นายกฯ เล็งคลอดแพ็คเกจ 3-4 เยียวยาผลกระทบ ‘โควิด’ ยาวถึงกลางปี

นายกฯ เล็งคลอดแพ็คเกจ 3-4 เยียวยาผลกระทบ ‘โควิด’ ยาวถึงกลางปี

นายกฯ นัดศุกร์นี้ ถก ครม.นัดพิเศษ มาตรการเยียวยาโควิดระยะ 3-4 หวังรับมือถึง ก.ค.นี้ จ่อตัดงบกระทรวงละ 10% พร้อมกฎหมายกู้เงิน

การระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบที่เพิ่มมากขึ้นทำให้รัฐบาลต้องวางแผนป้องกันและเยียวยาผลกระทบจากการระบาดเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการมาแล้ว 2 ชุด แต่ยังไม่เพียงพอจึงทำให้รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการรับมือผลกระทบไปจนถึงกลางปี 2563

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษในช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 3 เม.ย. นี้ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการประชุม ครม.เต็มคณะโดยไม่ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Video Conference) หลังจากการประชุม 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาใช้ระบบออนไลน์

สำหรับการประชุม ครม.นัดพิเศษครั้งนี้ มี 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.นายกรัฐมนตรีจะรับฟังข้อมูลจากกระทรวงต่างๆ ที่จะมารายงานเรื่องมาตรการเยียวยาและดูแลประชาชนที่่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะที่ 3-4 ซึ่งจะเป็นแผนที่ต่อเนื่องไปถึงเดือน พ.ค.-ก.ค.นี้ และ 2.จะมีการหารือเรื่องงบประมาณ กรอบวงเงินงบประมาณ และการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน รวมทั้ง แหล่งที่มาของเงินจากที่ต่างๆ

ก่อนหน้านี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลเตรียมออกมาตรการการดูแลเยียวยาเศรษฐกิจและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยมาตรการระยะที่ 3 จะใช้วงเงินจำนวนมากครอบคลุม 3 ส่วน คือ 1.การดูแลประชาชนและเกษตรกร โดยจะดำเนินการให้ภาคเกษตรเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเกิดการสร้างการจ้างงานกระจายลงหมู่บ้าน 2.ดูแลสภาพคล่องผู้ประกอบการเพิ่มเติม 3.การดูแลเสถียรภาพระบบตลาดเงินและตลาดทุน

หารือที่มางบเยียวยาผลกระทบ

ส่วนที่มาของบประมาณมีที่มา 2 ส่วนคือ 1.การออก พ.ร.บ.การโอนปรับเปลี่ยนงบประมาณจากทุกกระทรวง 10% หรือ 3.2 แสนล้านบาท จากงบประมาณรวม 3.2 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้บริหารการใช้งบประมาณในส่วนนี้

2.การออกฎหมายกู้เงินเพิ่มเติม โดยอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะออกมาในรูปแบบของพระราชบัญัติ (พ.ร.บ.) หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อจัดเตรียมงบประมาณมาใช้ในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ งบกลาง 2563 วงเงิน 96,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้จัดสรรแล้ว 94,029 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 แบ่งเป็น 1.มาตรการดูแลและเยียวยาชุดที่ 2 วงเงิน 45,000 ล้านบาท 2.มาตรการดูแลและเยียวยาชุดที่ 1 วงเงิน 27,500 ล้านบาท 3.มาตรการบรรเทาผลกระทบโควิดและภัยแล้ง 17,310 ล้านบาท 4.โครงการเตรียมความพร้อมป้องกันโควิด 1,233 ล้านบาท 5.ค่าวัสดุอุปกรณ์จัดทำหน้ากากอนามัย 225 ล้านบาท

“เฉลิมชัย”สั่งทำแผนช่วยเกษตร

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หาแนวทางและมาตรการช่วยเหลือหรือบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร รวมถึงประชาชนทั้งประเทศจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ไทยผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปได้แน่นอน

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อผลไม้ที่จะมีผลผลิตออกมาในช่วงนี้ เช่น การส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคผลไม้ภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น การหาตลาดใหม่เพิ่มเติมจากเดิม การส่งเสริมการแปรรูปและการกระจายสินค้าเกษตรอย่างรวดเร็วผ่านระบบออนไลน์ 

รวมทั้ง ได้เตรียมการรองรับแรงงานที่จะไหลกลับไปสู่ภาคเกษตร (Labor Migration) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา โดยมีโครงการสำคัญที่แรงงานไหลกลับเข้าสู่ภาคเกษตรเพื่อให้เข้าไปเรียนรู้และปฏิบัติตาม

ทั้งนี้ สศก.ประเมินว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นปัจจัยลบต่อภาคการเกษตร โดยอาจทำให้ภาวะการค้า การเดินทาง และการขนส่งกระจายสินค้า ได้รับผลกระทบในช่วงแรก และการที่ราคาน้ำมันลดลงจะทำให้ราคายางพาราและราคาพืชพลังงานทดแทนไม่สามารถสูงขึ้นได้มาก รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่ผันผวนอาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง และส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรในประเทศ