วช.อัดงบ 250 ล้านขับเคลื่อน 5 ภารกิจสู้ covid-19

วช.อัดงบ 250 ล้านขับเคลื่อน 5 ภารกิจสู้ covid-19

วช.โต้โผระดมพลังนักวิจัยสู้ภัยโควิด-19 จัดสรรงบประมาณ 250 ล้านบาทดำเนินกิจกรรมทางวิชาการ 5 เรื่อง อาทิ อ่านรหัสพันธุกรรม-ติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อในไทย, พัฒนาแบบจำลองเพื่อคาดการณ์การระบาด ตลอดจนประเมินผลมาตรการมุ่งหาแนวทางแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรค

วช.โต้โผระดมพลังนักวิจัยสู้ภัยโควิด-19 จัดสรรงบประมาณ 250 ล้านบาทดำเนินกิจกรรมทางวิชาการ 5 เรื่อง ได้แก่ อ่านรหัสพันธุกรรม-ติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อในไทย, พัฒนาแบบจำลองเพื่อคาดการณ์การระบาด, จัดทำชุดตรวจวินิจฉัย, พัฒนายา-วัคซีน และจัดเวชภัณฑ์-ระบบการจัดการ ตลอดจนประเมินผลมาตรการทั้งในเชิงนโยบายและทางปฏิบัติ มุ่งหาแนวทางแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ในสภาวะวิกฤติที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้จัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางด้านวิชาการและวิจัย (RKEOC) โดยมอบหมายให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานหลัก ปฏิบัติภารกิจด้านข้อมูลทางวิชาการ เชื่อมเข้ากับกลไกของกระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานระดับนานาชาติ ทั้งเผยแพร่สถานการณ์และองค์ความรู้กับประชาชน และร่วมกับกรมควบคุมโรคด้านการวิจัย

158565488579

กรองข้อมูลสู่สาธารณประโยชน์ 

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีข้อมูลทางวิชาการเพิ่มขึ้นถึง 5,000 เรื่องจากทั่วโลกที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ตัวอย่างเช่น 1.ข้อมูลจากประเทศจีน พื้นที่เริ่มต้นการระบาดจึงมีข้อมูลค่อนข้างมากและละเอียด ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของไทยในระยะต้น 2.ข้อมูลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก ที่มีผู้เชี่ยวชาญจากทุกๆประเทศวิเคราะห์สถานการณ์ในจีน อิหร่าน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น พร้อมทำออกมาเป็นรายงาน ขณะที่ทางศูนย์ฯ ได้วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้แล้วนำมาปรับให้เข้ากับบริบทของไทย

3.ข้อมูลวิธีปฏิบัติของประเทศต่างๆ ที่ถือเป็นกรณีตัวอย่าง ได้แก่ การวิเคราะห์มาตรการต่างๆ ในอังกฤษ อิตาลี ญี่ปุ่น ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก รวมทั้งระบุถึงผลจากการปฏิบัตินั้นเป็นอย่างไร โดยนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงผลของมาตรการต่างๆ เหล่านั้น แล้วนำมาปรับใช้สู่การปฏิบัติทั้งภาพรวมและภาพละเอียดของประเทศ

158565487122

งบ 250 ล้านเดินหน้า 5 ภารกิจด่วน

ศูนย์ฯ จึงมีหน้าที่วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เหล่านั้น และคัดสรรข้อมูลส่วนที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลที่จะพร้อมใช้ นอกจากนี้ ถึงแม้จะมีข้อมูลจากทั่วโลก แต่ก็ยังมีความรู้บางประการที่ประเทศไทยต้องมีและหาไม่ได้เลยจากแหล่งข้อมูล จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม โดยการกำหนดหัวข้อว่าเรื่องใดควรทำวิจัยและมีความต้องการเร่งด่วน ภายใต้ 5 หัวข้อ ดังนี้

1.การวิจัยเพื่อที่จะเข้าใจไวรัสก่อโรคโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของไวรัส โดยให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อที่จะอ่านรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่พบในผู้ป่วยไทย เทียบกับเชื้อทั่วโลก เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาชุดตรวจที่มีความแม่นยำ ในขณะเดียวกันก็มีการติดตามว่าเชื้อไวรัสนั้นมีการกลายพันธุ์หรือไม่ และกลายพันธุ์ไปอย่างไร สำหรับข้อมูลนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างของไวรัส

2.การวิจัยพัฒนาแบบจำลองเพื่อคาดการณ์การระบาด แบ่งเป็น แบบจำลองทางคณิตศาสตร์คาดการณ์เรื่องการระบาด จำนวนผู้ติดเชื้อ ระยะเวลา เพื่อวางแผนจัดการ และการประเมินผลของมาตรการที่ใช้ ว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ควรทำอะไรเพิ่มและเมื่อใด อาทิ หากจะต้องออกมาตรการปิดสถานศึกษาจะมีผลอย่างไร จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง อย่างไร อีกทั้งมาตรการควบคุมคนในพื้นที่จะมีผลบังคับใช้ได้เมื่อใด

3.พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยมาตรฐานที่ผลิตได้ในประเทศ อีกทั้งให้ทุนวิจัยพัฒนาชุดตรวจรูปแบบใหม่ที่เร็วขึ้น แม่นยำ สะดวกและราคาถูก ขณะเดียวกันได้เตรียมห้องแล็บให้พร้อมทั้งจำนวนและเทคโนโลยี โดยให้ทุนวิจัยในกลุ่มนี้ไปแล้ว 5 โครงการ 

4.ทุนวิจัยพัฒนายาและการรักษาที่ได้ผล โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย องค์การอนามัยโลก เพื่อที่จะได้ยาตัวใหม่ประสิทธิภาพสูง ซึ่งที่ผ่านมา มีการพัฒนายาและมีการทดสอบแล้วเบื้องต้น ตลอดจนการพัฒนาวัคซีนจากตัวเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้ทุนวิจัยด้านวัคซีนไปแล้ว 4 โครงการ

5.การวิจัยด้านเวชภัณฑ์และระบบการจัดการ ซึ่งจะมีหน้ากากอนามัย หน้ากากนาโน หน้ากากแบบซักได้ โดยจะประเมินประสิทธิภาพของหน้ากาก อีกทั้งการวิจัยด้านสังคม การรับรู้ข้อมูล ผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และการฟื้นฟู

158565490378

อว.สนับสนุนรัฐบาลสู้ภัยโควิด

ศูนย์ฯ มีนักวิเคราะห์ที่มีความเชี่ยวชาญจากหลากหลายหน่วยงานรวม 50 คน ที่พร้อมสนับสนุนภารกิจของศูนย์ฯ ขณะที่งบประมาณ 250 ล้านบาทเป็นการจัดสรรตามความจำเป็นและสถานการณ์เร่งด่วนในแต่ละด้าน หากไม่เพียงพอก็จะจัดสรรเพิ่มตรงส่วนนี้ และสามารถดำเนินการโครงการต่างๆเหล่านี้ได้ทันที ขณะที่หลายโครงการได้มีการดำเนินงานแล้วตั้งแต่ ก.พ.ที่ผ่านมา อีกทั้งโครงการส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาดำเนินงานให้ผลอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน

ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวอีกว่า ในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 นอกจากจัดตั้งศูนย์ฯ แล้ว บทบาทของ อว. ซึ่งมีโรงเรียนแพทย์ในสังกัด 23 แห่ง รวมจำนวนเตียงกว่า 14,475 เตียง และมีแพทย์ พยาบาลที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูงในระดับนานาชาติ มากกว่า 23,758 คน เบื้องต้นพบว่า ทุกแห่งมีความพร้อมในการบริการจัดการ เฝ้าระวัง คัดกรองไวรัสโคโรนา ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย เครื่องมืออุปกรณ์ ห้องคัดแยก ในการดูแลผู้ป่วยและรับมือกับโรคดังกล่าว

158565661782