‘ทีเอชเอ’ ร้องรัฐ-ประกันสังคม อุ้มลูกจ้างโรงแรม 1.6 ล้านคน

‘ทีเอชเอ’ ร้องรัฐ-ประกันสังคม อุ้มลูกจ้างโรงแรม 1.6 ล้านคน

หลังจากสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ได้หารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือลูกจ้างโรงแรมซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สมาคมฯจึงได้สะท้อนว่า “ทางรอดแรก” ที่ต้องการ คือความช่วยเหลือจาก “สำนักงานประกันสังคม” เพื่อรักษาคนงานไว้ให้ได้

สุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากสถิติล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค.2563 ขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศ 32,564 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องทั้งหมด 1,254,168 ห้องพัก โดยอัตราส่วนห้องพัก1ห้องใช้พนักงานโรงแรม1.3คน จึงมีพนักงานโรงแรมทั้งหมด1,630,419คน โดยคาดว่ากว่า95%ของโรงแรมทั้งหมดหรือคิดเป็น 30,936 แห่งจะไม่มีรายได้เพราะการระบาดของโควิด-19ในช่วงนี้!

“เมื่อวิกฤติโควิด-19ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรม โจทย์คือจะทำอย่างไรให้โรงแรมไม่เลิกจ้าง สมาคมฯจึงต้องการให้ประกันสังคมช่วยเหลือลูกจ้างโรงแรมเป็นอย่างแรก หลังผู้ประกอบการโรงแรมจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว โดยลูกจ้างโรงแรมทั่วประเทศปัจจุบันมีกว่า1.6ล้านคน"

นอกเหนือจากแนวทางช่วยเหลืออื่นๆ ของสำนักงานประกันสังคม อาทิ การพัฒนาฝีมือแรงงาน และความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) แบบใช้หลักประกัน ดอกเบี้ยอยู่ที่ 3% แต่ถ้าไม่ใช้หลักประกัน ดอกเบี้ยอยู่ที่5%โดยกำหนดวงเงินซอฟท์โลนให้แต่ละรายกู้สูงสุดไม่เกิน20ล้านบาท

และเมื่อวันที่ 25มี.ค.ที่ผ่านมา ทางสำนักงานประกันสังคมได้หารือกับสมาคมฯเพิ่มเติมว่า มีแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวม แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานหรือลูกจ้างหยุดงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ถูกกักตัวในที่พัก14วัน หากใช้สิทธิการลาป่วย ลาพักผ่อน และลากิจจนครบแล้ว ลูกจ้างจะไม่ได้รับค่าจ้าง (Leave without Pay)ตรงนี้ประกันสังคมจะเป็นคนจ่ายให้ โดยลูกจ้างจะได้รับเงินว่างงานจากเหตุสุดวิสัยในอัตรา50%ของค่าจ้างเฉลี่ย

แนวทางที่รัฐบาลสั่งปิดกิจการชั่วคราว ถ้าลูกจ้างยังต้องมาทำงาน นายจ้างจะต้องเป็นคนจ่ายค่าจ้างให้ แต่ถ้าลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง(No Work No Pay)ลูกจ้างจะได้รับเงินว่างงานจากประกันสังคมจากเหตุสุดวิสัยในอัตรา50%ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นเวลา60วัน

แนวทางที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างอัตรา75%ของค่าจ้าง ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา75 ส่วนแนวทางที่เลิกกิจการหรือเลิกจ้าง ลูกจ้างจะได้รับเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น ค่าชดเชยตามอายุงาน และเงินอื่นๆ ด้านแนวทางที่กรณีลูกจ้างลาออกเอง ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยในสถานการณ์แบบนี้ นอกจากลูกจ้างจะตัดสินใจลาออกแล้วรับเงินทดแทนกรณีว่างงาน45%ของค่าจ้างเฉลี่ย ไม่เกิน90วัน

“แนวทางทั้งหมดที่สำนักงานประกันสังคมแจกแจงมานั้น ไม่ใช่ทางออกที่สมาคมฯต้องการ เพราะการหยุดกิจการโรงแรมชั่วคราวไม่ตรงกับแนวทางที่1และ2ที่ต้องการ แต่ตรงกับแนวทางที่3ที่นายจ้างต้องเป็นคนจ่ายเงินแก่ลูกจ้างในอัตรา75%ของค่าจ้าง ซึ่งในช่วง3เดือนที่ผ่านมา โรงแรมไม่มีรายได้เข้ามาเลย จนถึงวันนี้รายได้มันเป็นศูนย์แล้ว ทำให้โรงแรมจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว ใครจะมีปัญญาจ่าย และถึงจะมีจ่าย จะจ่ายได้อีกสักกี่เดือน”

จึงเป็นที่มาของสมาคมฯทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.กระทรวงแรงงาน โดยเนื้อความระบุโดยสรุปว่า เนื่องจากโรงแรมเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและมีพนักงานอยู่จำนวนมาก ผู้ประกอบการโรงแรมไม่มีความประสงค์จะเลิกจ้าง และสมาคมฯยินดีที่จะประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกโรงแรมช่วยกันคงสภาพลูกจ้างไว้ ด้วยการช่วยเหลือเรื่องปัจจัย4ทั้งอาหารและที่พัก

แต่สถานการณ์ปัจจุบัน โรงแรมไม่สามารถหยุดกิจการชั่วคราวแล้วจ่ายเงินแก่ลูกจ้างในอัตรา75%ได้ จึงต้องการให้รัฐบาลพิจารณา เรื่อง ได้แก่ 1.ประกาศให้โรงแรมที่ประสงค์จะปิดกิจการชั่วคราว สามารถลงทะเบียนเพื่อปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัยตามมาตรา79/1ของกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และ2.ขอให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินการว่างงานจากเหตุสุดวิสัยในอัตรา 50%ของค่าจ้าง โดยตามกฎหมายระบุให้60วัน แต่สมาคมฯขอขยายเป็น 180 วัน

“จากประกาศล่าสุดของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่27มี.ค.ที่ผ่านมา ได้สั่งปิดส่วนของห้องประชุมและห้องจัดเลี้ยงในโรงแรม ไม่ใช่การปิดกิจการโรงแรมชั่วคราวทั้งหมด แม้ส่วนนี้จะเข้าแนวทางที่2ของการช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม และช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมได้บางส่วน แต่สมาคมฯมองว่าอยากให้มีประกาศให้โรงแรมที่ประสงค์จะปิดกิจการชั่วคราวมาลงทะเบียน เพื่อเข้ากับแนวทางช่วยเหลือที่2 ได้ทั้งโรงแรม” สุรพงษ์ กล่าว