่อสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานของธนาคารที่อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและทั่วโลกที่ซบเซา แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการผ่อนปรนเพื่อช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ แต่มาตรการเหล่านี้ไม่น่าจะหักล้างความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อลูกหนี้ที่มีฐานะทางการงินที่อ่อนแอหรือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางได้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของธาคารไทยสามารถดูได้จาก “Coronavirus Outbreak Increases Challenges for Thai Banks’ Operating Environment” ลงวันที่ 2 เมษายน 2563

ขณะที่ระยะเวลาและแนวโน้มความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดของโคโรน่าไวรัส ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งตามสมมติฐานกรณีฐานของฟิทช์นั้นคุณภาพของสินทรัพย์รวมถึงผลการดำเนินงานของ BBL อาจได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในปี 2562 โดยนอกจากระดับค่าใช้จ่ายการสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่อาจเพิ่มขึ้นแล้ว รายได้ของธนาคารก็อาจจะปรับตัวลดลงจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำรวมถึงรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ชะลอตัว อีกทั้งฐานะเงินกองทุนที่จะอ่อนแอลงจากการเข้าซื้อกิจการธนาคาร PT Bank Permata Tbk (Permata: AAA(idn)/เครดิจพินิจเป็นลบ) ในประเทศอินโดนีเซีย

ส่วนปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL พิจารณาจากโครงสร้างเครดิตของตัวธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนในอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิมีสถานะเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคารซึ่งมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคาร

ทั้งนี้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตและรวมการพิจารณาโครงสร้างด้านการระดมทุนและสภาพคล่องของธนาคารที่ระดับ ‘bbb+’ การคงอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ต่อโครงสร้างเครดิตของ BBL ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศแม้ว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารจะถูกปรับลดอันดับลง

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านธุรกิจรายใหญ่และกิจการธนาคารต่างประเทศ นอกจากนี้อันดับเครดิตยังสะท้อนมุมมองของฟิทช์ต่อสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่จะอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากการชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจไทย อันดับเครดิตยังรวมถึงความเชื่อของฟิทช์ว่ากำไรของธนาคารจะอ่อนตัวลงจากอุปสรรคต่างๆ ดังที่กล่าวมา รวมทั้งการด้อยคุณภาพของสินทรัพย์น่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การซื้อกิจการ Permata อาจทำให้ BBL ต้องเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของกำไรที่มากขึ้นในระยะกลางจากการเพิ่มสัดส่วนความเสี่ยงของธนาคารจากธุรกิจที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมการดำเนินงานที่ด้อยกว่า

ส่วนการซื้อกิจการ Permata น่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 โดยอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1: CET1) น่าจะปรับตัวลดลงประมาณ 3% หลังจากธุรกรรมเสร็จสิ้น โดยธนาคารคาดว่าจะทยอยเพิ่มเงินกองทุนให้กลับขึ้นมาจากกำไรสะสมของธนาคารแต่อย่างไรก็ตามภายใต้สภาวะแวดล้อมการดำเนินงานที่ท้าทายน่าจะกดดันความสามารถในการสะสมเงินกองทุนของธนาคารอย่างน้อยในช่วงระยะสั้น ดังนั้นฟิทช์จึงเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่การปรับตัวเพิ่มขึ้นของฐานะเงินกองทุนจะเป็นไปได้ช้ากว่าที่คาด

โดย BBL ยังคงมีโครงสร้างเครดิตที่ดีกว่าและมีความสามารถในการรองรับผลกระทบเชิงลบที่มากกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่าและอยู่ในสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานในระดับเดียวกัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยลดแรงกดดันเชิงลบต่ออันดับเครดิตของธนาคารในช่วงระยะเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า โดยสภาพคล่องของธนาคารและอัตราส่วนการสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Loan Loss Coverage Ratio) ที่สูงกว่าธนาคารอื่นน่าจะสนับสนุนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นจากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงาน

ขณะที่ราคาหุ้น BBL ปิดตลาดภาคเช้าอยู่ที่ระดับ 95.00 บาท ลดลง 2.25 บาท หรือ 2.31% มูลค่าการซื้อขายรวม 486 ล้านบาท