ครม.รับทราบคมนาคม ดึงเกาหลีใต้ลงทุนอีอีซี

ครม.รับทราบคมนาคม  ดึงเกาหลีใต้ลงทุนอีอีซี

กระทรวงคมนาคม เล็งดึงเกาหลีใต้ช่วยไทยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี พร้อมนำเทคโนโลยียางพาราใช้ทำแบริเออร์หุ้มยางพาราในไทย

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)รับทราบการเดินทางเยือนประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 24 - 23 ก.พ.2563 ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้เข้าพบหารือกับนางคิม ฮยอน-มีรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งแห่งประเทศเกาหลีใต้

โดยได้หารือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถึงแนวทางการผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบ 

โลจิสติกส์ของไทย ที่มีการขับเคลื่อนภารกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการอีอีซีและการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำ ซึ่งฝ่ายไทยจะแจ้งความคืบหน้า โครงการต่าง ๆ ให้ฝ่ายเกาหลีใต้ทราบต่อไป ในขณะที่เกาหลีใต้ ขอให้ไทยพิจารณาภาคเอกชน ของเกาหลีที่มีศักยภาพเพื่อร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  และสนับสนุนการคัดเลือกเจ้าภาพ จัดการประชุมระดับนานาชาติฯ ในปี 2568 ณ เมืองคังนึง เกาหลี   ซึ่งไทยได้ตอบรับและยินดีให้การสนับสนุน รวมทั้งขอเชิญผู้แทนฝ่ายเกาหลี เยือนไทยในโอกาสต่อไป 

ทั้งนี้นายศักดิ์สยาม ยังได้ตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมจราจรของเกาหลี ที่สามารถแสดงภาพจากกล้องวงจรปิดบนทางด่วน แบบ 360องศา และมีการติดเซนเซอร์ภายใต้พื้นผิวจราจร เพื่อเก็บข้อมูล ความหนาแน่นของสภาพการจราจรทั่วไปแบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี ในการนำ เทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินภารกิจเพื่อลดงบประมาณรายจ่าย ด้านบุคลากรและสนับสนุนในการบริหารจัดการปัญหาจราจร

ขณะที่ระบบจัดเก็บ ค่าผ่านทางพิเศษ แบบ Hi-Pass Multi - Lane Free Flow (MLFF) ของเกาหลี มีการติดตั้ง อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณไว้บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางและไม่มีไม้กั้น ดังนั้น ผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องลดความเร็วเมื่อผ่านช่อง MLFF ซึ่งระบบประมวลผล จะไม่บันทึกข้อมูลซ้ำซ้อนในกรณีที่ผู้ใช้บริการเปลี่ยนช่องจราจร และช่วยลด การเกิดอุบัติเหตุได้อย่างดี

ทังนี้ยังได้ดูผลทดสอบคอนกรีตแบริเออร์หุ้มยางพารา ( RFB) ของเกาหลี พบว่า มีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจ สามารถรับแรงกระแทกได้ดีและนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะนำมาต่อยอด ในโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทางถนน และในอนาคต และลงนามบันทึกข้อตกลง( MOU) กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อซื้อยางพารามาเป็นวัตถุดิบการผลิต 

RFB ต่อไป