กสศ.นำร่อง4จว.เปลี่ยนการอ่านเป็นทุนการศึกษา

กสศ.นำร่อง4จว.เปลี่ยนการอ่านเป็นทุนการศึกษา

กสศ.จับมือ ยูเนสโก-ศธ.-ท้องถิ่น เปิดตัวโครงการ Learning Coin เปลี่ยนการอ่านเป็นทุนการศึกษา ลดภาระผู้ปกครอง ผ่านแอปพลิเคชัน LearnBig ช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน นำร่อง 4 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาค เน้นส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กนอกระบบจำนวน 500 คน

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผอ.สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมนวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)กล่าวว่า  กสศ. สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กระทรวงศึกษาธิการ และจังหวัดต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา  ร่วมกันจัดทำโครงการ Learning Coin เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เริ่มต้นในพื้นที่4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ นครนายก และยะลา โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 500 คน ที่เป็นเด็กและเยาวชนที่ไม่เคยได้รับการศึกษาในระบบ กลุ่มที่ออกจากการศึกษากลางคัน กลุ่มเสี่ยงต่อการออกกลางคัน ทั้งหมดเน้นช่วงวัยในระดับประถมศึกษาและมัธยมตอนต้น ภายใต้ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กสศ. ได้ทำงานช่วยเหลือเด็กนอกระบบซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีเด็กนอกระบบ 3-17 ปีจำนวน 670,000 คนทั่วประเทศ สอดรับกับโครงการนี้ที่ยูเนสโกมีเครื่องมือช่วยเหลือเรื่องการอ่าน จนนำมาสู่ความร่วมมือนวัตกรรมช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษาและด้อยโอกาส ให้มีโอกาสพัฒนาทักษะการรู้หนังสือ และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านด้วยการอ่านหนังสือผ่านแอปพลิเคชัน LearnBig ในแท็บเล็ตของโครงการ โดยการเรียนรู้จะมีการการติดตามเป็นรายบุคคลผ่านแอปพลิเคชันโดยครู จากนั้นนำข้อมูลพัฒนาการด้านการอ่านมาคำนวณเป็นทุนการศึกษาเพื่อสนับสนุนรายได้ของครอบครัวเป็นรายเดือนต่อไป

158582165772

เป้าหมายของโครงการนี้มี 2 ส่วนคือ 1. การพัฒนานวัตกรรม วิธีการเรียนรู้ให้เด็กนอกระบบการศึกษาและด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ 2.การส่งเสริมการรู้หนังสือให้เด็กนอกระบบการศึกษาและด้อยโอกาสโดยการอ่าน ซึ่งเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ของทุกวิชา เด็กและผู้ปกครองมีส่วนร่วม เพราะยิ่งอ่านมากก็จะทำให้เด็กมีทุนการศึกษา​ ซึ่งจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองส่วนหนึ่งอีกด้วย” น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว

น.ส.นิสา แก้วแกมทอง ผอ.สำนักพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กล่าวว่า ความสำคัญของกลไกจังหวัดในการมีส่วนร่วมในการสร้างโอกาสที่เสมอภาคให้แก่เด็กนอกระบบการศึกษานั้น ซึ่งทั้ง 4 จังหวัดนำร่องจะเป็นกลไกในค้นหากลุ่มเป้าหมาย ประสานเชื่อมโยง และติดตามผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของเด็กร่วมกับ ยูเนสโกและ กสศ. พัฒนาเป็นกลไกการทำงานในพื้นที่ที่ยั่งยืนต่อไป

158582165792

ายอิชิโร มิยาซาวา ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ  กล่าวว่า ตัวอย่างการดำเนินการที่ผ่านมา​ได้ทำโครงการนำร่องช่วงปี 2562 ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กข้ามชาติและกลุ่มเปราะบางจำนวน 150 คน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ ปทุมธานี โดยเปิดให้เด็กอ่านหนังสือผ่านแอปพลิเคชัน LearnBig และใช้เกณฑ์การให้คะแนนโดยพิจารณาจากความต่อเนื่องในการอ่าน ระยะเวลาในการอ่าน ​การตอบคำถามจากหนังสือ และความพยายาม ซึ่งจะนำปัจจัยต่างๆ มาพิจารณาเป็นเกณฑ์ให้ทุนการศึกษาสูงสุด 800 บาทต่อเดือนซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของรายได้เฉลี่ยของผู้ปกครอง

จากสถิติที่รวบรวมโดยยูเนสโก พบว่า จากเด็กทั้งหมด 150 คน มีถึง 70 คนที่มีคะแนนรวมสูงขึ้นในช่วง 3 เดือน  มีพัฒนาการด้านการอ่านที่ดีขึ้น มีระยะเวลาอ่านสูงสุด 42 ชั่วโมงต่อเดือน คนที่อ่านหนังสือได้มากที่สุดสามารถอ่านได้ 102 เล่มต่อเดือน แต่ปัญหาที่พบคือเด็กไม่มีเวลาอ่านเพราะต้องช่วยผู้ปกครองทำงาน รวมทั้งไม่มีทักษะการเขียนทำให้ไม่สามารถพิมพ์คำตอบได้ อีกด้านหนึ่งไม่มีหนังสือในภาษาของเด็กเช่นภาษามอญ

สำหรับวัตถุประสงค์สำคัญโครงการนี้ไม่ใช่แค่เพียงการสนับสนุนทุน แต่เราต้องการส่งเสริมสร้างฐานการอ่านให้กับเด็ก โดยทุนการศึกษาจะเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับครอบครัวเด็ก และจะสร้างแรงจูงใจให้เด็กไม่ออกจากการศึกษากลางคัน ในขณะเดียวกันยังสามารถช่วยเหลือผู้ปกครองได้ โครงการ Learning Coin ไม่ใช่แพ็คเกจสำเร็จรูป ที่จะบอกขั้นตอนให้คุณต้องทำตามแบบ 1 2 3 4 มันเป็นไอเดียด้านนวัตกรรมทางการศึกษา ที่มีความยืดหยุ่นในการนำไปปรับใช้ ซึ่งหวังว่าจะสามารถพัฒนาการด้านการรู้หนังสือและการอ่านของเด็ก ผ่านการติดตามและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนจากฐานข้อมูลของเด็กแต่ละคนได้ แต่ก็คงต้องรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงก่อนนายอิชิโร กล่าว

นายคำตัน เดชผล กรรมการสภาการศึกษา จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า ทางจังหวัดมีกลุ่มเป้าหมาย 125 คน มีเด็กกลุ่มเสี่ยงในระบบ และนอกระบบการศึกษา ดังนั้นการใช้นวัตกรรมเข้ามาปลูกฝังเรื่องการอ่านเป็นการเรียนที่ดีมากและมีแรงจูงใจที่แปลงการอ่านเป็นทุนการศึกษา เชื่อว่าเมื่อโครงการดำเนินการไปตามวัตถุประสงค์จะทำให้เด็กเกิดความคิด รู้จักนำความรู้ไปต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิต การอ่านจะเป็นแสงสว่างที่ดีขึ้นในวันข้างหน้า และเป็นประตูสู่ความสำเร็จอื่นๆอีกมากมาย แม้ว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กยากจน หรือเด็กเรียนช้า โครงการ Learning coin จะช่วยพัฒนาได้อย่างแน่นอน

158582169326

นางมัณนา กาศสนุก ผู้อำนวยการ กศน.อำเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีภูมิศาสตร์ติดกับประเทศเพื่อนบ้านจะมีเด็กอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนจำนวนมาก และมีความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งชาวเขา กลุ่มชาติพันธุ์ ในเบื้องต้นทางจังหวัดมีกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 80 คน เชื่อว่าโครงการ Learning coin จะเข้าไปช่วยเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ ส่งเสริมการอ่าน และเป็นการใช้นวัตกรรมเข้ามาพัฒนาคนได้อย่างถูกต้องตรงกลุ่มเป้าหมาย เมื่อเด็กรักการอ่านก็จะมีโอกาสในชีวิตเพิ่มมากขึ้น