‘หุ้นไทย’ โค้งแรกดิ่งหนัก 31% ลุ้น ‘SSF’ ดันดัชนีพ้นวิกฤติ

‘หุ้นไทย’ โค้งแรกดิ่งหนัก 31% ลุ้น ‘SSF’ ดันดัชนีพ้นวิกฤติ

ตลาดหุ้นไทยไตรมาสแรกดิ่ง 31% กลุ่ม ‘ปิโตรเคมีและแบงก์’ ร่วงหนักสุดกว่า 40% ขณะที่ ตลาดเริ่มรักษาระดับในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังได้ 4 อุตสาหกรรม ‘สื่อสาร-ประกัน– สดุก่อสร้าง - พลังงาน’ ช่วยพยุง โบรก ประเมินแนวโน้มได้ กองSSF ช่วยดันดัชนีพ้นวิฤติ

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับ "ไตรมาสแรก" ปี 2563 เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในไตรมาสที่หนักหน่วงที่สุด เมื่อเทียบกับในบรรดาไตรมาสแรกของทุกๆ ปี โดยไตรมาสแรกปีนี้ดัชนี SET ปรับตัวลดลงมาถึง 31.14% จากราว 1,600 จุด มาปิดที่ 1,087.82 จุด ณ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา

เมื่อไล่เรียงทั้ง 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า หุ้นในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ กลุ่มทรัพยากร เป็น 3 กลุ่มหลักที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด โดยลดลง 40.04% , 39.23% และ 34.28% ตามลำดับ โดยหากพิจารณาหมวดของหลักทรัพย์ที่ลดลงมากสุด ได้แก่ หมวดปิโตรเคมี ลดลง 46% หมวดสื่อ ลดลง 44.13% และหมวดธนาคารพาณิชย์ ลดลง 41.78% ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ติดลบน้อยที่สุดคือ กลุ่มเทคโนโลยี ติดลบ 17.77%

ปัจจัยหลักที่กดดันให้ดัชนี SET และทั้ง 8 กลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงทั้งหมด คือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ "โควิด-19" ซึ่งยกระดับและเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น จนมีจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 7 แสนคน ขณะที่ในประเทศไทยก็มีรายงานทะลุ 1,500 คน ทั้งนี้ การซื้อขายของกลุ่มนักลงทุนแต่ละประเภทตลอดไตรมาสแรกที่ผ่านมานั้น นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยต่ออีก 1.13 แสนล้านบาท เทียบกับปีก่อนทั้งปี ซึ่งเทขายไป 4.5 หมื่นล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มจำกัดมากขึ้น โดย SET ปรับตัวลง 3.64% ขณะที่หมวดอุตสาหกรรมบางส่วนสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยธุรกิจสื่อสารเป็นหมวดหุ้นที่เพิ่มขึ้นได้มากสุด 8.6% จากการฟื้นตัวของ 3 หุ้นหลักของกลุ่ม ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่ปรับเพิ่มขึ้นได้ 10 – 20%

158566151217

   

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 10 เรื่องที่ครู 'โควิด-19' สอน 'นักลงทุนไทย'

    

ธุรกิจประกันเป็นหมวดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นได้เป็นอันดับ 2 เพิ่มขึ้น 6.73% โดยหลักหนุนจาก บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (SEG) และบมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TQM) ซึ่งเพิ่มขึ้น 33.65% และ 27.14% ตามลำดับ ขณะที่หมวดวัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 5.71% หนุนจากการฟื้นตัวของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ซึ่งเพิ่มขึ้น 9.86% ส่วนหมวดพลังงานฟื้นตัวเล็กน้อย 1.56% จาก บมจ.ปตท. (PTT) ที่ฟื้นตัว 3.57% ขณะที่ 2 หุ้นโรงไฟฟ้าอย่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เพิ่มขึ้น 6-9%

"วิจิตร อารยะพิศิษฐ" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มหยุดชะงักจากการพยายามควบคุมโควิด-19 โดยผลการดำเนินงานของบจ.ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ที่จะทยอยรายงานช่วงกลางเดือน เม.ย. – กลางเดือน พ.ค. นี้ คาดจะอ่อนแอมาก และแนวโน้มกำไรในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 มีทิศทางที่อ่อนแอต่อเนื่อง เพิ่มโอกาสที่ตลาดจะปรับลดประมาณกำไรอีก

ดังนั้น อัพไซด์ของตลาดยังคงจำกัด ในขณะที่ปัจจัยบวกอาจมีเข้ามาพยุงได้เพียงครั้งคราว เช่น การออกกองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว(SSF) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 3 หรือโอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเดือน พ.ค.นี้

ด้าน บล.เอเซียพลัส ระบุว่า แรงหนุนตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นจะมาจากกองทุนรวม SSF ซึ่งมีเงื่อนไขพิเศษที่ให้ลงทุนในหุ้นไทยได้ไม่น้อยกว่า 65% จะเริ่มเสนอขายวันที่ 1 เม.ย. จนถึง 30 มิ.ย.2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยพยุงดัชนี SET ให้ผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าวได้ รวมถึง ส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น และมุ่งเน้นให้กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อยและผู้ที่เริ่มต้นวัยทำงานได้รับประโยชน์มากขึ้น

ส่วนประเด็นในเรื่องของการทำงานที่บ้าน ที่คาดว่าจะเป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มสื่อสาร ล่าสุด จากข้อมูลที่ได้รับจาก ADVANC มองว่าแม้ธุรกิจบางส่วนจะได้รับผลบวกจากปริมาณการใช้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มต่ำกว่าปัจจัยกดดันจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวต่อลูกค้าส่วนใหญ่ อีกทั้งการแข่งขันที่ยังสูงก็บั่นทอนราคาเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง