ครม.อนุมัติหลักเกณฑ์รื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ-บงกช

ครม.อนุมัติหลักเกณฑ์รื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ-บงกช

“สนธิรัตน์” เผย ครม.ไฟเขียว กรอบรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ-บงกช แล้ว มั่นใจ ช่วงเปลี่ยนผ่านไม่สะดุด คงกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.63 ได้เห็นชอบกรอบการส่งมอบสิ่งติดตั้งหรือแท่นผลิตปิโตรเลียมของแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะสิ้นสุดสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 ตามที่คณะกรรมการปิโตรเลียมนำเสนอแล้ว

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ทางผู้รับสัมปทานรายเดิม จะต้องจัดทำแผนการรื้อถอนฯเสนอมายังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์กำหนดไว้ว่าจะต้องวางแนวทางล่วงหน้าก่อนหมดอายุสัมทานเป็นเวลา 2 ปี รวมถึงต้องวางหลักประกันตามที่กฏหมายกำหนด

“การรื้อถอนฯ ตอนนี้หลักเกณฑ์จบไปแล้ว ผู้รับสัมปทานต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนเรื่องการวางหลักประกันฯ ก็คนละส่วนกัน แต่เชื่อว่าเรื่องคงจะไม่ได้ถึงอนุญาโตตุลาการ”

ดังนั้น คาดหมายว่าการส่งมอบงานในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ผู้รับสิทธิ์รายใหม่ คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาขน) หรือ ปตท.สผ.และพันธมิตร จะเป็นตามแผนที่รัฐกำหนดปริมาณการผลิตปิโตรเลียมขั้นต่ำต่อวันจากทั้ง 2 แหล่ง ต้องไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังสิ้นสุดสัมปทานเดินทันที ฉะนั้นการผลิตปิโตรเลียมของไทยจะเกิดความต่อเนื่องอย่างแน่นอน

158573894331

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม กล่าวว่า เชฟรอนฯ ในฐานะผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณในปัจจุบัน ได้แจ้งเรื่องการส่งมอบแท่นผลิตแก่รัฐ จำนวน 191 แท่น โดยรัฐจะเก็บไว้ใช้ประโยชน์ประมาณ 142 แท่น และส่วนที่ เชฟรอนฯ จะต้องทำการรื้อถอน จำนวน 49 แท่น

ขณะที่ ปตท.สผ.ในฐานะผู้ดำเนินการแหล่งบงกชในปัจจุบัน จะส่งมอบแท่นผลิตแก่รัฐ จำนวน 50 แท่น โดยรัฐเก็บไว้ในประโยชน์ 46 แท่น และส่วนที่ ปตท.สผ.จะต้องทำหารรื้อถอน ประมาณ 4 แท่น

158573895828

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การประเมินมูลค่าการรื้อถอนฯ อยู่ที่ประมาณ 7 ล้านดอลลาร์ต่อแท่น ทั้ง 2 แหล่ง จะรื้อถอนรวม 53 แท่น คาดว่า ต้องใช้วงเงินรื้อถอนประมาณ 12,000 ล้านบาท

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า หากได้รับมติ ครม.อย่างเป็นทางการแล้ว กรมฯ จะทำหนังสือถึงผู้รับสัมปทานทั้ง 2 แหล่ง ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนโดยส่งแผนการรื้อถอนฯ ซึ่งจะมีวงเงินประมาณการค่าใช้จ่ายการรื้อถอน โดยกรมฯจะส่งให้บุคคลที่สาม เป็นผู้เข้ามาประเมินมูลค่าการรื้อถอนทั้งแท่นและท่อต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย