เพิ่มงบกลาง ต้องกล้าโอนงบ

เพิ่มงบกลาง ต้องกล้าโอนงบ

ที่ประชุม ครม. (31 มี.ค.63) สำนักงบประมาณเสนอแนวทางเพิ่มงบกลาง ด้วยการให้กระทรวงการคลังออก พ.ร.ก.กู้เงิน และเสนอออกกฎหมาย พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณจากส่วนราชการที่ไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่ทัน มาที่งบกลางแทน ซึ่งหวังว่ารัฐบาลจะเลือกแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 มี.ค.2563 ได้อนุมัติเพิ่มงบประมาณช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยให้เพิ่มเป้าหมายการช่วยเหลือประชาชนจาก 3 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน ทำให้วงเงินเพิ่มจากเดิม 4.5 หมื่นล้านบาท เป็น 1.35 แสนล้านบาท เพื่อแจกคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนี้ให้สำนักงบประมาณไปทำรายละเอียดและแหล่งที่มาของเงิน ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ยังลุกลาม ขณะที่สำนักงบประมาณได้เข้ารายงานสถานการณ์งบประมาณปี 2563 เนื่องจากงบกลางอาจจะไม่เพียงพอ

ข้อมูลสำนักงบในการใช้จ่ายงบกลางที่ผ่านมา ครม.มีการอนุมัติงบกลางเป็นระยะ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก งบแก้ปัญหาภัยแล้ง 9 พันล้านบาท งบฉุกเฉินและจำเป็นสำหรับแก้ปัญหาโควิด-19 วงเงิน 9 พันล้านบาท หลักๆ เป็นของกระทรวงต่างๆ แต่กระทรวงสาธารณสุขมากที่สุด​ 5.5 พัน​ล้านบาท งบช่วยเหลือโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย​ 108​ ล้าน ที่เหลือเป็นงบค่าใช้จ่ายโครงการจ้างงานให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ มีระยะเวลาการจ้างไม่เกิน 6 เดือน ค่าจ้างต่อเดือนไม่เกิน 9 พันบาท

ที่ประชุม ครม.วันเดียวกัน สำนักงบประมาณยังเสนอแนวทางเพิ่มงบกลาง แต่ ครม.ยังไม่พิจารณา ประกอบด้วย แนวทางที่ 1.ให้กระทรวงการคลังออก พ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งประเด็นปัญหามีหลายประเด็นต้องตีความ เช่น รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินได้หรือไม่ หรืออาจใช้เวลาพิจารณานาน เพราะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ส่วนแนวทางที่ 2.ขอให้ ครม.เสนอออกกฎหมาย พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณจากส่วนราชการที่ไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่ทัน มาไว้ที่งบกลางแทน

เป็นที่น่าสังเกตว่า มติ ครม.วันที่ 10 มี.ค.2563 คำสั่งให้ส่วนราชการบริหารงบประมาณกรณีที่ไม่ได้ใช้จ่าย และให้ตัดออกเพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น งดเดินทางประชุมในต่างประเทศ โดยขอตัดงบ 10% และย้ายงบมาที่งบกลาง แต่ขณะนี้ยังไม่มีส่วนราชการใดระบุว่าได้ตัดงบบริหารได้แม้แต่หน่วยงานเดียว เราเห็นด้วยกับแนวทางที่ 2 เพราะทำได้รวดเร็ว เชื่อว่าหากไม่ดำเนินการจะไม่มีส่วนราชการใดให้ความร่วมมือคืนเงินหรือตัดงบในส่วนที่ไม่จำเป็น

เราเห็นว่า งบประมาณที่ใช้ไม่ได้ช่วงโควิด-19 ที่ชัดเจนคือ งบอบรมสัมมนา ส่วนนี้สามารถดึงกลับมา ซึ่งบางกระทรวงมีมากถึง 10% อีกส่วนคืองบผู้ชำนาญการที่มีทุกกระทรวง ขณะนี้ผู้บริหารกระทรวงไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน หากรัฐบาลดึงงบดังกล่าวมา ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนไทยได้ สอดคล้องกับข้อเสนอสำนักงบที่ให้รัฐบาลออก พ.ร.บ.โอนเงิน เราไม่มั่นใจว่าถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสจะหยุดลงเมื่อไหร่ แต่เราเชื่อว่ารัฐบาลโดยผู้นำประเทศที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเลือกแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้นโอกาสที่ประเทศไทยจะขาดงบสำหรับแก้ปัญหาโควิด-19 จะไม่มีทางเกิดขึ้น