ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกบ้าน ธุรกิจขานรับไม่กระทบผลิต-โลจิสติกส์

ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกบ้าน ธุรกิจขานรับไม่กระทบผลิต-โลจิสติกส์

ออกคำสั่ง เคอร์ฟิว ทั่วประเทศ ห้ามออกนอกบ้าน "4 ทุ่มถึงตี 4" ธุรกิจขานรับไม่กระทบผลิต - โลจิสติกส์ สธ.ชี้กลุ่มเดินทางเข้าประเทศ ต้นเหตุยอดป่วยยังพุ่ง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ณ ปัจจุบันยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วานนี้(2 เม.ย.) ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้พูดถึงมาตรการต่างๆ ภายหลังการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากยังคงปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปเช่นเดิมอาจมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

ทำให้นายกรัฐมนตรี อาจต้องบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เต็มรูปแบบ ตามข้อเสนอจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง(ศปม.) โดยเฉพาะ การประกาศเคอร์ฟิว หรือห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานทั่วประเทศในช่วงเวลาประมาณ 22.00 -04.00 น. โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (3 เม.ย.)

ประกาศ “เคอร์ฟิว” มีผลวันนี้

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ออกข้อกำหนดฉบับที่ 2ระบุแนวทางปฏิบัติ3ข้อคือ 1 ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกจากเคหสถานระหว่าง 22.00-04.00 น. เว้นมีความจำเป็นหรือเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หนังสือพิมพ์ การขนส่ง น้ำมันเชื้อเพลิง การขนส่งพัศดุภัณฑ์ การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก การขนย้ายประชาชนไปสู่เอกเทศเพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ โดยมีเอกสารรับรองความจำเป็น ผู้ใดฝ่าฝืนข้อนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน2ปีหรือปรับไม่เกิน40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ 2 ในกรณีที่มีการประกาศหรือสั่ง ห้าม เตือนหรือแนะนำในลักษณะข้อ1 วรรคหนึ่ง สำหรับจังหวัด พื้นที่หรือสถานที่ใดโดยกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนไขที่เวลาเข้มงวดหรือเคร่งครัดกว่ากำหนดข้อกำหนดนี้ ให้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้นต่อไปด้วย และข้อ3 ในกรณีที่ไม่อาจเคลื่อนย้ายบุคคลใดซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเพื่อออกไปนอกราชอาณาจักรได้ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพจัดที่เอกเทศเพื่อควบคุมหรือกักกันบุคคลดังกล่าวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามเงื่อขและระยะเวลาที่กำหนด

นายกฯชี้้ต้องสู้แบบไม่ขาดแคลน

จากนั้นเวลา18.00 น.นายกฯ แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ว่า ขอรายงานความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ของศูนย์ฯ 1. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ขอยืนยันว่าเรามียาที่จำเป็นในการรักษาอย่างเพียงพอและมีแผนการจัดหาเพิ่มเติมจากต่างประเทศ นอกจากนั้น เรายังมีความพร้อมในเรื่อง เตียง นอกจากนี้ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ รัฐบาลถือว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินดังนั้น จะมี 3 กองทุนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม และกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้

“ผมในฐานะแม่ทัพจะไม่ยอมให้กำลังของเราต้องต่อสู้ภายใต้ความขาดแคลน”
2.ด้านป้องกันและช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการรักษาความมั่นคง โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ จำกัดการเดินทาง -การเคลื่อนย้ายคน และจำกัดการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ในพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาดต่างๆ พร้อมกันนี้ตนได้ออกประกาศข้อกำหนดฉบับที่2 โดยห้ามออกจากบ้าน 22.00-04.00 น. ซึ่งต้องขอให้พี่น้องประชาชนอย่าตื่นตระหนก และไม่ต้องกักตุนสินค้า อาหาร เพราะท่านยังสามารถออกมาซื้อหาข้าวของในช่วงกลางวันได้ตามปกติ

3. ด้านการควบคุมสินค้า ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน และศูนย์ปฏิบัติการควบคุมสินค้า สำหรับสินค้าที่กักตุนนั้นขอย้ำว่ารัฐบาลจะใช้กฎหมายเข้มงวดแทั้งนี้ การกักตุนสินค้ามีอัตราโทษสูง จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4.ด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ออกมาตรการอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระและบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น

และ5.ด้านการต่างประเทศ โดยศบค. ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศโดยยกระดับการคัดกรองผู้เดินทางเข้าออกประเทศ อย่างเข้มงวด ไม่ให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เติมเข้ามาอีก โดยเป้าหมายร่วมกันของเรา คือ การขจัดโรคภัยและเชื้อร้ายนี้ ให้ได้โดยเร็วที่สุด

ชะลอเข้าปท.15วันสกัดแพร่เชื้อ

ด้านนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์ศบค. แถลงข่าว สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประจำวันว่า ว่า ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 104 ราย รวมยอดสะสม 1,875 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็น 15 ราย

ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศตั้งแต่ 1 มี.ค. -1 เม.ย.พบว่า คนไทยที่ไปประชุมที่อิตาลี จำนวน 6 คนติดเชื้อ 4 คน ผู้ติดเชื้อสัมผัสเพิ่ม 1 Quarantine 50 คน ศาสนากิจที่มาเลเซีย (29ก.พ.-2 มี.ค.) จำนวน132 คน ติดเชื้อ 47 คนเสียชีวิต 4 คน Quarantine 1,000 +คน ศาสนกิจที่อินโดนีเซีย จำนวน 56 คน ติดเชื้อ 32 คน (ครั้งล่าสุดจำนวน 27 คน ติดเชื้อ19 คน ) Quarantine 500 +คน ผู้เดินทางจากอังกฤษ ติดเชื้อ 4 คน เสียชีวิต 1 (นักธุรกิจ)Quarantine 200+คน ผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อ ป่วยแต่ปกปิดอาการ และผู้เดินทางจากกัมพูชา เชื่อมโยงด่านปอยเปต ติดเชื้อ 19 คน Quarantine 300+คน

อย่างไรก็ดีในการประชุมคณะกรรมการศบค.ได้มีมติให้ชะลอการเดินทางของคนไทยและคนต่างชาติที่จะเดินทางมายังประเทศไทย ตั้งแต่วันที่2เม.ย.- 15 เม.ย. ยกเว้นคนที่ขออนุญาตมาก่อนหน้านี้ และคนที่มีความจำเป็นที่ต้องกลับมา ให้ติดต่อสถานทูตของประเทศนั้นๆ

สธ.ชี้กลุ่มเสี่ยงกลับจากตปท.

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการชะลอการเข้าประเทศของคนไทยและต่างชาติจากต่างประเทศ ว่า คนเดินทางจากต่างประเทศมีความเสี่ยง เพราะมีโรคระบาด มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขสนอ คือ จะมีการเฝ้าระวังดูอาการก่อนขึ้นเครื่องบินกลับมา อย่างที่บอกตอนต้น ให้มีการกักตัว ดูอาการ 14 วันว่าไม่ป่วย ไม่มีไข้ก่อนขึ้นเครื่องถึงเดินทางได้ หากเริ่มป่วยรักษาให้หายก่อน เพราะการเดินทางขณะป่วยเป็นความเสี่ยง

“ปัจจุบันมีกว่า 200 ประเทศแล้วที่มีรายงานผู้ป่วย และอยู่ระหว่างการแพร่ระบาด ไม่ว่าประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าไทย หรือตัวเลขผู้ป่วยน้อยกว่าไทยก็ใช้นโยบายเดียวกันเพื่อลดความเสี่ยง”นายแพทย์โสภณกล่าว

ส.อ.ท.ชี้ไม่กระทบภาคอุตฯ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากมาตรการเคอร์ฟิวทั่วประเทศระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. มองว่าไม่น่าจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมมากนัก เพราะโรงงานที่มีการผลิตในกะกลางคืนปรับตัวได้ไม่ยาก ส่วนการขนส่งก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะรัฐบาลได้ยกเว้นกฎหมายห้ามรถบรรทุกวิ่งในช่วงกลางวันเป็นการชั่วคราว ทำให้รถขนส่งสินค้า และวัตถุดิบต่างๆมาวิ่งในช่วงกลางวันได้ และในช่วงนี้ถนนหนทางก็ว่างขึ้น

“การประกาศเคอร์ฟิวในแบบนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม มองว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น ก็น่าจะเพิ่มมาตรการให้เข้มงวดขึ้นกว่านี้ เพื่อควบคุมโรงระบาดนี้ให้ได้ในเวลาที่รวดเร็ว”

เคอร์ฟิวไม่ผลกระทบอสังหาฯ

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ประเมินว่า การที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันนี้ (3 เม.ย.) จะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาฯมากนัก แม้ว่าโดยปกติในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีการขนย้ายวัสดก่อสร้าง เนื่องจากปัจจุบันตลาดอสังหาฯได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะตัว ทำให้ธุรกิจอสังหาฯ ชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ลงเป็นจำนวนมากดังนั้นการขนส่งวัสุดก่อสร้างจึงไม่ใช่เป็นเรื่องเร่งรีบ สามารถปรับเปลี่ยนระยะเวลาในการขนส่งได้

“ในช่วงที่ผ่านมาอสังหาฯทุุกประเภทชะลอการก่อสร้าง เพื่อควบคุมดีมานด์และซัพพลายให้เหมาะสม ดังนั้นการประกาศเคอร์ฟิวจึงไม่ได้ส่งผลกระทบมากเหมือนกับธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่หากสามารถทำให้สกัดการแพร่ระบาดของโรคได้ก็จำเป็นต้องทำ”

“สหพัฒน์” แจงไม่กระทบส่งสินค้า

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาลถือว่ามีความชัดเจนมาก เนื่องจากยกเว้นให้กับการส่งขนส่งสินค้าและบริการยังดำเนินการได้ปกติ ทำให้ผู้ประกอบการส่งสินค้าในช่วงเวลากลางคืน ไปยังศูนย์กระจายสินค้าของช่องทางจำหน่ายต่างๆ เติมเต็มสินค้าได้ ส่วนกลางวันผู้บริโภคยังใช้ชีวิตและจับจ่ายใช้สอยได้ปกติ จึงไม่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ

“รัฐบาลประกาศชัดเจนมากเกี่ยวกับมาตรการเคอร์ฟิว และการส่งสินค้าค้าได้รับการยกเว้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดี ดังนั้นในฐานะซัพพลายเออร์เราไม่ต้องหามาตรการใดมารับมือเป็นพิเศษ”
หนุนหยุดระบาดเร็วที่สุด

นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการเคอร์ฟิวของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มากขึ้น เพราะสิ่งเดียวที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันในตอนนี้คือหยุดการระบาดให้เร็วที่สุด โดยหน่วยงานรัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นเพื่อให้เห็นผลจริงด้วย

“ชลบุรี-พังงา”รัฐสั่งปิดโรงแรม

นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวเสริมว่า ได้รับรายงานว่า จังหวัดชลบุรีมีคำสั่งวานนี้ (2 เม.ย.) ให้ปิดโรงแรมและสถานประกอบการในลักษณะเดียวกัน มีเงื่อนไขให้โรงแรมนั้นๆ ออกมาตรการดูแลลูกจ้างต่อ ไม่ให้ลูกจ้างออกจาก จ.ชลบุรี ส่วนโรงแรมที่ยังมีแขกอยู่ ต้องแจ้งท้องที่ภายใน 3 วันว่าจะปิดหรือจะเปิดต่อไป
ด้านจังหวัดพังงาได้ประกาศปิดโรงแรม รีสอร์ท หรือสถานที่อื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

“สมาคมฯยังได้รับรายงานมาด้วยว่าในวันนี้ (3 เม.ย.) จะมีประกาศปิดโรงแรมในอีกอย่างน้อย 2 จังหวัด โดยโรงแรมที่รัฐเป็นผู้สั่งปิดกิจการชั่วคราว ก็จะเข้าข่ายแนวทางการได้รับความช่วยเหลือลูกจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จากสำนักงานประกันสังคมซึ่งจะเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยการว่างงานจากเหตุสุดวิสัยแก่ลูกจ้างโรงแรม ตามเวลาที่ทางจังหวัดนั้นๆ ประกาศ”