วิกฤติซ้อนวิกฤติ 'การบินไทย' จะไปรอดไหม?

วิกฤติซ้อนวิกฤติ 'การบินไทย' จะไปรอดไหม?

ส่องปัญหาและความท้าทายของการกำกับดูแลกิจการของการบินไทยว่ามีปัจจัยอะไร และองค์กรมีแนวทางการแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไรบ้าง?

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัว มิได้มุ่งหวังตำหนิบุคคลหรือหน่วยงานใด แต่เพียงเพื่ออยากให้ผู้อ่านได้มุมมองและเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของการบินไทย

สาเหตุความล้มเหลวในการกำกับดูแลกิจการ ทำให้การบินไทยประสบวิกฤติขาดทุนต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยมากกว่าปีละหมื่นล้านบาทใน 2 ปีล่าสุด ทำให้เกิดคำถามว่าการบินไทยล้มละลายแล้วหรือยัง ประกอบกับปีนี้มาประสบวิกฤติจากการแพร่กระจายเชื้อไวรัส COVID-19 ซ้ำเติม การแก้ปัญหาจึงหนักเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

  • ปัญหาและความท้าทายของการกำกับดูแลกิจการ

ธุรกิจการบิน (Airline Industry) เป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงมาก มีความเปลี่ยนแปลงในปัจจัยแวดล้อมต่างๆ รวดเร็วมาก การทำหน้าที่ของคณะกรรมการจึงต้องให้ความสำคัญกับการตระหนักถึงบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป และจะสามารถทำอย่างไรเพื่อพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการ Fiduciary Duties (Duties of Care, Obedience, Loyalty and Disclosure) ให้ทันความเปลี่ยนแปลง สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Board Effectiveness)

“การกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) คือ ระบบที่จัดให้มีโครงสร้างและกระบวนการของความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการฝ่ายจัดการและผู้ถือหุ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันนำไปสู่การเจริญเติบโต และเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่น” (หลักการกำกับกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2555, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

โครงสร้างการถือหุ้นของการบินไทยเป็นแบบกระจุกตัว คือกระทรวงการคลังและกองทุนวายุภักษ์ถือหุ้นรวมกันมากกว่า 70% เป็นผู้มีอำนาจควบคุมกิจการ (Controlling Shareholders) สามารถคัดเลือกกรรมการเข้ามาเป็นสมาชิกคณะกรรมการได้ตามใจชอบ รวมถึงผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด (DD) การสรรหาจึงเป็นเพียงแค่พิธีการ ซึ่งหลายครั้งไม่ได้คนที่มีความสามารถที่ดีที่สุดเข้ามาบริหารงาน

ผลเสียจึงเกิดขึ้นต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) เมื่อคณะกรรมการไม่ทำหน้าที่ หรือใช้อำนาจที่ตนมีเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งสมาชิกของคณะกรรมการหาประโยชน์เข้าส่วนตนแทนที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้น ลักษณะดังกล่าวเรียกว่า Agency Problems เราจึงไม่เห็นมีใครออกมาประกาศความรับผิดชอบต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น (ในความเป็นจริงแล้วเป็นความรับผิดแต่เพียงอย่างเดียว) จากผลการประเมินของสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เรื่องการกำกับดูแล

กิจการของบริษัทจดทะเบียน โดยการตรวจสอบเรื่องของการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและความโปร่งใส การบินไทยได้คะแนน (CG Scoring) ต่ำกว่า 70% คะแนน CG เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นในการบ่งบอกถึงความเป็นบริษัทที่น่าลงทุน โดยมุมมองอื่นๆ เช่น คุณภาพผลประกอบการ และความสามารถของผู้บริหารก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ตัวอย่างบริษัทที่ได้ Excellent CG Scoring (มากกว่า 90%) ได้แก่ ปตท. ปูนซิเมนต์ไทย, เอไอเอส, ไทยพาณิชย์ และ กสิกรไทย เป็นต้น

158570701785

จากงบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 การบินไทยมีหนี้สินหมุนเวียนรวม 84,367 ล้านบาท โดยมีส่วนของหนี้สินระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายในปีหนึ่งเท่ากับ 21,730 ล้านบาท หนี้สินระยะยาวจากสถาบันการเงิน, สัญญาเช่าเครื่องบิน และหุ้นกู้ รวมทั้งสิ้น 122,120 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นลดต่ำลงเหลือ 11,765 ล้านบาท (มูลค่าหุ้นตามบัญชีเท่ากับ 5.39 บาทต่อหุ้น) อัตราหนี้สินต่อผู้ถือหุ้น (Gross Debt to Equity Ratio) เท่ากับ 20.8 เท่า

ในปี 2563 การบินไทยได้ดำเนินธุรกิจตามปกติได้เพียง 2 เดือนเศษ หลังจากประสบวิกฤตการณ์ COVID-19 ตั้งแต่เดือน มี.ค. ทำให้ต้องประกาศหยุดบินทุกเส้นทางชั่วคราวไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค.เป็นอย่างน้อย (ราคาหุ้นปิดต่ำสุดที่ 2.78 บาทต่อหุ้น เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2563) ทำให้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายคงที่ต่างๆ โดยไม่มีรายได้จากการขายและให้บริการ

ดังนั้นจึงคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าในปี 2563 นี้ การบินไทยจะต้องประสบปัญหาขาดทุนมากกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นลบอย่างแน่นอน นั่นหมายถึงหนี้สินรวมสูงกว่าสินทรัพย์รวมที่มีอยู่ทั้งหมด กิจการอาจจะสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่เมื่อไม่สามารถจ่ายคืนภาระหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระและต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ย) ได้ตามกำหนด บริษัทจะเข้าสู่สภาพล้มละลาย

  • แนวทางการแก้ปัญหา

จากสถานภาพทางการเงินที่ใกล้ล้มละลาย ทำให้การบินไทยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเพิ่มทุน เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพราะความสามารถในการกู้เงิน (Debt Capacity) หมดมานานแล้ว เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงมากเมื่อเทียบกับธุรกิจทั่วๆ ไป การขายหุ้นเพิ่มทุน ถ้าให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นเดิมเป็น Right Issue สามารถทำได้แต่โครงสร้างผู้ถือหุ้นก็จะเป็นลักษณะกระจุกตัวแบบเดิม ปัญหาของการกำกับดูแลกิจการ และ Agency Problems ยังคงวนเวียนอยู่ไม่รู้จบสิ้น

อีกทางเลือกหนึ่งคือ ขายหุ้นเพิ่มทุนให้กลุ่มทุนเข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partners) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Airline Industry หรือ Non Airline จะทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นเปลี่ยนไปเป็นโครงสร้างของผู้ถือหุ้นแบบไม่กระจุกตัว จะได้คณะกรรมการที่มีความหลากหลายในความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ ทำให้สามารถปฏิรูป วิธีการ กระบวนการและขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะความรู้และวิสัยทัศน์ในเรื่องการวางแผนกลยุทธ์ (Strategy Formulation), การควบคุมความเสี่ยง (Risk Oversight) และการติดตามผลการดำเนินงาน (Performance Monitoring)

  • บทสรุป

การกำกับดูแลกิจการเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มบุคคลต่างๆ ซึ่งได้แก่ ฝ่ายบริหารของบริษัท คณะกรรมการบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เป็นการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ระหว่างคณะกรรมการ ฝ่ายบริหารและผู้ถือหุ้น ที่จะช่วยให้บริษัทสามารถกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายธุรกิจ รวมทั้งวิธีการ กระบวนการและขั้นตอนในการบรรลุถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมาย และวิธีการในการติดตามวัดผลการดำเนินการของกิจการว่าเป็นไปตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่

การบินไทยมาถึงทาง 2 แพร่ง ทางเลือกแรกยังคงสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ต่อไป (เมื่อ 30 มี.ค.2563 รมว.คลัง ประกาศอุ้มการบินไทยเต็มที่ด้วยเงินภาษีของประชาชน) ปัญหายังคงเวียนว่ายอยู่เหมือนเดิม อีกทางเลือกหนึ่งที่ท้าทายคือจับมือพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งด้านการเงิน และมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจการบิน ส่งผลให้การบินไทยไม่มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจแต่ยังมีฐานะเป็นสายการบินแห่งชาติ มีการบริหารงานคล่องตัวแบบมืออาชีพ

สุดท้ายนี้ ผมหวังว่าคนไทยทุกคนให้กำลังใจพนักงานการบินไทยทุกคน ในการที่ทุ่มเท เสียสละ พร้อมฟันฝ่าวิกฤติครั้งสำคัญครั้งนี้ไปให้ได้ และขอขอบคุณในการมีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย ด้านการให้บริการแบบ “เสน่ห์ไทย” (Smooth As Silk) เสมอมา (รักคุณเท่าฟ้า)