‘กลุ่มแบงก์’ถูกแต่ไร้เสน่ห์ ผู้ถือหุ้นใหญ่มูลค่า‘พอร์ต’วูบ

‘กลุ่มแบงก์’ถูกแต่ไร้เสน่ห์ ผู้ถือหุ้นใหญ่มูลค่า‘พอร์ต’วูบ

หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (Banking) เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ดิ่งลงมาอย่างหนักในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จากดัชนีของกลุ่มราว 500 จุด เหลืออยู่เพียง 250 จุด ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 11 ปี จนทำให้หุ้นแต่ละตัวภายในกลุ่มมีมูลค่าที่ต่ำลงอย่างมาก

จากข้อมูลราคาปิด ณ 27 มี.ค. 2563 ค่า P/E โดยเฉลี่ยของกลุ่มแบงก์อยู่ที่ 6.2 เท่า ขณะที่ค่า P/BV อยู่ที่ 0.58 เท่า ขณะที่ค่าสถิติของดัชนี SET อยู่ที่ 12.76 เท่า และ 1.2 เท่า ตามลำดับ โดยหุ้นในกลุ่มแบงก์ที่มีค่า P/E ต่ำที่สุดคือ บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) ซึ่งอยู่ที่เพียง 3.32 เท่า และเมื่อพิจารณาราคาหุ้นในปัจจุบันเทียบกับการจ่ายเงินปันผลในปีที่ผ่านมาของหุ้นแบงก์ พบว่าอัตราเงินปันผลเฉลี่ยของหุ้นทั้ง 11 บริษัท จะสูงถึง 8.42%

อย่างไรก็ตาม การประเมินค่า P/E และค่า P/BV เหล่านี้ เป็นการประเมินโดยพิจารณาจากราคา ณ ปัจจุบัน เทียบกับกำไรที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพราะฉะนั้นเมื่อราคาปรับตัวลดลงมาก่อนที่จะมีการประกาศผลประกอบการออกมา เท่ากับว่าค่าสถิติเหล่านี้ก็จะลดต่ำลง ดังนั้นแล้ว หากบริษัทเหล่านี้รายงานผลประกอบการในปีนี้ออกมาแย่ลง ค่าสถิติอย่าง P/E และ P/BV ที่อยู่ในระดับต่ำก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นได้อีก

ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงมาของหุ้นในกลุ่มแบงก์ ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ของกลุ่มลดลงจาก 2.18 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1.15 ล้านบาท ลดลงไป 1.03 ล้านล้านบาท หรือ 47.2% จาก 1 ปีก่อนหน้า โดยปัจจุบัน บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นหุ้นกลุ่มแบงก์ที่มีมาร์เก็ตแคปสูงสุด 2.25 แสนล้านบาท รองลงมาคือ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 2.14 แสนล้านบาท และบมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) 1.87 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน มูลค่าการถือครองของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่และสถาบันต่างๆ ของหุ้นในกลุ่มแบงก์ก็มีมูลค่าลดลงตามไปด้วย อย่างกองทุนประกันสังคม ซึ่งถือครอง 5 หุ้นในกลุ่มแบงก์ ได้แก่ BBL, KBANK, SCB, KKP และ TISCO มีมูลค่าการถือครองลดลง 2 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าเมื่อปีก่อนที่ 3.93 หมื่นล้านบาท 

ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BBL อย่าง ชาตรี โสภณพนิช และบริษัทในเครือคือ กรุงเทพประกันชีวิต และกรุงเทพประกันภัย (BLA) มีมูลค่าการถือครองลดลง 7.25 พันล้านบาท จากมูลค่าเมื่อปีก่อนที่ 1.37 หมื่นล้านบาท

ส่วนกองทุนรวมวายุภักษ์ ซึ่งถือครองทั้งในส่วนของหุ้น SCB, KTB และ TMB เดิมทีมีมูลค่าการถือครองรวม 1.35 แสนล้านบาท ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 6.66 หมื่นล้านบาท หรือมูลค่าลดลงไป 6.9 หมื่นล้านบาท 

ยุวนารถ สุวรรณอำไพ นักวิเคราะห์อาวุโส บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่า แม้ว่าดัชนีกลุ่มแบงก์จะปรับตัวลงมาถึง 45% จากต้นปี และลงมาซื้อขายที่เพียง 0.5 เท่า ของมูลค่าทางบัญชี (P/BV) แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่แพร่กระจายและรุนแรง ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว ล้วนเป็นปัจจัยที่กระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มธนาคาร 

ธปท.ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีปีนี้ ลงมาถึง -5.3% จากปีก่อน รวมถึงกลุ่มธนาคารต้องออกมาตรการต่างๆ เช่น พักชำระเงินต้น ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ ดังนั้น เราจึงปรับกำไรกลุ่มธนาคารในปี 2563 – 2564 ลง 21 – 26% ส่งผลให้กำไรปกติในปีนี้ของกลุ่มจะอยู่ที่ 1.23 แสนล้านบาท อ่อนตัวแรงถึง 27% จากปีก่อน เป็นสาเหตุให้กลุ่มธนาคารยังไม่น่าสนใจ 

โดยเรายังคงแนะนำหุ้น บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป หรือ TISCO ด้วยราคาเป้าหมาย 76 บาท เนื่องจากอัตราเงินปันผลที่สูงถึง 11% ขณะที่กำรปกติน่าจะลดลง 13% ต่ำกว่ากลุ่ม ขณะเดียวกัน ได้ปรับเรตติ้งของ บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) จากเป็นกลางสู่ระดับซื้อ สำหรับการลงทุนระยะยาว เพราะอัตราเงินปันผลที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม สำหรับธนาคารที่แนะนำซื้อ เรามองว่ายังไม่ใช่จังหวะในการลงทุน เพราะตลาดหุ้นที่ค่อนข้างผันผวน และการระบาดของโควิด-19 ดังนั้นเราแนะนำรอดูความชัดเจนหลังการประกาศงบไตรมาส 1 ปี 2563 ช่วงประมาณวันที่ 10 – 21 เม.ย. นี้

ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) มองว่า ภาพรวมของกลุ่มธนาคารในปัจจุบันลงมาซื้อขายที่ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ของค่า P/BV ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551 สะท้อนค่าเฉลี่ยผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 7% เทียบกับปี 2551 ที่สูงถึง 12% ขณะที่มีความเสี่ยงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในอนาคต โดยเราคาดว่า จะมีการปรับลดลงอีก 2 ครั้ง ในปีนี้