โปรดระวัง โรคระบาดทางจิตในยุคโควิด-19

โปรดระวัง โรคระบาดทางจิตในยุคโควิด-19

ผลกระทบประการหนึ่งที่มาพร้อมกับโควิด-19 คือเรื่องของอารมณ์ของคนในสังคม ซึ่งนอกเหนือจากอารมณ์ที่หดหู่หรือเศร้า ยังมีอารมณ์แตกตื่น รวมถึงอารมณ์หวาดกลัวอีกด้วย และที่ต้องระวังคืออารมณ์เหล่านี้สามารถที่จะระบาดจากบุคคลหนึ่งไปสู่คนอื่นๆ ในวงกว้างได้ไม่ยาก

ความท้าทายที่สำคัญในสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้คือ ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับตัวไวรัส รวมถึงโอกาสในการติดเชื้อของแต่ละคน ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับงานของตนเอง ความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเมื่อใด ฯลฯ ซึ่งเมื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนมากๆ ก็จะทำให้ไปกระตุ้นให้เกิดความกลัวขึ้นในสมอง ซึ่งความกลัวนั้นเป็นปฏิกริยาโดยธรรมชาติอยู่แล้วที่จะทำให้คนสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน เนื่องจากความกลัวจะนำไปสู่พฤติกรรมที่จะทำให้คนสามารถหลบเลี่ยงจากอันตรายที่มาจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น

สังเกตง่ายๆ กับพฤติกรรมในช่วงที่ผ่านมา จากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับโควิด-19 พอมีข่าว (ลือ) ออกมาว่ารัฐบาลจะทำการปิดประเทศ ก็นำไปสู่ความกลัวว่าอาหารจะขาดแคลน ซึ่งก็นำไปสู่พฤติกรรมของการไปซื้อและสะสมอาหารไว้เพื่อแก้ไขต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นเมื่อปิดประเทศ

ความกลัวเป็นสภาวะอารมณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น และปัจจุบันงานวิจัยต่างๆ ก็พบแล้วว่าอารมณ์ของคนนั้นสามารถที่จะแพร่กระจายและติดต่อไปยังคนอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี แบบที่เขาเรียกว่า Emotional Contagion โดยเมื่ออารมณ์ของบุคคลหนึ่งระบาดหรือกระจายไปสู่บุคคลอื่นแล้วย่อมจะส่งผลต่อพฤติกรรมของบุคคลอื่นได้ ตัวอย่างเช่น ในหลายๆ ครั้งเมื่อมีคนๆ หนึ่งในกลุ่มหัวเราะ แล้วทำให้คนอื่นๆ ในกลุ่มหัวเราะไปด้วยทั้งๆ ที่ไม่รู้สาเหตุความขำของบุคคลแรก ซึ่งก็คือตัวอย่างของการส่งผ่านอารมณ์ที่ดี หรือ ถ้าวันใดคุณแม่บ้านเกิดอารมณ์เสีย หงุดหงิดตั้งแต่เช้า เป็นที่แน่นอนแล้วว่าตลอดทั้งวันนั้น ทั้งคุณพ่อบ้านและคุณลูกๆ ก็จะพลอยรู้สึกหงุดหงิดและโลกไม่สดใสไปด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นตัวอย่างของการระบาดของอารมณ์ในส่วนที่ไม่ดี

การส่งผ่านหรือระบาดของอารมณ์นั้น นอกเหนือจากจะเกิดขึ้นเมื่อพบเจอกันต่อหน้าแล้ว สื่อออนไลน์ต่างๆ ยังสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งผ่านอารมณ์ได้อีกด้วย ช่วงที่มีแต่ข่าวชวนรันทดเกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่อดูในหน้าสื่อสังคมออนไลน์แล้วย่อมทำให้เกิดความรู้สึกรันทดหดหู่ตามไปด้วย

ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันที่คนส่วนหนึ่งมีอารมณ์กลัว (ที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอน) ทั้งกลัวต่อโรค กลัวว่าระบบสาธารณสุขจะไม่เพียงพอ กลัวจะไม่มีอาหาร กลัวจะไม่มีงาน ฯลฯ ก็ย่อมสามารถส่งผ่านความกลัวดังกล่าวไปสู่บุคคลอื่นได้โดยไม่รู้ตัว ทั้งผ่านการสื่อสารโดยปกติ หรือ ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ

ประเด็นสำคัญคือถึงแม้ความกลัวเป็นสิ่งที่ดี และช่วยให้คนปรับพฤติกรรมเพื่อให้อยู่รอดได้ แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ยังไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อใด ถ้าตลอดระยะเวลาที่เหลืออยู่ ความกลัวกลายเป็นอารมณ์หลักของทุกคนในสังคมที่มีการระบาดออกไปอย่างกว้างขวาง ย่อมไม่ส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม และเชื่อว่าในไม่ช้ากรมสุขภาพจิตคงจะต้องออกมามีบทบาทในสังคมอีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันทุกคนยังคงต้องระมัดระวังตัวและเฝ้าระวัง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเลือกแหล่งข้อมูลหรือแหล่งข่าวที่จะรับด้วย แหล่งข่าวที่ควรจะติดตาม ควรจะเป็นแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ และเสนอข่าวโดยมีหลักฐานข้อมูลมารองรับ ไม่ใช่แหล่งข่าวที่นำเสนอแต่ความคิดเห็นส่วนตัวเป็นหลักและแถมเป็นความคิดเห็นที่เป็นการแพร่กระจายอารมณ์กลัวสู่บุคคลอื่น โดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้การมีสติตลอดเวลา การมองโลกในแง่บวก การเป็นผู้ให้ การได้มีโอกาสในการช่วยเหลือบุคคลอื่นไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นภูมิต้านทานต่ออารมณ์กลัวที่อาจจะระบาดมาได้ ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบัน นอกเหนือจากสุขภาพกายแล้ว อย่าลืมดูแลสุขภาพใจด้วย และที่สำคัญ ต้องไม่ทำตัวเป็น Super Spreader ในด้านอารมณ์ที่ไม่ดีด้วย