ประกาศเคอร์ฟิว พิษโควิด 'ดีเอสไอ-ป.ป.ช.' กักตัวนับร้อย

ประกาศเคอร์ฟิว พิษโควิด 'ดีเอสไอ-ป.ป.ช.' กักตัวนับร้อย

คุมเข้มทั่วประเทศ นายกฯประกาศเคอร์ฟิว ผบ.ทบ.สั่งตั้งด่านตรวจ พิษโควิด "ดีเอสไอ-ป.ป.ช." กักตัวนับร้อย ตม.สั่งกัดตัวเจ้าหน้าที่ใกล้ชิดชายดับคารถไฟ ภูเก็ตดำเนินคดีเด็ดขาดปาร์ตี้เย้ยพ.ร.ก.

ภายหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ลงนามประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 2 ตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เนื้อหาสำคัญคือห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00-04.00น.มีผลตั้งแต่วันที่3เม.ย.เป็นต้นไป

ท่าทีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว อาทิในส่วนของกองทัพบก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เพื่อรับฟังสถานการณ์ประจำวันและการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 พร้อมเน้นย้ำการให้เตรียมกำลังจัดตั้งด่านตรวจ ขอให้พร้อมปฏิบัติเมื่อสั่ง ในการปฏิบัติเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน หลังจากที่นายกฯแถลงประกาศเคอร์ฟิว

พร้อมเน้นย้ำข้อสั่งการไปยังกำลังพลภายหลังทหารหญิงสังกัดกรมสารบรรณทหารบก ติดเชื้อโควิด-19 และพักอาศัยในแฟลตทหาร เรื่องตั้งจุดตรวจ ในพื้นที่แฟลตส่วนกลางทั้ง 10 แห่งสำหรับมาตรการให้กำลังพลกลับที่พักอาศัยก่อนเวลา 21.00 น. สนับสนุนนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” นั้น ผู้บัญชาการทหารบก ได้กำชับให้ดำรงความเข้มงวดและให้เพิ่มเติมการจัดตั้งจุดตรวจการผ่านเข้า - ออก ในที่พักอาศัยของทางราชการห้วง 20.00น. - 22.00 น.

กักตัวเลขาฯ-รองเลขานายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล หลังจากการพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ต้องมาประสานงานเป็นประจำที่ศูนย์ศบค.ติดเชื้อโควิด-19 ล่าสุดยังพบเจ้าหน้าที่ตัวแทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ติดโรคโควิด-19 เป็นรายที่ 2

ล่าสุดนายประทีป กีรติเรขา รองเลขานายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในฐานะกรรมการและเลขานุการ ศบค. ซึ่งมาร่วมประชุมและทำงานที่ ศบค. อย่างต่อเนื่อง ได้ไปตรวจหาเชื้อโควิด-19แล้ว โดยผลการตรวจ 2 ครั้ง ไม่พบว่าติดเชื้อ แต่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงได้กักตัวเองอยู่ที่บ้านแล้ว โดยทำงานประชุมผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ เช่นเดียวกับนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กักตัวสังเกตอาการที่บ้านมาแล้วกว่า 1 สัปดาห์

กักตัวจนท.ดีเอสไอนับ100คน

ด้านพ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในเรือนจำ ประจำวันที่ 1 เม.ย.2563 ว่า กรณีผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนครนายก ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ได้เข้ารับการรักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร

ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ได้แจ้งให้สำนักงานควบคุมโรคที่ 4 เข้าสอบสวนโรคให้กับผู้ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.63 พบว่า มีผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ภายในเรือนจำและบุคคลภายนอก รวม 11 ราย ทั้งนี้ ได้แจ้งให้กักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน ณ ศูนย์ควบคุมโรค (ศูนย์พระเทพ) และรอฟังผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19

สรุปสถานการณ์ในวันนี้มีผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 ภายในเรือนจำ/ทัณฑสถาน ทั่วประเทศเพียง 2 ราย และผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนครนายก ติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย รวมทั้งสิ้น 3 ราย ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์จะได้ติดตามสถานการณ์การเจ็บป่วยของผู้ต้องขังในทุกเรือนจำอย่างใกล้ชิดทุกวัน เพื่อจำกัดจำนวนผู้ต้องขังที่อยู่ในภาวะเสี่ยงและติดโรคระบาดนี้ให้น้อยที่สุด

ส่วนที่เจ้าหน้าที่ในสำนักเลขานุการกรม ดีเอสไอติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย เนื่องจากมีประวัติใกล้ชิดกลุ่มเจ้าหน้าที่ สหกรณ์กระทรวงยุติธรรมซึ่งติดเชื้อโควิด-19 ไปก่อนหน้านี้ 2 ราย ขณะนี้ได้สั่งกักตัวเจ้าหน้าที่และพนักงานราชการ กลุ่มเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยแล้วกว่า 100 คนพร้อมสั่งปิดสำนักงานให้เจ้าหน้าที่เข้าฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ

ป.ป.ช.สั่งกักตัวเจ้าหน้าที่นับร้อย

ขณะที่มาตรการสกัดการแพร่ระบาดในจังหวัดต่างๆอาทิที่จ.นนทบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี มีคำสั่งปิดสถานที่ในพื้นที่ จ.นนทบุรี เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย. 2563 จำนวน 37 แห่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถ.นนทบุรี ‬อ.เมือง จ.นนทบุรี ได้ปรับมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้เข้มขึ้นตามสถานการณ์ โดยนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด เรื่องมาตรการป้องกันใน 2 ข้อ ดังนี้ 1.กรณีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ที่พักอาศัยในอาคารเดียวกับบุคคลที่ได้รับการตรวจ และได้รับการยืนยันจากโรงพยาบาลว่าบุคคลนั้นติดเชื้อโควิด-19 ให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ผู้นั้น หยุดพักกักตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน

2.กรณีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานใกล้ชิดกับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องหยุดพักกักตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน (ตามข้อ1.) ให้ผู้นั้นหยุดพักกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 5 วัน อย่างไรก็ตามสำนักงานป.ป.ช.ภาค และสำนักงานป.ป.ช.จังหวัด ขอให้นำมาตรการป้องกันและควบคุมดังกล่าวไปปรับใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ผู้ต้องหยุดพักกักตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วันนั้น มีจำนวน 17 ราย แต่ผู้ที่ต้องหยุดพักกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 5 วันนั้น ไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่ชัดได้ แต่คาดว่ามีจำนวนมากถึง 200-300 คน โดยประเมินจากการสอบสวนโรค 1 รายใน 17 ราย มีผู้ร่วมงานหรือผู้ใกล้ชิดประมาณ 15-20 คน ซึ่งพบว่ามีผู้บริหารระดับสูงต้องถูกกักตัวด้วย

กักตัวกลุ่มใกล้ชิดชายดับคารถไฟ

ส่วนกรณีชายวัย 57 ปี เสียชีวิตบนขบวนรถไฟ กรุงเทพ-สุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ขณะรถไฟผ่านอ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อนพบว่าติดโควิด-19 พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) เปิดเผยว่า ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้มีการตรวจสอบรายละเอียดการเดินทางของชายคนดังกล่าวทั้งหมดแล้ว โดยพบว่าได้เดินทางเข้าประเทศไทยด้วยสายการบิน TG 350 เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2563 เวลา 06.00 น. พร้อมกับผู้โดยสารจำนวน 279 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและคนไทยที่แจ้งความประสงค์ของกลับบ้านก่อนเสียชีวิตที่บริเวณสถานีทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เวลา 22.00 น. วันที่ 30 มี.ค.

ตม.จึงได้เร่งตรวจสอบไทม์ไลน์เส้นทางทั้งหมดเพื่อหาบุคคลที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นพบว่ามีเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกว่า 6 คนเข้าสัมผัส ที่มีหน้าที่ประทับตรา ให้คำแนะนำ ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการกักตัวเรียบร้อยแล้ว ส่วนบุคคลอื่นๆ อยู่ระหว่างประสานงานติดตามตัวต่อไป
ด้านนายปรีชา นวลน้อย นายอำเภอสุไหงโก-ลก เปิดเผย ว่าทางอำเภอได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยทางสาธารณสุขอำเภอเข้าไปดูแลครอบครัว ผู้เสียชีวิตต่อไป

สั่งเฝ้าระวังไฟล์จากลอนดอน

วันเดียวกันเพจเฟซบุ๊ค “สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี” โพสต์ข้อความระบุว่า “#ประกาศ ผู้โดยสารสายการบินไทย ในช่วงเวลาต่อไปนี้ #ถือว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) (ผู้โดยสารมีอาการป่วยตั้งแต่บนเครื่องและผลตรวจยืนยันติดเชื้อ 3 ราย)”

ทั้งนี้ เป็นผู้โดยสารจากเที่ยวบินลอนดอน-สุวรรณภูมิ TG917 โดยเดินทางจากลอนดอน เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา เดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีความเสี่ยงติดโควิด-19 ซึ่งมีผู้โดยสารที่มีอาการป่วยตั้งแต่บนเครื่อง และผลตรวจยืนยันติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 รายแล้ว

ภูเก็ตจัดปาร์ตี้ท้าพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ที่จ.ภูเก็ตพ.ต.อ.อกนิษฐ ด่านพิทักษ์ศาสน์ ผกก.สภ.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน สภ.ป่าตองเข้าตรวจสอบบ้านเช่าหลังหนึ่งบริเวณ ถ.สิริราชย์ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ก่อนจะทำการจับกุมผู้ต้องหาเป็นนักท่องเที่ยวชายชาวออสเตรเลีย 1 คน, นักท่องเที่ยวชาวชาวอังกฤษ 3 คน, นักท่องเที่ยวชาวชาวอังกฤษ- ยูเครน 1 คน, นักท่องเที่ยวหญิงชาวยูเครน 3 คน นักท่องเที่ยวชาว อเมริกา 1 คน และหญิงไทย 5 คน พร้อมของกลางหลายรายการ อาทิ สุรายี่ห้อต่างๆ, เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องแล่น DJ แบบ All in one, ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคเคน), ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (กัญชาอัดแท่ง) เป็นต้น โดยแจ้งข้อกล่าวหาพร้อมสั่งดำเนินคดีต่อไป

โรงจำนำกทม.ลดดอกเยียวยาปชช.

ส่วนมาตรการเยียวยา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ได้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระของประชาชน โดยการปรับลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาในการรับจำนำ 1.ลดดอกเบี้ยรับจำนำ วงเงินรับจำนำตั้งแต่ 1-5,000 บาท จากดอกเบี้ยร้อยละ 25 สตางค์ต่อเดือน เป็นร้อยละ 10 สตางค์ต่อเดือน สำหรับวงเงินรับจำนำตั้งแต่ 5,000-15,000 บาท จากร้อยละ 1 บาทต่อเดือน เป็นร้อยละ 50 สตางค์ต่อเดือน 2. ขยายระยะเวลาตั๋วรับจำนำ จาก 4 เดือน 30 วัน เป็น 8 เดือน โดยประชาชนที่ทำธุรกรรมทุกประเภทกับสถานธนานุบาลทั้ง 21 แห่งของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 พ.ค. 63 จะได้รับสิทธิลดดอกเบี้ยตามวงเงินข้างต้น

ชงสภาฯหั่นงบดูงานช่วยโควิด

น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า กมธ.หารือถึงมาตรการการให้ความช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาด โดยกมธ.​ยังมีหนังสือสอบถามไปยังนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต่อการใช้งบประมาณที่จัดสรรให้กับกมธ.ฯ 35 คณะเพื่อศึกษาดูงานต่างประเทศ คณะละประมาณ 4.8 ล้านบาท
รวมเป็นเงินประมาณ 168 ล้านบาท และศึกษาดูงานในประเทศ คณะละประมาณ 9 แสนบาท รวมเป็นเงินประมาณ 31.5 ล้านบาท และเมื่อรวมงบประมาณ 2 ส่วนดังกล่าวรวมกันจะได้เงินประมาณ 199.5 ล้านบาท

นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า เบื้องต้นที่ได้หารือกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณ ขอให้สภาฯ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วาระแรก ในวันที่ 26-28 พ.ค.นี้ แต่ได้แจ้งให้นายชวน พิจารณา แล้วพบว่านายชวนไม่เห็นด้วยและต้องการให้เลื่อนการนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ เข้าสู่การประชุมในสัปดาห์ถัดไป คือ ต้นเดือนมิ.ย.