จับตา '4 เขื่อนใหญ่' แล้งนี้มาเยือนแล้วจริงหรือ?

จับตา '4 เขื่อนใหญ่' แล้งนี้มาเยือนแล้วจริงหรือ?

เป็นประจำทุกปี เมื่อถึงฤดูร้อนผลกระทบที่มักจะเกิดขึ้นคือ ปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยลง ซึ่งส่งผลต่อภาคประชาชน ภาคเกษตรกร และภาคเอกชน แล้วปี 2563 นี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักยังเยอะอยู่ไหม เพียงพอหรือไม่

ปัญหาภัยแล้ง เป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะหากเกิดขึ้นและรุนแรงขึ้นมาจริงๆ จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งภาคเกษตรกรรม ประชาชน รวมไปถึงภาคเอกชน เห็นได้จากบางพื้นที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคหรือบริโภคในช่วงหน้าแล้ง แล้วปีนี้ไทยจะประสบกับปัญหาภัยแล้งหรือไม่

ก่อนอื่นคงต้องมาดูลักษณะสภาพอากาศของประเทศไทยกันก่อน กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานคาดการณ์ลักษณะอากาศของไทยในช่วง 3 เดือนของปีนี้ ตั้งแต่มีนาคม-พฤษภาคม 2563 (ข้อมูล วันที่ 2 มีนาคม 2563) ไว้ว่า ในช่วง 3 เดือนนี้ คาดว่าปริมาณฝนโดยรวมนั้นจะต่ำกว่าค่าปกติราว 5% แต่สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10%

158804670136

ขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยในปีนี้ จะมีค่าสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย โดยประเทศไทยตอนบน จะมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35-37 องศาเซลเซียส จากค่าปกติ 25.3 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 24-26 องศาเซลเซียส จากปกติ 24.6 องศาเซลเซียส ส่วนพื้นที่ภาคใต้ มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33-35 องศาเซลเซียส จากค่าปกติ 33.6 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 24-26 องศาเซลเซียส จากค่าเฉลี่ยปกติ 24.3 องศาเซลเซียส

ถ้าดูจากแนวโน้มด้านนี้ จะเห็นว่าปีนี้ประเทศไทยต้องเจอทั้งอุณหภูมิอากาศที่สูงขึ้น และปริมาณฝนที่คาดว่าจะน้อยลง ทำให้วันนี้เราคงต้องมาดูสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ทั่วประเทศว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค หรือไม่?

ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2562/63 กรมชลประทาน ก็มีการรายงานสถานการณ์ปริมาณน้ำทุกวัน อย่างล่าสุด วันที่ 27 เมษายน 2563 ก็มีการรายงานถึงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางทั่วประเทศ ที่มีทั้งหมด 447 แห่ง ว่ามีน้ำรวมกันทั้งสิ้น 35,641 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ..) หรือคิดเป็น 47% ของความจุอ่างทั้งหมด ส่วนปริมาณน้ำใช้การมีอยู่ราว 11,956 ล้าน ลบ.. หรือประมาณ 23% ของความจุน้ำใช้การ

แต่เป็นที่น่าจับตา เมื่อในจำนวนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นั้นมีกว่า 25 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า หรือเท่ากับ 30% ได้แก่ ภูมิพล, สิริกิติ์, แม่งัดสมบูรณ์ชล, แม่กวงอุดมธารา, แควน้อยบำรุงแดน, แม่มอก, กิ่วคอหมา, ห้วยหลวง, จุฬาภรณ์, อุบลรัตน์, ลำตะคอง, ลำพระเพลิง, มูลบน, ลำแชะ, ลำนางรอง, สิรินธร, ป่าสักชลสิทธิ์, ทับเสลา, กระเสียว, วชิราลงกรณ์, ขุนด่านปราการชล, คลองสียัด, บางพระ, หนองปลาไหล และประแสร์


158804652696

ด้าน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งหมด 8,698 ล้าน ลบ.. หรือราว 35% ของความจุอ่าง ส่วนปริมาณน้ำใช้การได้เหลือเพียง 2,002 ล้าน ลบ.. หรือเพียง 11% ของความจุน้ำใช้การ

หากเราเทียบกับสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลัก ในช่วงวันเดียวกัน (27 เมษายน) 5 ปีย้อนหลัง จะพบว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักของประเทศมีปริมาณลดต่อเนื่องมาราว 4-5 ปี

158815333712

  • แล้วปริมาณน้ำขนาดนี้เพียงพอหรือไม่ ? 

คำตอบของคำถามนี้ อาจสะท้อนจากข้อมูลเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน ที่กล่าวถึงแผนการเพาะปลูกว่า แนะนำให้ทำการเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนและมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตร

โดยในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปีนั้น ในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง ในปีนี้ไม่สามารถที่จะสนับสนุนการทำนาปีแบบเหลื่อมเวลาได้เหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อย ต้องสงวนไว้ใช้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น 

158815328717

ขณะที่ลุ่มน้ำอื่นๆ ก็ได้แนะนำช่วงเวลาในการเพาะปลูกเช่นกัน ซึ่งเป็นช่วงที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนตกชุกปกติ อย่างลุ่มน้ำแม่กลอง ถ้าเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำให้เพาะปลูกเดือนพฤษภาคม 2563 ส่วนพื้นที่ดอนให้ทำการเพาะปลูกราวเดือนกรกฎาคม 2563 หรือสะท้อนจากภาพของนาข้าวที่เริ่มยืนต้นตายในจังหวัดฉะเชิงเทรา จากการขาดแคลนน้ำจืดจากแม่น้ำบางปะกงไว้เพาะข้าว ขณะที่อื่นด้านหนึ่งของแม่น้ำบางปะกงก็ประสบปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกได้เช่นกัน เป็นต้นไป 

ขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมามีกว่า 24 จังหวัด ที่มีการประกาศเขตการใช้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว ซึ่งข้อมูลของกรมชลประทานนี้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา พบว่ามีการประกาศแล้วรวม 152 อําเภอ 810 ตําบล 4 เทศบาล 7,082 หมู่บ้านหรือชุมชน ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ มหาสารคาม สกลนคร กาฬสินธุ์ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี

ทำให้ที่ผ่านมาหน่วยที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปช่วยเหลือ อย่างเช่น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน สำนักงานชลประทานที่ 11 ลงพื้นที่พร้อมรถบรรทุกน้ำให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล ในบางพื้นที่ของอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร หรือพื้นที่ในอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีสำนักงานชลประทานที่ 15 นำเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรและราษฎรให้มีน้ำทำการเกษตรและกิจกรรมอื่นๆ เป็นต้น 

158815330250

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐเองก็เร่งมาตรการช่วยเหลือและบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และการช่วยเหลือ ประชาชน โดยได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหา ขาดแคลนน้ำ และโครงการเร่งด่วนเพื่อเก็บน้ำฤดูฝนตามมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเร่งดำเนินมาตรการตามแผนการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก (EEC) และการเจรจาซื้อน้ำจากบ่อดินของเอกชนให้มีน้ำเพียงพอ และติดตามการเตรียมการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนแล้ว 

ทั้งนี้คงต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการมองหาแหล่งน้ำอื่นๆ ที่จะเข้ามาทดแทน เช่น น้ำบาดาล เป็นต้น เมื่อต้องประสบภาวะภัยแล้ง

ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา, กรมชลประทาน