'เลิกจ้าง' แบบไหนเรียก 'ไม่เป็นธรรม'

'เลิกจ้าง' แบบไหนเรียก 'ไม่เป็นธรรม'

ทำความเข้าใจ "การเลิกจ้าง" รวมทั้งการ "ให้ออกจากงาน" นั้นตามข้อกฎหมายมีหลักปฏิบัติอย่างไรบ้าง แล้วแบบไหนกันที่เรียกว่า "เลิกจ้างไม่เป็นธรรม"

ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ขาดสภาพคล่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ทำให้เรามักเห็นข่าวการปลด ลดจำนวนพนักงานมากขึ้น 

โดยเหตุผล ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม นั้นถูกหยิบขึ้นมากล่าวถึงในหลายๆ กรณี "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงชวนมาทำความรู้จักกันก่อนว่า "การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม" ถูกบัญญัติไว้อย่างไร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 บัญญัติ ว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยให้ ศาลคำนึงถึงอายุของ ลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อ ถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา”

158605075083

สรุปได้ว่า "การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม" ตาม พรบ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ไม่ได้ระบุว่าลักษณะใดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เพียงแต่จะเป็นการพิจารณาจาก อายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ

เราอาจจะมีความสงสัยว่าหน้าที่ และอำนาจที่แท้จริงของศาลแรงงานมีอะไรบ้าง
ตามพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ในมาตรา 8 ระบุว่า ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

(2) คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์

(3) กรณีที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์

(4) คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือรัฐมนตรีตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์

(5) คดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน

(6) ข้อพิพาทแรงงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอให้ศาลแรงงานชี้ขาดตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์

คดีตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์บัญญัติให้ร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้จะดำเนินการในศาลแรงงานได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้แล้ว
158605077659
สรุปคือ ศาลแรงงาน มีหน้าที่พิจารณาคดีที่เกี่ยวกับแรงงาน ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามสัญญาจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง คดีที่เกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรือไม่มีเหตุอันสมควร ลูกจ้างมีสิทธิดังต่อไปนี้ คือ

1.ค่าชดเชย กรณีเลิกจ้าง สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วันขึ้นไป ส่วนจะได้รับในอัตราเท่าไร ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน ตามมาตรา 118 ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2562

2.ค่าชดเชยพิเศษ กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ

3.ค่าชดเชยพิเศษ กรณีนายจ้างปรับปรุงหน่วยงานโดยนำเครื่องจักรมาแทนกำลังคน

4.สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งกำหนดให้ทราบล่วงหน้า

5.ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

158605091410

หมายเหตุ: สำหรับการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายจ้าง ขอให้ลูกจ้างศึกษาข้อมูลกฎหมายและปรึกษานักกฎหมายที่มีคุณธรรมก่อนที่จะทำสัญญา เพราะหากผิดพลาดจะทำให้เสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับ

อ้างอิง:
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2562