‘บิ๊กแป๊ะ’ สั่งเพิ่มความเข้ม ปิดทุกช่องทางไม่ให้โจรซ้ำเติมปชช.

‘บิ๊กแป๊ะ’ สั่งเพิ่มความเข้ม ปิดทุกช่องทางไม่ให้โจรซ้ำเติมปชช.

“จักรทิพย์” สั่งปิดช่องทางมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชน ในภาวะการระบาดโควิด-19" เพิ่มความเข้มการปฎิบัติหน้าที่ ป้องปราบอาชญากรรม การกักตุน กู้ยืมขูดรีด ฉ้อโกงผ่านออนไลน์ เผยแพร่ Fake News

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีหนังสือวิทยุในราชการตร. ด่วนที่สุด ที่ 0007.35/922 ลงวันที่ 30 มีนาคม ถึงผู้รับปฎิบัติ ผบช.น. ภ.1-9 ก. ปส. ทท. สตม. ส. ตชด. และ สยศ.ตร. ผู้รับทราบ นรม. และมรว.กห. จตช. รองผบ.ตร. และผู้ช่วยผบ.ตร. หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า โดยอ้างถึง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 76/2563 เรื่องจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีนายกฯ เป็นประธาน เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการเร่งด่วนในการบริหารสถานการณ์ เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

นายกฯ จึงสั่งการในการประชุมบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด(โควิด - 19) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา เวลา 09.30 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล ให้ตำรวจดำเนินการตามมาตรการด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและบังคับใช้กฎหมายในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่เกิดขึ้น

โดยปัจจุบัน ตำรวจมีภารกิจในการสนับสนุนเพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งอาจทำให้ผู้ไม่หวังดีฉวยโอกาส สร้างความเดือดร้อนซ้ำเติมประชาชน ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้ทุกหน่วยดำเนินการดังนี้

1.ให้เพิ่มความเข้มในการปฎิบัติหน้าที่ เพื่อเป็นการตัดช่องโอกาสของมิจฉาชีพและผู้ไม่หวังดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมที่กระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น การรวมตัวแข่งรถในทาง การขับขี่รถขณะเมาสุรา หรือการประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นต้น

2.สภาพปัญหาเศรษฐกิจทำให้เกิดอัตราการว่างงาน ส่งผลต่อแนวโน้มของการเกิดอาชญากรรมที่เพิ่มมากขึ้น จึงให้ทุกหน่วยดำเนินมาตรการในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมให้มีประสิทธิภาพ

3.ดำเนินการอย่างเฉียบขาดกับผู้ที่ก่ออาชญากรรมที่เป็นการซ้ำเติมประชาชนทุกประเภท เช่น การกักตุนสินค้าและบริการ การกู้ยืมเงินโดยมีอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การหลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่างๆ เช่น หลอกลวงขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การเผยแพร่หรือส่งต่อข่าวปลอม (Fake News) เป็นต้น

4. บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงแจ้งมาเพื่อทราบและถือปฎิบัติโดยเคร่งครัด