“ศรีจันทร์” ว่าที่ย่านสร้างสรรค์ถิ่นอีสาน

“ศรีจันทร์” ว่าที่ย่านสร้างสรรค์ถิ่นอีสาน

โครงการเปลี่ยนย่านเก่าให้เก๋า ความร่วมมือจากคนในและคนนอกเพื่อดัน “ศรีจันทร์” สู่ย่านสร้างสรรค์

ย่านสร้างสรรค์ (Creative District) เป็นโมเดลสำหรับปลุกเมืองเก่าซึ่งใช้กันทั่วโลก สำหรับเมืองไทย ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือย่านเจริญกรุง กรุงเทพมหานคร บนถนนสายแรกที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่าร้อยปี เป็นย่านที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมสูง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการปลุกเมืองด้วยศิลปะ ดีไซน์ และธุรกิจสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ขึ้นมากมาย แม้เดิมทีเจริญกรุงจะมีแกเลอรี และแหล่งงานฝีมือต่างๆ ตามตรอกซอยที่อยู่มานานแล้ว แต่การที่มีหน่วยงาน เช่น TCDC เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งซึ่งทำงานเชื่อมระหว่างสิ่งที่กระจัดกระจายเข้าหากัน ก็จะเกิดพลวัตใหม่ขึ้นมาได้

วัฏจักรของเมือง

ย่านศรีจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น คือบริเวณโดยรอบถนนศรีจันทร์ซึ่งเป็นย่านการค้าแต่ดั้งเดิม มีประวัติศาสตร์การเติบโตคู่กับจังหวัดขอนแก่น ถนนสายนี้เจริญมาแต่เก่าก่อนคล้ายกับเจริญกรุง เคยเป็นศูนย์กลาง ทั้งการศึกษาที่มีโรงเรียน 3 แห่ง ร้านหนังสือขนาดใหญ่อันเป็นแหล่งความรู้ เป็นศูนย์กลางความบันเทิงกับโรงภาพยนตร์ถึง 6 แห่ง ซึ่งมีร้านอาหาร ร้านค้ารายรอบ รวมถึงเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพราะมีชุมชนชาวซิกส์อยู่ด้วย

แล้วโลกที่หมุนไปข้างหน้าก็เปลี่ยนแปลงเมือง ทั้งความเจริญที่ขยายออกสู่ย่านต่างๆ ผู้คนที่เปลี่ยนจากการเดินเท้า ขึ้นสองแถว มาเป็นขี่มอเตอร์ไซค์ขับรถยนต์ คนที่เคยเดินผ่านร้านรวงต่างๆ ไว้แวะซื้อของติดไม้ติดมือก็ลดลง การจับจ่ายย้ายที่ไปยังศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ โรงหนังที่ทยอยปิดตัวลง ร้านหนังสือที่ลดบทบาทตามความซบเซาของสิ่งพิมพ์ การจราจรที่ติดขัด ทำให้คนขอนแก่นเริ่มห่างหายกับการใช้ชีวิตในย่านศรีจันทร์ นักท่องเที่ยวเองก็ไม่นึกถึงย่านนี้เมื่อมาขอนแก่น

ภาพการนำชมบริเวณต่างๆ ของยย่านศรีจันทร์ (1)

บรรยากาศของย่านจึงค่อนข้างเงียบเหงา มีตึกแถวโบราณที่ถูกทิ้งร้างมากมาย แต่เพราะเมืองที่ต้องการก้าวไปข้างหน้าอย่างขอนแก่น จึงมีโครงการปลุกชีวิตชีวาให้กลับคืนมาสู่ย่านเก่า

วิสัยทัศน์สร้างสรรค์เมือง

จุดประกายได้ไปร่วมทริปเดินชม “ว่าที่” ย่านสร้างสรรค์แห่งแรกของขอนแก่น ซึ่งมีตัวแทนผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเดินพาชมไปด้วยกัน การเดินเที่ยวย่านนี้ ศุภกร  ศิริสุนทร นักออกแบบและที่ปรึกษาเทศบาลนครขอนแก่น เป็นผู้นำชมหลัก เขาบอกพวกเราว่า ในเมื่อเป็นโครงการที่อยู่ในระยะเริ่มต้น ย่านจึงยังไม่ได้มีบรรยากาศแบบแหล่งท่องเที่ยว แต่เขาชวนให้มองผ่านแว่นของอดีตให้เห็นความรุ่งเรืองที่ผ่านพ้นไป แต่ยังคงเหลือมรดกแห่งความเก่าที่พร้อมจะนำมาปัดฝุ่น เติมสีสันโดยคงเสน่ห์ของวันวานไว้

ก่อนที่จะออกเดินเท้ากัน เราได้ฟังนโยบายการเปลี่ยนเมืองด้วยย่านสร้างสรรค์ของขอนแก่น ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่หลายย่านในจังหวัด เช่น ย่านบขส. ย่านรอบบึงแก่นนคร รอบบึงทุ่งสร้าง ศูนย์โรงเรียนกวดวิชา และบริเวณมหาวิทยาลับขอนแก่น เป็นต้น โดยเริ่มที่ย่านศรีจันทร์เป็นแห่งแรก

ภาพป้ายถนนศรีจันทร์

ขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีการบริหารแบบจากล่างขึ้นบน แทนที่จะเป็นบนลงล่างแบบในอดีต ธวัชชัย วนาพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการส่วนการโยธา เทศบาลนครขอนแก่น เล่าให้ฟังว่า หากเป็นเมื่อก่อน มีงบมาแล้วทางจังหวัดก็บริหารแบบคิดเอาเอง มีงบเท่าไหร่ก็หมดไป แต่ประชาชนซึ่ง “ไม่อิน” ก็ไม่ร่วมด้วย ทำให้โครงการไม่เกิด

แต่ในช่วงหลายปีมานี้ ขอนแก่นได้เกิดโครงการขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ ผลักดันโดยเอกชน หนุนโดยภาครัฐ และองค์กรส่วนท้องถิ่น เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์พัฒนาเมืองในมิติต่างๆ โดยเริ่มที่โครงสร้างพื้นฐาน อย่างขนส่งมวลชน ทำให้ขอนแก่นมีรถสาธารณะ เช่น สมาร์ทบัส ที่เชื่อมโยงเส้นทางกับรถสองแถวดั้งเดิม เพื่อให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น ลดปัญหาการจราจร ประหยัดพลังงาน เข้าถึงธุรกิจรายย่อยมากขึ้น ฯลฯ ในอนาคตก็จะมีระบบรถไฟฟ้ารางเบาให้ใช้ และกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของภูมิภาคอีสาน

ธวัชชัยเล่าให้ฟังว่าในการทำโครงการต่างๆ ของสมาร์ทซิตี้ ได้ดึงตัวแทนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อเสนอความคิดเห็นร่วมกัน เมื่อโครงการเริ่มลงมือ ก็มีการตอบรับและสานต่อจากประชาชน โครงการที่ประชาชนเห็นด้วย ใช้งานได้จริง จึงจะเป็นโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภาพบรรยากาศ เทศกาลอีสานครีเอทีฟเฟสติวัล 2019 (7)

บรรยากาศงานอีสาน ครีเอทีฟ เฟสติวัล 2019 ที่ขอนแก่น 

การมาถึงของ TCDC หรือศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จังหวัดขอนแก่น ก็เป็นอีกหน่วยที่สำคัญในการเป็นพื้นที่กลางสำหรับดึงความร่วมมือจากหลายฝ่าย

ที่จริงแล้วขอนแก่นรวมถึงภาคอีสานทั้งหมดมีทรัพยากรมากมาย ทั้งจากธรรมชาติและความคิดสร้างสรรค์ จริงอยู่ที่ถิ่นอีสานเป็นพื้นที่แห้งแล้ง แต่เพราะความกันดารนั้นเองได้สร้างสินทรัพย์ขึ้นมา ตอนนี้มีลูกอีสานที่คืนถิ่นไปมากมาย เพื่อต่อยอดสินทรัพย์และภูมิปัญญาของท้องถิ่นให้มาอยู่ในบริบทร่วมสมัย การเกิดขึ้นของโครงการก็ได้รวมทั้งผู้ประกอบการ ศิลปิน นักออกแบบรุ่นใหม่ ให้มาร่วมตัวกันบนแฟลตฟอร์มเดียว ให้มีพลังขับเคลื่อนย่างก้าวแรก

Co-Create Srichan

สำหรับโครงการผลักดันศรีจันทร์ให้เป็นย่านสร้างสรรค์ มี TCDC เป็นแม่งาน โดยความร่วมมือของเทศบาลนครขอนแก่น และกลุ่มผู้ประกอบการย่านศรีจันทร์ จัดเวิร์คชอปที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วม ดึงคนในย่านศรีจันทร์มาออกความคิด ตั้งแต่การรวบรวมปัญหา เสนอทางแก้ และภาพที่คนศรีจันทร์ต้องการเห็นว่าย่านที่ตนเติบโต อยู่อาศัย หรือทำมาหากินอยู่ควรเป็นอย่างไร ไม่ใช่เป็นแนวคิดจากนักวิชาการหรือนักออกแบบซึ่งเป็นคนนอกอยากเห็น

คุณฆฤณ กังวานกิตติ นักจัดการความรู้อาวุโส สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ฆฤณ กังวานกิตติ

ฆฤณ กังวานกิตติ นักจัดการความรู้อาวุโส สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เล่าให้ฟังว่าจากกระบวนการสำรวจปัญหา ความต้องการ และเสนอแนวทางแก้ไข ทำให้ได้ข้อสรุปมาว่า ย่านศรีจันทร์ปัจจุบันเป็นเหมือน “ กลุ่มผู้สูงอายุ อนุรักษ์นิยม ที่ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง” แต่ด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ของคนย่านศรีจันทร์เอง ต้องการเห็นย่านจะเปลี่ยนสู่ความเป็น “นักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ทำธุรกิจอย่างมีความสุข สร้างสรรค์ คิดไว ลงมือทำ” ในขณะเดียวกันก็ “เก่าแต่เก๋า ยังคงเสน่ห์ของความดั้งเดิม แต่มีชีวิตชีวา”

และเพื่อการไปสู่เป้าหมายในอนาคต ย่านศรีจันทร์ต้องแก้ปัญหาหลายจุด เช่น การเดินทาง ที่รถติด ไม่มีระบบขนส่งมวลชนผ่าน ไม่มีที่จอดรถ ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวดึงดูดคน ไม่มีร้านค้าหรือธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ สภาพพื้นที่ไม่น่ามอง ไม่น่าเดิน คนในย่านไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์ หรือร่วมมือกัน และนักท่องเที่ยวไม่นึกถึงย่านนี้เมื่อมาขอนแก่น

ซอดแจ้ง 1

จึงเกิดโครงการต้นแบบเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาย่านขึ้นมา เช่น ศรีจันทร์ Club – โครงการรวมกลุ่มคนรักศรีจันทร์เพื่อย่านศรีจันทร์, Make Over ศรีจันทร์ – โครงการปรับปรุงสภาพทางกายภาพของย่าน, ศรีจันทร์ซอดแจ้ง Walking Street – โครงการถนนคนเดินประจำย่าน, ศรีจันทร์ One Stop Service Hub – โครงการพัฒนาผู้ประกอบการและธุรกิจในย่านศรีจันทร์ และศรีจันทร์ Easy Access – โครงการพัฒนาระบบขนส่งและการเข้าถึงย่านศรีจันทร์

ซึ่งกำลังทยอยเปิดโครงการ และจะมีเฟสต่อไปอีกตามลำดับ

ศรีจันทร์วันนี้

เราเดินไปชมรอบย่านพร้อมกับกมลวัฒน์ อภิชนตระกูล ผู้บริหารเคี้ยงเทรดดิ้ง ตัวแทนผู้ประกอบการในย่าน ศุภกร ฆฤณ และธวัชชัย กมลวัฒน์บอกว่าผู้ประกอบการในย่านศรีจันทร์ต่างคิดถึงเรื่องการปรับตัวอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีวิธีการชัด เมื่อมีโครงการเปลี่ยนย่านขึ้นมา ทำให้พวกเขาเห็นภาพชัดขึ้น และยินดีที่จะร่วมมือเต็มที่

คุณกมลวัฒน์ อภิชนตระกูล ผู้บริหารเคี้ยงเทรดดิ้ง (1)

กมลวัฒน์ อภิชนตระกูล

พวกเราเดินตั้งแต่โซนถนนหลังเมือง ซึ่งมีร้านเก่าแก่ และพื้นที่ที่เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้คน ตั้งแต่ร้าน 2499 Café ร้านมุ้ยจิน ร้านก๋วยเตี๋ยวชื่นจิต ร้านน้ำเต้าหู้ร้อยปี ที่ยังใช้โม่หินแบบโบราณ เอกชัยเบเกอรี่ ซึ่งเป็นร้านเบเกอรี่เก่าแก่  ร้านขายยาเองเกฮึ้งโอสถอายุ 61 ปี ซึ่งมีตู้ยาจีนสวยงามมาก และร้าน Hidden town แจ๊สบาร์ โดยคนขอนแก่นที่เคยทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับโฆษณา กลับมาเปิดร้านที่ตอนนี้กำลังฮิตมาก ต้องจองโต๊ะกันเลยทีเดียว

โซนถนนกลางเมืองและแยกธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ สี่แยกใหญ่ที่ตัดระหว่างถนนศรีจันทร์และถนนกลางเมือง มีอาคารที่เคยเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย พื้นที่ซึ่งเป็นของกรมธนารักษ์นั้น ทางเทศบาลได้ขอให้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ และ Public Space ให้ผู้คนได้มาใช้เวลากัน ตรงข้ามยังมีร้าน House of Enemy ร้านขายสีสเปรย์สำหรับงานสตรีทอาร์ต กำแพงซึ่งหันเข้าหาอาคารแบงค์ชาติเดิมนั้น ทางเจ้าของร้านติดต่อศิลปินมาพ่นสตรีทอาร์ตหมุนเวียนเปลี่ยนไปเสมอ

ภาพการเพ้นท์ผนัง เพื่อสร้างสีสันให้กับพื้นที่ (3)

พูดถึงสตรีทอาร์ต ในตัวเมืองขอนแก่นก็มีสตรีทอาร์ตกระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ทั้งศิลปินไทยเบอร์ใหญ่ ศิลปินต่างประเทศ ที่มาในโครงการของเทศบาลเอง รวมถึงงานของสตรีทอาร์ติสท์ที่เกิดขึ้นเองด้วย นี่ก็เป็นความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น

ส่วนย่านศรีจันทร์ในวันนี้ หากมองด้วยแว่นของปัจจุบัน เราเห็นตามที่หลายคนว่า คือเป็นถนนกลางเมืองสายหนึ่ง ไม่มีอะไรดึงดูด แต่เมื่อมองในรายละเอียดของอาคารและร้านเก่าแก่ที่ยังคงพอมีให้เห็นเป็นระยะ จะรู้สึกได้ถึงศักยภาพในการฟื้นคืน ทั้งตึกแถวโบราณ อาคารที่มีฟาซาดยุคโมเดิร์น (เมื่อ 40 – 50 ปีที่แล้ว) ลวดลายเหล็กดัดแบบเก่า ที่จะสร้างอัตลักษณ์ให้กับธุรกิจที่จะเกิดใหม่ในย่านนี้

สิ่งหนึ่งที่น่าดีใจบนถนนศรีจันทร์คือฟุตบาทที่ใช้การออกแบบเพื่อคนทั้งมวลอย่างจริงจัง ฟุตบาทกว้างขวาง ไม่มีแผงลอยมาเบียดบังการเดิน แผ่นปูถนนเพื่อคนพิการทางสายตา ขอบถนนที่ลาดเอียงตรงจุดข้ามเพื่อผู้ที่ใช้รถเข็น ทั้งหมดดูใช้งานได้ดี ไม่ได้ทำไปลวกๆ

แต่ในขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการส่วนการโยธา เทศบาลนครขอนแก่นก็ชี้ให้เราได้เห็นถึงโครงสร้างเดิมของ “เซ็นเตอร์พอยท์” ที่สร้างตามเซ็นเตอร์พอยท์ที่สยามสแควร์ เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว หวังว่าจะเป็นช้อปปิ้งสตรีทยอดนิยมไม่แพ้ในกรุงเทพฯ แต่โครงการแบบรัฐจัดให้ ไม่ได้ถามความเห็นประชาชนก็มีอันเจ๊งไป ไม่ประสบความสำเร็จ เหลือแต่โครงเสาสีฟ้า กับพื้นถนนในซอยที่ปูไว้อย่างดี ก็นับว่ายังเป็นโครงสร้างที่ใช้ได้อยู่ หากในอนาคตธุรกิจแถบนี้จะเฟื่องฟูขึ้นมา

ศรีจันทร์ ย่านสร้างสรรค์ ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านเป็นปีๆ แต่หากทำสำเร็จเหมือนอย่างย่านเจริญกรุง ที่มีทั้ง TCDC เหล่าธุรกิจสร้างสรรค์ และ Bangkok Design Week ช่วยกระตุ้นขึ้นมา เทศกาลออกแบบกรุงเทพที่ไม่ได้เป็นเพียงงานเพื่อคนเฉพาะกลุ่ม สามารถดึงคนเข้างานได้ 400,000 คนภายใน 9 วัน หลังจากกิจกรรมนี้ ก็มีการสำรวจพื้นที่ห้องแถวว่างในย่านเจริญกรุง จากราวร้อยห้องก็เหลือเพียง 40 – 50 ห้อง ใครไปเดินเจริญกรุงในระยะหลังมานี้ก็ต้องสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง และสีสันใหม่ๆ

แน่นอนว่าย่านใครก็ย่านมัน การจะทำให้ย่านใดๆ เกิดได้ ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ละย่านมีโจทย์ของตัวเองที่ต้องแก้ แต่โมเดลที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว ก็สามารถเป็นตัวออย่างตั้งต้นให้คนในย่านเห็นภาพและลงมือทำบ้าง

ถ้าย่านศรีจันทร์ทำได้ ไม่เพียงแต่ย่านต่างๆ ในขอนแก่นเท่านั้น นี่จะเป็นโมเดลในการพัฒนาย่านสร้างสรรค์อื่นๆ ในภาคอีสานได้อีก แค่คิดก็สนุกแล้ว