‘กลุ่มปตท.’พุ่งนำตลาด ดัน‘โออาร์’ขายหุ้นไอพีโอ

‘กลุ่มปตท.’พุ่งนำตลาด  ดัน‘โออาร์’ขายหุ้นไอพีโอ

หุ้นกลุ่มปตท.พลิกกับมานำตลาดหุ้นไทยฟื้นตัว หนุนจากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้น 10% หลังบริษัทน้ำมันในสหรัฐยื่นขอล้มละลาย โบรกประเมิน ‘ปตท.สผ.’ อยู่รอด หลังต้นทุนเงินสดยังต่ำกว่าราคาปัจจุบัน ขณะที่หุ้น ‘โออาร์’ เดินหน้าขายไอพีโอ 2,700 ล้านหุ้น

ความเคลื่อนไหวหุ้นในกลุ่มปตท. วานนี้ (2 เม.ย.) ได้แก่ บมจ.ปตท(PTT) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) บมจ.ไทยออยล์(TOP) และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) ต่างปรับตัวขึ้นได้กว่า 10% และเป็นกลุ่มที่ช่วยหนุนให้ดัชนีปรับตัวขึ้นได้ราว 17 จุด จากทั้งหมด 32 จุด มาปิดที่ 1,138.27 จุด เพิ่มขึ้น 2.96% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 6.9 หมื่นล้านบาท

การปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มปตท. ได้แรงหนุนสำคัญจากราคาน้ำมันดิบ (อิง WTI) ปรับตัวขึ้น 10% ตั้งแต่ช่วงเช้า กลับมายืนเหนือระดับ 22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องล่าสุด คือ บริษัท Whiting Petroleum ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเชลออยล์ของสหรัฐได้ประกาศล้มละลาย เนื่องจากราคาขายไม่คุ้มค่าในการผลิต และมีแนวโน้มที่อีกหลายบริษัทจะเผชิญสภาวะเดียวกัน เป็นผลให้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ เร่งหารือกับบริษัทน้ำมันรายอื่นๆ เพื่อเยียวยาและป้องกันการเกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

โดยภาพรวมแล้ว บริษัทผู้ผลิตน้ำมันอย่าง PTTEP น่าจะเป็นบริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุดจากการปรับขึ้นลงของราคาน้ำมันดิบ ซึ่ง บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า แม้ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มอ่อนแอจากการปิดเมืองในหลายประเทศทั่วโลก และอุปทานที่กำลังเข้าสู่ตลาดมากขึ้น แต่คาดหวังโอกาสการเห็นจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐจะปรับตัวลดลงในระยะถัดไป ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันในตลาดน้ำมันได้บ้าง

ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก เชื่อว่ากลยุทธ์เน้นการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความชำนาญ ของ PTTEP จะช่วยลดความเสี่ยงด้านการดำเนินงานให้ต่ำลง 

158583457917

ทั้งนี้ อ้างอิงข้อมูลปี 2562 บริษัทมีต้นทุนผลิตต่อหน่วยที่ 31.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แบ่งเป็นค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย 15.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และต้นทุนเงินสด 15.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยเราคาดว่าบริษัทจะสามารถลดต้นทุนเงินสดลงได้อีก 10-15% หรือราว 1.6-2.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากทั้งค่าภาคหลวงที่ลดลงตามราคาน้ำมัน และค่าใช้จ่ายบริหารต่างๆ

ด้วยราคาหุ้นปรับตัวลง 36% ภายใน 1 เดือน จนปัจจุบันซื้อขายบน P/BV 0.8 เท่า ต่ำใกล้เคียงช่วงวิกฤติเชลล์ออยล์ ปี 2557 - 2560 สะท้อนประเด็นลบไปมากแล้ว 

ขณะที่โครงสร้างเงินทุน PTTEP มั่นคงด้วยสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) 0.9 เท่า และเงินสด 9.1 หมื่นล้านบาท และด้วยประสบการณ์ผ่านวิกฤติต่างๆ มาหลายครั้ง เชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการต้นทุน-ค่าใช้จ่ายในช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำได้ ดังนั้น จึงปรับคำแนะนำขึ้นจาก “ขาย” เป็น “เก็งกำไร” ด้วยราคาเหมาะสม 70 บาท

นายกวีวิทย์ ถวิลวิทยานนท์ นักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ มองว่า สหรัฐจะพยายามโน้มน้าวให้รัสเซียและซาอุดิอาระเบียกลับมาเจรจาเพื่อยุติสงครามราคาน้ำมัน แต่อย่างไรก็ตาม ซาอุดิอาระเบียน่าจะเดินหน้าทำสงครามราคาน้ำมันต่อไปอีกหลายเดือน หลังจากที่กำหนดแผนเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบของประเทศเป็น 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนถัดๆ ไป จากเดิมที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

พร้อมกันนี้ PTT มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว หลัง บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นทั้งหมด ได้ยื่นคำขออนุญาตเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ซึ่งรวมไปถึงการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ร่างหนังสือชี้ชวน) ต่อ ก.ล.ต.

ทั้งนี้การเสนอขาย IPO ของ OR จะขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวนไม่เกิน 2,700 ล้านหุ้น (ไม่รวมจำนวนหุ้นส่วนเกินสำหรับการให้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกิน) โดย OR จะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ ปตท. เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นใน ปตท. เพื่อรักษาสิทธิ (Pre-emptive Rights) 

หากมีความต้องการซื้อมากกว่าจำนวนหุ้นที่เสนอขาย อาจมีการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพิ่มเติมในจำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) เพื่อการส่งคืนหุ้นที่ยืมจาก ปตท. ในการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (หากมี) ซึ่งภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ OR นั้น ปตท. จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ OR โดยจะถือหุ้นไม่น้อยกว่า 75%