“CPALL-BJC” ไม่สะเทือน ! รัฐประกาศ “เคอร์ฟิว”

“CPALL-BJC” ไม่สะเทือน !  รัฐประกาศ “เคอร์ฟิว”

ครบ 1 สัปดาห์หลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย. 2563

แต่ดูเหมือนว่ามาตรการต่างๆ ที่นำมาบังคับใช้ เช่น การปิดสถานที่เสี่ยง, การปิดช่องทางเข้าออกประเทศ, สนับสนุนการทำงานที่บ้าน ฯลฯ ไม่ได้ผลเท่าที่ควร หลังจำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 100 คน

โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ (2 เม.ย.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 104 ราย ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสมรวม 1,875 ราย กระจายตัวใน 62 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็นชาวต่างชาติ 277 คน และคนไทย 1,598 คน แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะค่อนข้างทรงตัว แต่ยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญตามที่รัฐบาลคาดหวัง

จึงเป็นที่มาของการประกาศใช้ “เคอร์ฟิว” ทั่วประเทศ ห้ามประชาชนของจากบ้านระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันนี้ (3 เม.ย.) เป็นต้นไป ยกเว้นผู้มีความจำเป็นต้องเดินทาง เช่น บุคคลากรทางการแพทย์, การขนส่งเวชภัณฑ์, การขนส่งผู้ป่วย, การขนส่งพลังงาน ฯลฯ ถือว่าเป็นการยกระดับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ก่อนหน้านี้ กทม. ประกาศปิดสวนสาธารณะทุกแห่งทั้งของรัฐและเอกชน และให้ปรับเวลาเปิดปิดร้านค้าทุกประเภท ทั้งร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชำ รถเข็น หาบเร่แผงลอย ไปจนถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยให้เปิดตั้งแต่ 05.01-24.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 2-30 เม.ย. นี้

หมายความว่าร้านสะดวกซื้อที่เดิมเคยเปิดให้บริการทั้งวันทั้งคืนตลอด 24 ชั่วโมง ต้องลดเวลาให้บริการ ซึ่งมีอยู่หลายร้านที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ทั้ง “เซเว่น อีเลฟเว่น” ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL

 “แฟมิลี่มาร์ท” และ “ท็อปส์ เดลี่” ของบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC, “มินิบิ๊กซี” ของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) รวมถึง “ลอว์สัน 108” ของกลุ่มสหพัฒนพิบูล

กทม. เป็นจังหวัดล่าสุดที่ประกาศปรับเวลาให้บริการร้านสะดวกซื้อ จากก่อนหน้านี้หลายจังหวัดนำร่องไปก่อนแล้ว ทั้งเพชรบูรณ์, อุดรธานี ,สมุทรปราการ และนนทบุรี แต่เชื่อว่าการปิดให้บริการในเขต กทม. เป็นเวลา 5 ชั่วโมง ส่งผลกระทบต่อยอดขายไม่มาก เพราะโดยปกติแล้วช่วงเวลาดังกล่าวไม่ค่อยมีลูกค้า ขณะเดียวกันลูกค้ามีแนวโน้มเปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้อสินค้าเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟค่าจ้างพนักงานไปได้ส่วนหนึ่ง

โดยบล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่า การปิดร้านใน กทม. และ อีกหลายจังหวัด เป็นเวลา 5-6 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 1 เดือน จะทำให้ CPALL สูญเสียรายได้วันละ 7-8% ส่งผลให้ยอดขายสาขาเดิม (Same Store Sales Growth) ปี 2563 ลดลงราว 0.6-0.7% ส่วน BJC รายได้จาก “มินิบิ๊กซี” จะหายไปวันละ 1% และส่งผลกระทบต่อยอดขายรวมของบริษัทเพียง 0.1% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลังมีการประกาศ “เคอร์ฟิว” ห้ามออกจากบ้านหลังเวลา 22.00 น. เท่ากับว่ายอดขายต้องหายไปอีก 2 ชั่วโมง ซึ่งผลกระทบคงมีมากขึ้น แต่หากอ้างอิงจากช่วงรัฐประหารที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศเคอร์ฟิว เมื่อวันที่ 22 พ.ค. – 13 มิ.ย. 2557 เป็นเวลา 22 วัน ตั้งแต่เวลา 22.00-05.00 น. ยอดขายของบรรดาร้านสะดวกซื้อไม่ได้หายไปมาก

บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า ในปี 2557 ที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทั่วประเทศต้องปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืนตามมาตรการเคอร์ฟิว แต่ปรากฏว่ายอดขายสาขาเดิมของ CPALL ในไตรมาส 2 ปี 2557 ยังเป็นบวก แม้จะเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% เทียบกับช่วงไตรมาส 1 ปี 2557 ที่ติดลบ 1.1% และไตรมาส 2 ปี 2556 ที่เพิ่มขึ้น 7.6% แสดงให้เห็นว่ารายได้ช่วงกลางคืนที่หายไป ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อยอดขายรวม

และที่สำคัญร้านสะดวกซื้อถือเป็นร้านค้าที่เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด มีสินค้ามากมายหลากหลายชนิดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แม้เวลาในการเปิดร้านจะลดลง แต่เป็นช่วงเวลากลางคืนจึงไม่น่าส่งผลกระทบต่อยอดขายในภาพรวมมากเท่าไหร่