'ล็อคดาวน์' ดีอย่างไร ทำไมหลายประเทศใช้สู้ 'โควิด'

'ล็อคดาวน์' ดีอย่างไร ทำไมหลายประเทศใช้สู้ 'โควิด'

มาตรการปิดเมืองหรือ “ล็อคดาวน์” เพื่อยับยั้งโรคโควิด-19 อาจทำให้คนที่อยู่แต่ในบ้านรู้สึกอึดอัด เครียด หรือเบื่อหน่าย แต่ผลวิจัยเหล่านี้ยืนยันว่า การล็อคดาวน์เซฟชีวิตผู้ป่วยนับหมื่นและลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างมาก

ในยุโรป ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่ากลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ต้นตอโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน มีจำนวนผู้ป่วยรวมกันกว่า 4.5 แสนคน และคร่าชีวิตผู้ป่วยไปแล้วกว่า 30,000 คน (นับถึงวันที่ 1 เม.ย.) ถือเป็นทวีปที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสมรณะหนักที่สุดในโลก

อย่างไรก็ดี คณะนักวิจัยจากวิทยาลัยอิมพีเรียล ลอนดอนในอังกฤษ ระบุว่า จากการวิเคราะห์ด้วยการจำลองจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 พบว่า มาตรการล็อคดาวน์อาจช่วยชีวิตคนเกือบ 60,000 คนใน 11 ประเทศของยุโรป ที่กำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาด

  • ช่วยชีวิตผู้ป่วยมหาศาล

งานวิจัยนี้อ้างอิงประสบการณ์ของกลุ่มประเทศที่มีการระบาดหนักที่สุดอย่างอิตาลีและสเปน และนำไปเทียบกับอัตราการเสียชีวิตที่แท้จริง พร้อมคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากไม่มีมาตรการใด ๆ เลย เช่น การปิดโรงเรียน การยกเลิกอีเวนท์ และการล็อคดาวน์

“ด้วยมาตรการแทรกแซงต่าง ๆ ที่บังคับใช้มาจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. เป็นอย่างน้อย เราคาดว่า ทั้ง 11 ประเทศเหล่านี้ป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตได้มากถึง 59,000 คนนับถึงวันที่ 31 มี.ค.” งานวิจัยระบุ “นอกจากนั้นจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อีกจำนวนมาก หากยังบังคับใช้มาตรการเหล่านี้จนกว่าอัตราการแพร่ระบาดลดลงสู่ระดับต่ำ”

ผลวิจัยของอิมพีเรียล ลอนดอน ระบุด้วยว่า แม้ระบบสาธารณสุขในอิตาลีมีข้อจำกัดมากมาย แต่มาตรการล็อคดาวน์ช่วยให้ระบบสาธารณสุขของประเทศ “ไม่ล่มสลาย” และยังช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากถึง 38,000 คน

ส่วนประเทศอื่น ๆ นักวิจัยคาดว่า ในสเปนยับยั้งไม่ให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มถึง 16,000 คน ฝรั่งเศส 2,500 คน เบลเยียม 560 คน เยอรมนี 550 คน สหราชอาณาจักร 370 คน สวิตเซอร์แลนด์ 340 คน ออสเตรีย 140 คน สวีเดน 82 คน เดนมาร์ก 69 คน และนอร์เวย์ 10 คน

“เราไม่ได้ฟันธงว่า มาตรการปัจจุบันควบคุมสถานการณ์การระบาดในยุโรปได้แล้ว แต่หากยังดำเนินต่อไปแบบนี้ แนวโน้มในอนาคตก็น่าจะดีขึ้น” งานวิจัยชี้

  • สกัดผู้ติดเชื้อใหม่นับแสนคน

ส่วนในจีน ผลการศึกษาร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญนานาชาติพบว่า มาตรการปิดเมืองอู่ฮั่นที่รัฐบาลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ช่วยป้องกันไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ต้นตอโรคโควิด-19 ในประเทศพุ่งพรวดหลายแสนคน

“ไซแอนซ์” (Science) วารสารวิชาการรายสัปดาห์เผยแพร่ผลงานวิจัยซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิชาการในสหรัฐ สหราชอาณาจักร และจีน เกี่ยวกับ “ประสิทธิภาพ” ของมาตรการปิดเมือง หรือการล็อคดาวน์ ที่รัฐบาลปักกิ่งบังคับใช้กับอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของโรคโควิด-19 ในจีน ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. นั้น พบว่า สามารถทำลายห่วงโซ่การแพร่ระบาด โดยตัดขาดระหว่างผู้ป่วยกับกลุ่มเสี่ยง และบุคคลแวดล้อมได้อย่างเด็ดขาด

คริสโตเฟอร์ ดาย นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ทำงานวิจัยนี้ ระบุว่า ในวันที่ 50 ของการเกิดโรคระบาด ซึ่งตรงกับวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา สถิติผู้ป่วยสะสมในจีนอยู่ที่ประมาณ 30,000 คน แต่หากยังปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปตามปกติโดยไม่ปิดเมือง จำนวนผู้ติดเชื้อในจีน ณ วันที่ 50 ของการเกิดโรคระบาด อาจพุ่งเป็นมากกว่า 7 แสนคน

  • การระบาดในจีนทุเลาต่อเนื่อง

ปัจจุบัน สถานการณ์โรคโควิด-19 ในจีนดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยพบผู้ป่วยรายใหม่เพียงหลักสิบคนต่อวันจากที่เคยพบสูงสุดเป็นหลักหมื่นต่อวัน และวันนี้ (1 เม.ย.) คณะกรรมาธิการสาธารณสุขแห่งชาติจีนรายงานว่า พบผู้ป่วยใหม่อีก 36 คน เป็นการติดเชื้อภายในประเทศเพียงคนเดียว เพิ่มสถิติสะสมเป็นอย่างน้อย 81,554 คน

ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 7 คน รวมเป็นอย่างน้อย 3,312 คน และจำนวนผู้ได้รับการรักษาหายแล้วมีอย่างน้อย 76,238 คน นั่นหมายความว่า เหลือผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่อีกอย่างน้อย 2,004 คน

นอกจากนี้ การรายงานสถิติประจำวันที่ 1 เม.ย. ยังเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจีนเผยข้อมูลเกี่ยวกับ “ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ” โรคโควิด-19 โดยรวบรวมสถิติถึงวันที่ 31 มี.ค.ว่า มีจำนวนอย่างน้อย 1,367 คน ซึ่งทุกคนอยู่ภายใต้การสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดจากบุคลากรการแพทย์ และจากจำนวนดังกล่าวเป็นกลุ่มผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศอย่างน้อย 205 คน