'22 บจ. ‘อสังหาฯ’ หุ้นกู้ครบดีล 9 หมื่นล. ทริสฯ มั่นใจกระแสเงินพอไถ่ถอน

'22 บจ. ‘อสังหาฯ’ หุ้นกู้ครบดีล 9 หมื่นล. ทริสฯ มั่นใจกระแสเงินพอไถ่ถอน

"ทริสเรทติ้ง" เผย 22 บจ.อสังหาฯ มี "หุ้นกู้" ครบกำหนดไถ่ถอนปีนี้รวม 8.93 หมื่นล้านบาท เชื่อทุกรายมีเงินสดคงเหลือในมือ-วงเงินกู้พร้อมเบิกจากธนาคารเพียงพอรองรับการไถ่ถอน หลังนักลงทุนลดความสนใจลงทุน เน้นถือเงินสดในช่วง “โควิด-19” ระบาดหนัก

บริษัท ทริสเรทติ้ง คงมุมมอง "Negative" หรือ "ลบ" สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย แม้การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจนี้ แต่ก็สร้างความเสียหายเป็นอย่างมากต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม  ซึ่งหากการแพร่ระบาดยิ่งนานก็จะยิ่งส่งผลกระทบที่มากขึ้นต่อธุรกิจ แม้ในกรณีที่การแพร่ระบาดสามารถควบคุมได้ภายในครึ่งแรกของปีนี้ แต่ยอดขายที่อยู่อาศัยก็น่าจะยังลดลงที่ระดับประมาณ 20%-30% จากปีก่อนหน้า

สำหรับในปีนี้ ทริสเรทติ้งมีความกังวลเกี่ยวกับทั้งยอดขายใหม่และยอดโอนที่อยู่อาศัย ซึ่งยอดขายที่รอรับรู้เป็นรายได้ (Backlog) ของผู้ประกอบการโดยรวมลดลงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ดังนั้นยอดขายใหม่ที่คาดว่าจะลดลงในปีนี้ก็อาจจะส่งผลให้การรับรู้รายได้ในปีนี้และปีถัด ๆ ไปลดลงด้วย 

โดยผลกระทบโควิด-19 ต่อผู้ประกอบการเริ่มยกระดับความรุนแรงมากขึ้นในช่วงปลายเดือนก.พ.2563 จากความกลัวการแพร่กระจายของไวรัสภายนอกประเทศจีนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ซื้อบ้านที่เข้าเยี่ยมชมโครงการลดลงอย่างมากจากความกังวลเรื่องการติดเชื้อและจากการที่รัฐบาลมีมาตรการควบคุมการเดินทางและการทำกิจกรรมทางสังคม ยอดขายคอนโดมิเนียมให้แก่ชาวต่างชาติก็ปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ปี 2562 จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของประเทศจีนและการแข็งค่าของเงินบาท จากข้อมูลของผู้ประกอบการทั้ง 22 ราย พบว่ายอดขายคอนโดมิเนียมให้แก่ชาวต่างชาติในปี 2562 เหลือเพียง 2.5 หมื่นล้านบาท ลดลงเกือบ 60% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ในปีนี้ความเสี่ยงที่เกิดจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีตอาจส่งผลกระทบในด้านลบต่อรายได้และกระแสเงินสดจากการส่งมอบที่อยู่อาศัย ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตดังกล่าวจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการรักษาสภาพคล่องทางการเงินเป็นอันดับแรก 

นอกจากนี้ ความกลัวเกี่ยวกับผลกระทบจากไวรัสต่อภาวะเศรษฐกิจยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีกด้วย การแพร่ระบาดที่กินเวลายาวนานขึ้น ส่งผลทำให้ผู้ลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนหันมาถือเงินสดและลังเลที่จะลงทุนแม้แต่ในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่แม้จะเป็นบริษัทที่มีคุณภาพดี การที่นักลงทุนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการที่ต้องการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อมาทดแทนหุ้นกู้เดิม

จากข้อมูลงบการเงิน ณ สิ้นปี 2562 พบว่าบจ.อสังหาฯ 22 ราย มียอดหุ้นกู้คงเหลือประมาณ 2.43 แสนล้านบาท คิดเป็น 60% ของหนี้สินทางการเงินโดยรวมของผู้ประกอบการทั้งหมด และพบว่า มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดปีนี้ 8.93 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ระยะสั้น 2.34 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้ระยะยาว 6.59 หมื่นล้านบาท โดยประมาณ 50% ของหุ้นกู้ดังกล่าวจะครบกำหนดไถ่ถอนไตรมาส 2 ปีนี้ และจาก ความต้องการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนหายไป ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงต้องหันไปกู้ยืมเงินจากธนาคารแทน 

ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการทั้ง 22 ราย หากไม่นับรวมกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และคาดว่าผู้ประกอบการจะสามารถต่ออายุหนี้เงินกู้ธนาคารที่มีอยู่ออกไปได้ก่อน พบว่า ผู้ประกอบการทุกรายมีเงินสดคงเหลือในมือและวงเงินกู้พร้อมเบิกจากธนาคารเพียงพอที่จะรองรับการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 3 เดือนข้างหน้า และประมาณครึ่งหนึ่งมีเงินสดคงเหลือและวงเงินกู้พร้อมเบิกเพียงพอสำหรับการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดภายในปีนี้

นอกจากนี้ กองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารสารหนี้ภาคเอกชนที่จะจัดตั้งขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนคุณภาพดี (อันดับเครดิตตั้งแต่ระดับ BBB-” ขึ้นไป) ที่ไม่สามารถต่ออายุตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ครบทั้งจำนวนนั้นก็เป็นแหล่งเงินทุนอีกแหล่งหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่ของบริษัทเอกชนที่มีคุณภาพดีได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์นั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทริสเรทติ้ง จะติดตามสภาพคล่องของผู้ประกอบการแต่ละรายอย่างสม่ำเสมอ โดย ณ สิ้น มี.ค. 2563 ทริสเรทติ้งมีการจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวน 22 ราย โดยมีผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับ “A” จำนวน 7 ราย ในระดับ “BBB” จำนวน 11 ราย และในระดับ “BB” จำนวน 4 ราย และมีผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบจำนวน 6 บริษัท ได้แก่ บมจ. อารียา พรอพเพอร์ตี้(AREEYA) บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) บมจ.มั่นคงเคหะการ (MK) บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) และ บมจ. พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF)