“กกพ.” เพิ่มงบกองทุนพัฒนาไฟฟ้า1.5พันล.หวังสู้โควิด-19

“กกพ.” เพิ่มงบกองทุนพัฒนาไฟฟ้า1.5พันล.หวังสู้โควิด-19

“บอร์ด กกพ.” เห็นชอบ เพิ่มงบกองทุนพัฒนาไฟฟ้ากว่า 1,500 ล้านบาท หวังช่วยรัฐบาลแก้ไขโควิด-19 เร่งดันเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะ โฆษก กกพ. เปิดเผยว่า หลังจากที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้เพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน  2550 มาตรา 97(3) หรือ กองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปีงบประมาณ 2563 อีกจำนวน 1,546.32 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิมที่ 2,494 ล้านบาท  เพื่อช่วยเหลือภัยแล้ง และการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากแล้ว

ขณะเดียวกัน กกพ. ยังได้ขยายขอบเขต วัตถุประสงค์การใช้เงิน ส่งผลให้คณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำโครงการที่ดี มีความคุ้มค่า และสามารถทำงานได้คล่องตัวมากขึ้นด้วย

 “หวังว่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งภัยแล้งให้กับพี่ น้อง ประชาชน”

158579940937

ทั้งนี้ เพื่อให้รวดเร็ว และทันต่อการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  การประชุมบอร์ด กกพ. ในวันที่ 1 เมษายน 2563 ยังมีมติเห็นชอบแนวทางปฏิบัติสำหรับการพิจารณาให้คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า(คพรฟ.) มีอำนาจอนุมัติโครงการชุมชน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข ในการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อจากไวรัสโควิด 19 ภายใต้กรอบงบประมาณเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ดังต่อไปนี้

1.โครงการที่มีลักษณะเป็นการจัดซื้อยา การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งเวชภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขในการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19

2.โครงการที่มีลักษณะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุที่ใช้ในการป้องกัน ควบคุม หรือรักษา โรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 รวมทั้ง การดำเนินการอื่นใด ตามมาตรการของภาครัฐเพื่อการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

158588795462

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการผ่อนคลายการพิจารณา เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น สำนักงาน กกพ. ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณาโครงการโดยตระหนักถึงความคุ้มค่า และคำนึงถึงกระบวนการการตรวจสอบตามหลัง ซี่งยังจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดเช่นเดิม