เกษตรฯแนะ“สหกรณ์” ดูแลสมาชิกรับวิกฤติศก.

เกษตรฯแนะ“สหกรณ์” ดูแลสมาชิกรับวิกฤติศก.

เปิด 3 มาตราการ บรรเทาภาระหนี้สินในส่วนของสหกรณ์  เผย สมาชิกจะได้รับประโยชน์ 5.79 ล้านคน

สถาบันการเงินอีกรูปแบบที่มีขนาดและมูลค่าใหญ่ในประเทศคือ สหกรณ์ปัจจุบันมีจำนวน  6,579 แห่ง มีสมาชิกกว่า 11 ล้านคน เป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 3,453 สหกรณ์ มีสมาชิกที่กู้ยืมเงินจากสหกรณ์เพื่อไปประกอบอาชีพทางการเกษตร 1.035 ล้านคน จำนวนเงิน 178,473 ล้านบาท และ สหกรณ์นอกภาคการเกษตร (ออมทรัพย์ เครดิตยูเนี่ยน บริการ และร้านค้า) 3,126 สหกรณ์ สมาชิก 188,700 ราย วงเงินกู้ 122,807 ล้านบาท

มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือ บรรเทาภาระหนี้สินของสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 

โดยสหกรณ์การเกษตร นั้นมีทั้งเงินกู้ที่มาจากทุนของสหกรณ์เอง และบางสหกรณ์กู้ยืมมาจากแหล่งเงินทุนภายนอก ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) กองทุนพัฒนาสหกรณ์ และสถาบันการเงินอื่น 

ส่วนสหกรณ์นอกภาคการเกษตร (ออมทรัพย์ เครดิตยูเนี่ยน บริการ และร้านค้า) 3,126 สหกรณ์ มีสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 600 แห่ง

ทั้งนี้ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีจำนวน 36 แห่ง สมาชิก 36,500 ราย วงเงินกู้ 600 ล้านบาท และสหกรณ์เดินรถซึ่งเป็นสหกรณ์บริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งมีจำนวน 230 แห่ง สมาชิก 100,207 ราย มีการให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิกรวม 1,444 ล้านบาท

พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือสหกรณ์ผ่อนผันการชำระหนี้ให้กับสมาชิก ทั้งขยายเวลาการชำระหนี้ การพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ส่วนการชำระค่าหุ้นของสมาชิก ขอให้ปรับลดหรืองดส่งค่าหุ้นรายเดือนเป็นการชั่วคราว หรืองดหักส่งค่าหุ้นตามส่วนของเงินกู้ จนกว่าจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ โดยแต่ละสหกรณ์สามารถปรับแผนการบริหารจัดการ

สถานการณ์แห่ถอนเงินออกจากสหกรณ์นั้นยังไม่เกิดขึ้น จากก่อนหน้านี้มีสหกรณ์การบินไทยที่มีสมาชิกถอนเงินออกจำนวนมาก" เนื่องจากเป็นเหตุผลภายในของบริษัท แค่หลังจากที่คณะกรรมการสหกรณ์ได้ชี้แจงทำความเข้าใจแล้ว ปัจจุบันสถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และยืนยันว่าสหกรณ์ออมทรัพย์การบินไทยนั้นมีความมั่นคงและแข็งแกร่งมาก

ส่วนมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาภาระหนี้สินในส่วนของสหกรณ์ มี 3 แนวทาง ได้แก่ สหกรณ์ที่เป็นลูกหนี้ธ.ก.ส.  กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ประสานขอความร่วมมือ ธ.ก.ส. ผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบ โดยขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้สหกรณ์ ไม่เกิน 20 ปี ปลอดชำระต้นเงิน 3 ปีแรก และขอสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่า MLR-1 ต่อปี หากสหกรณ์ใด มีความประสงค์จะเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว สามารถติดต่อ ธ.ก.ส. สาขาที่สหกรณ์กู้ยืมเงิน

สหกรณ์ที่เป็นลูกหนี้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ให้ขยายเวลาการชำระหนี้ได้ถึงวันที่ 31 ต.ค. 2563 ซึ่งสหกรณ์จะต้องผ่อนผันขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้แก่สมาชิกผู้กู้เงินจากสหกรณ์เช่นเดียวกัน 

กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จะได้รับการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระออกไปอีก 1 ปี โดยขยายเวลาชำระหนี้ไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2564 และกลุ่มเกษตรกรจะต้องขยายระยะเวลาการชำระหนี้ งดคิดดอกเบี้ยและค่าปรับกับสมาชิกด้วย ซึ่งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่จะขอขยายเวลาการชำระหนี้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์และกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร สามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด

ทั้งนี้ คาดว่าทุกมาตรการจะช่วยบรรเทาปัญหาภาระหนี้สินให้กับสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ในช่วงสถานการณ์ การระบาดของโรคโควิด – 19 โดยคาดว่าสหกรณ์ภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร จำนวน 2,660 แห่ง สมาชิกจะได้รับประโยชน์ 5.79 ล้านคน ต้นเงินกู้จำนวน 1,296,843 ล้านบาท มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง 0.50% คิดเป็นมูลค่า 6,480 ล้านบาท