“3 เดือนแรก” ข้าวถุงโตแรง  โควิดพลิกพฤติกรรมผู้บริโภค แห่ตุนสินค้า

“3 เดือนแรก” ข้าวถุงโตแรง  โควิดพลิกพฤติกรรมผู้บริโภค แห่ตุนสินค้า

โควิด-19 สร้างผลกระทบต่อชีวิต สุขภาพประชาชนมากมาย ทำลายเศรษฐกิจ ธุรกิจหยุดชะงัก แน่นอนว่าโรคระบาดรุนแรงขึ้น ประชาชนอยู่บ้าน ทำงานจากบ้าน พลิกพฤติกรรมซื้อสินค้า "ตุน" ไว้บริโภค หนุนข้าวถุงโตในทิศทางที่ดี

คนแห่ตุนสินค้า ดันข้าวหงษ์ทองโต 20% ห่วงครึ่งปีหลังคนตกงานรายได้ลด เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคซื้อข้าวถุงราคาประหยัดยังชีพ ชี้อาวุธการตลาดปี 63 ออนไลน์-ดิลิเวอรี่ ปั๊มยอดขายโต

นายกัมปนาท มานะธัญญา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าจำเป็นไปบริโภค และข้าวถุงกลายเป็นหนึ่งในสินค้าที่ถูกซื้อจำนวนมากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดย “ข้าวหงษ์ทอง” แบรนด์ 1 ใน 3 ของผู้นำตลาด (ตราฉัตร เบญจรงค์ หงษ์ทอง) มียอดขายเติบโตกว่า 20% จากช่วงปกติ แม้จะเป็นตัวเลขที่มากขึ้น หากเทียบคู่แข่งยอมรับว่าน้อยกว่า เพราะความต้องการสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นมาก เช่น จากหลัก 3-4 แสนถุง เป็นหลัก “ล้านถุง” ส่งผลต่อการผลิตไม่ทันความต้องการ

นอกจากนี้ การขายสินค้าผ่านออนไลน์ ส่งดิลิเวอรี่ มีการเติบโตสูงมากเช่นกัน หากเทียบกับมหกรรมขายและลดราคาครั้งใหญ่ วันที่ 11 เดือน 11 ยอดขายหงษ์ทองโตก้าวกระโดดถึง 2 เท่าตัว หรือเดิมจะส่งสินค้าเทียบรถกระบะ 1 คันต่อวัน ปัจจุบันเทียบเท่ารถสิบล้อ 2 คันต่อวัน

158584009146

“สถานการณ์ผู้บริโภคซื้อข้าวถุงเติบโตพุ่งแรงมี 2 ช่วง ในช่วงแรกคือการประกาศว่าคนไทยติดเชื้อโรคโควิด-19จากคนไทยด้วยกัน ทำให้ประชาชนแห่ซื้อสินค้าคนหมดจากชั้นวางหรือช็อตเชลฟ์ แต่ตอนนั้นร้านยี่ปั๊วซาปั๊วในต่างจังหวัดข้าวถุงยังไม่ขาดตลาด ช่วงที่ 2 การระบาดของเชื้อโรคขยายวงกว้าง ห้างค้าปลีกเริ่มปิดให้บริการบางส่วน ยี่ปั๊วซาปั๊วในต่างจังหวัดกระทบด้วย คนจึงซื้อข้าวถุงมากยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในการจับจ่ายซื้อข้าวถุงจะเข้าสู่สภาวะปกติ หรือลดการซื้อปริมาณมากๆลงภายใน 1-2 สัปดาห์ หากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยืดเยื้อคาดว่าจะไม่กระทบการตุนสินค้าข้าวถุงเหมือนช่วงที่ผ่านมา เพราะผู้บริโภคจะเห็นการเติมสินค้าบนเชลฟ์ ไม่มีการขาดตลาด และไม่ตระหนก

สำหรับภาพรวมข้าวถุงมีมูลค่าประมาณ 10 ล้านตันต่อปี การเติบโตคงไม่มากนัก เนื่องจากคนไทยบริโภคข้าวเท่าเดิม ประกอบกับนักท่องเที่ยวหดตัวลง แต่ที่น่าจับตาคือภาวะคนตกงานจำนวนมาก รายได้ลดลง จะส่งผลต่อการซื้อข้าวถุงที่ราคาต่ำ เช่น ขนาด 5 กิโลกรัม(กก.) ราคาหลักร้อย เทียบกับข้าวถุงแบรนด์ชั้นนำราคาเฉลี่ย 200 บาท ด้านมูลค่าจะหดตัวลงพอสมควร ทำให้ประเมินตลาดรวมอาจโต 2-3% และอาจติดลบ 1%

ส่วนภาพรวมของเจียเม้งฯหวังผลักดันยอดขายแตะ 2,000 ล้านบาท เติบโต 5-7% จากปีก่อน ภายใต้ปัจจัยความต้องการข้าวถุงยังเป็นเหมือนตอนนี้ แต่หากทุกอย่างเข้าสู่สภาวะปกติ การขายในช่วงครึ่งปีหลังอาจเหนื่อย เพราะแนวโน้มการบริโภคข้าวถุงราคาถูกจะเกิดขึ้น

“การทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคปีนี้ อาวุธที่สำคัญคือออนไลน์ และเดลิเวอรี่ เพราะห้างร้านปิดให้บริการ เราจึงเทงบทำตลาดผ่านช่องทางดังกล่าวมากขึ้น”