โควิดทุบธุรกิจรถบัสนำเที่ยว จอดนิ่ง3หมื่นคัน-จี้รัฐเยียวยา

โควิดทุบธุรกิจรถบัสนำเที่ยว จอดนิ่ง3หมื่นคัน-จี้รัฐเยียวยา

“สทท.”โอด ลูกจ้างท่องเที่ยว 3 ล้านคนติดหล่มประกันสังคมไม่จ่ายเงินชดเชยว่างงาน รับกรรมโควิด-19ทุบเดินทางทั่วโลก ร้องรัฐทบทวนเยียวยา “สปข.”เผยโควิดกระทบลูกจ้างธุรกิจรถบัสนำเที่ยวกว่า4หมื่นคน หลังรถบัสขนกรุ๊ปทัวร์จอดนิ่งกว่า3หมื่นคัน สูญรายได้4.5พันล้าน

นายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร ประธานคณะอนุกรรมการด้านความปลอดภัย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)กล่าวว่า วันนี้ (3เม.ย.) คณะกรรมการของ สทท.จะประชุมร่วมกัน2เรื่องหลักที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนจากภาครัฐ เรื่องแรกคือขอให้สำนักงานประกันสังคมเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างภาคธุรกิจท่องเที่ยว ครอบคลุมทุกธุรกิจ อาทิ โรงแรม สายการบิน รถบัสนำเที่ยว บริษัทนำเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว และอื่นๆ โดยเร็วที่สุด เนื่องจากปัจจุบันมีลูกจ้างภาคท่องเที่ยวอยู่ในระบบประกันสังคมไม่ต่ำกว่า3ล้านคน แต่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยการว่างงานในช่วงที่หลายธุรกิจต้องหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากไม่ใช่กิจการที่รัฐสั่งปิดชั่วคราว

“เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจตรงที่แรงงานในระบบประกันสังคมที่ทำงานในธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่ได้รับการเยียวยา ขณะที่แรงงานนอกระบบประกันสังคมได้รับความช่วยเหลือแล้ว หากสำนักงานประกันสังคมยังไม่เร่งให้ความช่วยเหลือ ภาคท่องเที่ยวอาจจะต้องมีทั้งมาตรการกดดันและขอความเห็นใจจากภาครัฐเพิ่มเติม”

เรื่องที่สองคือขอให้ธนาคารออมสินเร่งผ่อนปรนหลักเกณฑ์ปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงิน10,000ล้านบาท หลังได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19เมื่อวันที่27มี.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารออมสิน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สทท. และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

“พอดูหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ซอฟท์โลนวงเงิน1หมื่นล้านบาทของธนาคารออมสินแล้ว พบว่าเหมือนกับหลักเกณฑ์ทั่วไปของธนาคารอื่นๆ ยังไม่ได้มีการผ่อนปรนเพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเข้าถึงเงินกู้ได้จริง หลังธุรกิจท่องเที่ยวชะงักมานาน3เดือนแล้วนับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19เริ่มขึ้นเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา สทท.จึงต้องการให้ธนาคารออมสินกระชับเวลาในการปล่อยกู้เร็วขึ้น พร้อมระบุชัดเจนว่าเงินจะถึงมือผู้ประกอบการวันไหน เพื่อจะได้นำไปเสริมสภาพคล่องได้ทันท่วงที”

นายวสุเชษฐ์ กล่าวในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.)ด้วยว่า สำหรับสถานการณ์ของธุรกิจรถขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว เช่น รถบัสนำเที่ยว และรถตู้ ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในระบบรวมกว่า80,000คัน ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19ปัจจุบันจอดนิ่งสนิทกว่า60,000คันหรือกว่า70%ของทั้งหมด

โดยแบ่งเป็นรถบัสนำเที่ยวที่ปัจจุบันจอดนิ่งกว่า30,000คัน คิดเป็น75%ของรถบัสนำเที่ยวในระบบทั้งหมด40,000คันภายใต้ผู้ประกอบการรถบัสนำเที่ยวกว่า1,000รายซึ่งต้องหยุดกิจการชั่วคราวแล้วกว่า80%หลังมีรายได้เป็นศูนย์เพราะนักท่องเที่ยวตลาดกรุ๊ปทัวร์หายไป ทั้งยังเป็นธุรกิจกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมาซึ่งมีการแพร่ระบาดในประเทศจีนจนรัฐบาลจีนมีคำสั่งห้ามบริษัทนำเที่ยวพานักท่องเที่ยวจีนออกนอกประเทศ ขณะที่รถตู้นำเที่ยวซึ่งเน้นรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็ก ปัจจุบันหยุดวิ่งไปกว่า25,000คัน จากที่มีรถตู้ทั้งหมด40,000คัน

“ธุรกิจรถบัสนำเที่ยวเป็นอีกส่วนที่อยากให้ภาครัฐเร่งดูแลลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกว่า40,000คนซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19ทำให้ผู้ประกอบการรถบัสนำเที่ยวต้องหยุดวิ่งรถเพราะไม่มีลูกค้า จากปกติรถบัสนำเที่ยว1คันทำรายได้ประมาณ5หมื่นบาทต่อเดือน เมื่อนักท่องเที่ยวหายไป เหลือเพียงตลาดรับส่งลูกค้าองค์กร ทำให้ภาพรวมธุรกิจรถบัสนำเที่ยวสูญรายได้ราว1,500ล้านบาทต่อเดือน และถ้านับตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค.ที่ผ่านมา เท่ากับว่าธุรกิจรถบัสนำเที่ยวสูญรายได้รวมแล้วกว่า4,500ล้านบาท”

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมกับเงินที่เอเย่นต์ทัวร์หลายบริษัทค้างชำระบริษัทรถบัสนำเที่ยวตั้งแต่เดือน พ.ย.2562คิดเป็นเงินค้างในระบบรวมกว่า1,000ล้านบาท โดยบางเอเย่นต์ทัวร์ได้ปิดบริษัทหนีไปแล้ว เมื่อขาดกระแสเงินสดทำให้บริษัทรถบัสนำเที่ยวต้องการความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินอย่างเร่งด่วน เช่น ช่วยพักเงินต้นและดอกเบี้ย และปล่อยกู้เพิ่มเพื่อนำมาหมุนสภาพคล่อง โดยต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสั่งการให้เห็นผลจริงด้วย

“เมื่อธุรกิจรถบัสนำเที่ยวได้สอบถามไปยังสำนักงานประกันสังคมเพื่อขอเบิกเงินชดเชยการว่างงานแก่ลูกจ้าง ก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกับธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ ว่า ต้องให้ภาครัฐเป็นผู้ประกาศสั่งหยุดกิจการชั่วคราว ซึ่งรัฐไม่ได้สั่งหยุดกิจการรถบัสนำเที่ยว แต่ของเราถูกบล็อกไปโดยปริยาย เราจึงอยากให้มีการสะท้อนนิยามของคำว่า เหตุสุดวิสัย คืออะไร และทางสำนักงานประกันสังคมก็ควรทำหนังสือชี้แจงและให้ความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ใช่ดึงกันไปวันๆ” นายก สปข.กล่าว