แพทย์ฯศิริราชหวั่นทรัพยากร-แพทย์ไม่พอ หากผู้ป่วยสูง-ย้ำอยู่บ้านลดความเสี่ยง

แพทย์ฯศิริราชหวั่นทรัพยากร-แพทย์ไม่พอ  หากผู้ป่วยสูง-ย้ำอยู่บ้านลดความเสี่ยง

สถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 127 ราย รวมยอดสะสม 1,651 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย รวมเสียชีวิตแล้ว 10 ราย โดย กรุงเทพฯ-นนทบุรี 869 คน ภาคอีสาน 77 ราย ภาคเหนือ 55 ราย ภาคกลาง 172 ราย ภาคใต้ 206 ราย

จากจำนวนผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้น ประเทศไทยยังคงอยู่ระหว่างทางแยก ที่จะขึ้นไปทางซ้ายตามฝั่งยุโรป อเมริกา หรือ ลงทางขวาตาม ฮ่องกง สิงคโปร์ มาตรการต่างๆ ที่ออกมาในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วยชะลอการระบาดของโรคได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีผู้ป่วยรายใหม่เกิน 100 รายต่อวัน แม้ขณะนี้ ทรัพยากรทางการแพทย์ต่างๆ จะยังคงเพียงพอที่จะรองรับทั้งผู้ป่วยรายใหม่และผู้ป่วยวิกฤติ แต่หากยังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ประเทศไทยอาจต้องเลี้ยวซ้ายไปตามอิตาลี ดังนั้น สิ่งสำคัญ ที่ทุกคนสามารถทำได้ในตอนนี้ คือ การอยู่บ้าน ลดเชื้อ เพื่อชาติ รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม Social Distancing หากมีความจำเป็นที่ต้องออกจากบ้านจริงๆ

วานนี้ (31 มีนาคม) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวในงานแถลงข่าว การคาดการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าเมื่อวันที่ 23 มีนาคม เราได้เน้นจุดเปลี่ยนของจำนวนผู้ป่วย กลุ่มประเทศที่คุมโควิด-19 อยู่ และ คุมไม่อยู่ หากควบคุมได้ สถานการณ์ไทยอัตราการเพิ่มเพียง 20% เพื่อให้แน่ใจว่า หากเกิดการติดเชื้อเพิ่มจริงๆ ยังอยู่ในความสามารถศักยภาพของประเทศไทยที่ควบคุมได้ ดังนั้น เป้าหมายคือ การกดกราฟจำนวนผู้ป่วยเพื่อให้อยู่ในเส้นล่างเช่นประเทศฮ่องกง สิงคโปร์

158566494314

ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมามีมาตรการหลายอย่างออกมาเป็นระลอกโดยรัฐบาล หน่วยงานท้องถิ่น จังหวัด หรือแม้กระทั่งภาคเอกชนหลายแห่ง ก็มีมาตรการหลายอย่างออกมาเช่นเดียวกัน ถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะหลายมาตรการที่ออกมาเริ่มทำได้เห็นภาพ

“ตัวเลขจริงที่เฝ้าติดตามทุกวัน จัดทำโดยสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา นวัตกรรม วิจัย ซึ่งมีการติดตามข้อมูลต่อเนื่อง ณ วันนี้มีกลุ่มประเทศที่ดูการควบคุมโควิด-19 ไม่ค่อยดีนัก อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน อิตาลี และประเทศที่ควบคุมดี 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ตอนนี้เราอยู่ในระดับที่พอๆ กับ มาเลเซีย มีผู้ป่วยยืนยันล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มีนาคม จำนวน 1,524 ราย เพิ่มขึ้น 136 ราย ตอนนี้หากว่าไปแล้ว แนวโน้มของประเทศไทยอยู่ระหว่างกลุ่มควบคุมได้กับควบคุมไม่ได้ และอาจจะสูงกว่าแนวโน้มเดิมที่คาดการณ์ไว้” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

  • ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย น่าห่วง

ปัจจุบัน ประเทศมาเลเซีย มีผู้เสียชีวิต 37 ราย ขณะที่ประเทศไทย 10 ราย ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน มีบางประเทศที่มีอัตราการเพิ่มที่น่าเป็นห่วง เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สำหรับประเทศเวียดนาม หลายคนจะสังเกตว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จาก 100 ราย เป็น 200 ราย ในระยะเวลาที่ห่างมาก ดังนั้น เวียดนามโอกาสพลิกเพิ่มขึ้นมาเยอะน่าจะไม่มากนัก

158566494915

ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อในกลุ่มประเทศอาเซียนนับจากวันที่มีผู้ติดเชื้อถึง 100 รายขึ้นไป ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ พบผู้ติดเชื้อ 100 รายขึ้นไปในวันที่ 1 มีนาคม , ประเทศมาเลเซีย วันที่ 10 มีนาคม , ประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในวันที่ 15 มีนาคม , ประเทศเวียดนาม วันที่ 23 มีนาคม , บูรไน วันที่ 25 มีนาคม และ กัมพูชา 29 มีนาคม

  • สัดส่วนผู้ป่วยต่างจังหวัด 53%

ในประเทศไทย หลังจากเกิดเหตุการณ์การเคลื่อนย้ายของคนจำนวนมากไปต่างจังหวัด พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ จากเดิมผู้ป่วยในกรุงเทพฯ มีจำนวนมากกว่า แต่ปัจจุบัน สัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ผู้ป่วยในต่างจังหวัดคิดเป็น 53% อย่างไรก็ตาม หากดูตามแผนที่การกระจายตัวของผู้ป่วยตามจังหวัดต่างๆ จะเห็นว่า บางแห่งมีการรายงาน 1 ราย ขณะที่ จังหวัดที่มีจำนวนมาก คือ เชียงใหม่ นครราชสีมา อุบลราชธานี และทางภาคใต้

158566494668

“สถานการณ์ในเวลานี้ ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง มีมาตรการหลายอย่างที่ออกโดยรัฐบาล โดยจังหวัดต่างๆ กทม. และความร่วมมือของภาครัฐ และเอกชน ทำให้ดึงจำนวนรายใหม่ลดลงมาในระดับที่ใกล้เคียงกับระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยที่จะดูแล”

สำหรับผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจซึ่งถือว่าค่อนข้างอยู่ในภาวะวิกฤต มีมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ผู้ป่วย 1 คน แม้จะอาการจะน้อยลงแต่ตราบใดที่ยังตรวจเจอเชื้อ จะต้องรักษาไว้ในโรงพยาบาลอยู่ แต่หากคนไข้กลุ่มนี้เข้ามามากเกินศักยภาพจำนวนเตียงที่มี อาจจะต้องขยายไปสู่ขั้นตอนต่อไปในการดูแลคนไข้เหล่านี้

“มีแนวโน้มที่จะขึ้นและตราบใดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นห่วงทรัพยากรทุกชนิดในการดูแล ไม่ว่าจะเป็นเตียง บุคลากรทางด้านสุขภาพ อุปกรณ์ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สิ่งเหล่านี้ จนถึง ณ วันนี้ปริ่มมาก อาจจะค่อนไปทางขาดแคลน หากมีคนไข้หนักขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งมันจะเกินศักยภาพ”

158566494490

ศ.นพ.ดร.ประสิทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่คนไทยทุกคนสามารถช่วยกันได้ โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่เป็นสิ่งที่ย้ำมาตลอด อันดับแรก คือ ลดคนไข้ หากสามารถลดคนไข้ลง ให้คนที่ติดเชื้อน้อยลง ศักยภาพที่มีอยู่ตอนนี้ ก็จะเพียงพอดูแลคนที่ติดเชื้อ แม้กระทั่งคนที่หนัก วิธีที่ทั่วโลกทำเหมือนกันหมด คือ ขอให้อยู่บ้าน การอยู่บ้านเราจะไม่เอาตัวเราออกไปแพร่เชื้อ หรือ รับเชื้อ นี่คือสิ่งที่ดีที่สุด ทุกครั้งที่เราออกจากบ้านหากเรามีเชื้อ เราก็มีโอกาสไปแพร่เชื้อ แต่หากเราไม่มีเชื้อ เราก็มีโอกาสรับเชื้อกลับมาแพร่ในบ้าน ดังนั้น การออกจากบ้านเป็นการเพิ่มความเสี่ยง

 

“หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน เช่น ซื้ออาหาร ขอให้เว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ ถ้าไม่ติดต่อกัน เว้นระยะห่างระหว่างคนที่พูดด้วยประมาณ 2 เมตร ขณะเดียวกันก็ใส่หน้ากากอนามัย เพื่อไม่ให้รับละอองต่างๆ ระหว่างพูดคุย เพราะเไม่มีทางรู้ว่าคนๆ นั้นมีไวรัสอยู่หรือไม่ นี่คือการป้องกันที่ดีที่สุด ใช้เวลาอยู่นอกบ้านให้น้อยที่สุด หากช่วยกันแบบนี้ จำนวนคนไข้จะค่อยๆ น้อยลง” คณบดี คณะแพทย์ฯ กล่าว

158566510446

ทั้งนี้จำนวนคนไข้จะไม่น้อยลงทันที เพราะจำนวนคนไข้ที่เราเห็นอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่มีเชื้ออยู่แล้วแต่ค่อยๆ ทยอยเข้ามาตรวจ อาจจะต้องเจอตัวเลขเหล่านี้อีกระยะหนึ่ง แต่หากสกัดดีพอ จำนวนใหม่จริงๆ จะน้อยลง และถึงตอนนั้น ศักยภาพในการดูแลภาพรวมของประเทศไทยจะเพียงพอต่อผู้ป่วยทุกคนที่เป็นโควิด-19

นอกจากนี้ มาตรการต่างๆ ที่ประกาศออกมาจากทางรัฐบาลและเขตจังหวัด ขอให้ทุกคนตั้งใจทำ การไม่มารวมตัวกัน งดสังสรรค์ อย่ารอให้ต้องใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นจิตสำนึก หากทุกคนพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่ชี้แจงไป เราจะรู้ว่าเรากำลังช่วยชาติจริงๆ

“อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะฝาก คือ ในเวลานี้อาจจะมีเพื่อนหรือคนรู้จักที่ไม่ได้ทำตามสิ่งที่ทำ ขอความกรุณาชวนเขา อธิบาย ดึงเขากลับมาอยู่ในกระบวนการทั้งหมด แปลว่าเรากำลังดึงเข้ามาช่วยประเทศเหมือนกัน อยากเชิญชวนทุกคน อยู่บ้าน เป็นการช่วยชาติ” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ กล่าว

  • ศิริราชขยายจำนวนเตียง

ผศ.นพ.มนศักดิ์ ชูโชติรส รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวเสริมว่าตัวเลขผู้ป่วยโรงพยาบาลศิริราชเมื่อวันที่ 23 มีนาคม จำนวน 38 ราย มีจำนวนเตียงทั้งหมด 62 เตียง และได้เพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาล ทั้ง โรงพยาบาลศิริราช ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โดยวันที่ 25 มีนาคม ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก เพิ่มจำนวนเตียง 5 เตียง วันที่ 26 มีนาคม เพิ่มอีก 13 เตียงและวันที่ 29 มีนาคม โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ เพิ่มอีก 2 เตียง วันที่ 30 มีนาคม ศูนย์การแพทย์กาญจนา เพิ่มอีก 10 เตียง และวันที่ 31 มีนาคมนี้ จะเปิดเพิ่มจำนวนอีก 10 เตียง

“ปัจจุบัน จะมีจำนวนเตียงที่รองรับได้ 102 เตียง แต่ผู้ป่วยก็เพิ่มสูงขึ้น ขณะนี้อยู่ที่ 70 ราย เป็นผู้ป่วยหนัก 6 รายที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทั้งนี้ การขยายศักยภาพของโรงพยาบาลคงเพิ่มได้อีกไม่มากนัก จากที่คาดการณ์ไว้จะขยายได้อีกประมาณ 16 – 25 เตียง และอาจจะเต็มศักยภาพ” นายแพทย์มนศักดิ์ กล่าว