สธ.เผยผู้เสียชีวิตจากโควิด-19เพิ่ม 2 ราย ไม่สูงอายุ-ไม่มีโรคประจำตัว

สธ.เผยผู้เสียชีวิตจากโควิด-19เพิ่ม  2 ราย ไม่สูงอายุ-ไม่มีโรคประจำตัว

สธ.เผยผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย อายุไม่สูงวัย ไม่มีโรคประจำตัว เร่งตรวจสอบมาโรงพยาบาลช้าหรือไม่ ย้ำผู้ป่วยต้องบอกประวัติไปสถานที่เสี่ยงติดโรค ช่วยวินิจฉัยได้เร็ว


เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 30 มีนาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19ว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย โดยรายที่ 1 เป็นชายไทยอายุ 54 ปี มีประวัติเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย เข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลยะลา รายที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 56 ปี มีภาวะปอดอักเสบ เข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรงจำนวน 23 ราย อาการยังอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด สรุปมีผู้เสียชีวิตสะสม 9 ราย 


ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ที่เสียชีวิต 2 รายยังไม่ถือเป็นผู้สูงอายุมากแล้วมีโรคประจำตัวร่วมด้วยหรือไม่ นายแพทย์อนุพงศ์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่มีอยู่ไม่ได้มีโรคประจำ ซึ่งกำลังดูในรายละเอียดว่าทำไมผู้ป่วยที่ไม่มีโรคประจำตัว 2 รายนี้ถึงอาการรุนแรงและเสียชีวิต จึงต้องดูว่ามาโรงพยาบาลช้าไปหรือไม่ ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงก่อนหน้านี้จะได้ข้อมูลว่า บางรายไม่ยอมบอกว่าตัวเอวไปในสนามมวย หรือสถานบันเทิงมา ซึ่งจริงๆแล้วการป่วยเป็นโรคโควิด-19ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ ดังนั้น คนที่ไปสนามมวย หรือสถานที่เสี่ยงติดโรคอื่นๆ ถ้าไม่สบายให้รีบเข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาล เพื่อให้ทราบว่าป่วยหรือไม่ จะได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม อีกทั้ง เป็นการป้องกันแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น


ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ในส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงซึ่งเพิ่มขึ้นยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัวหรือไม่ นายแพทย์อนุพงศ์ กล่าวว่า จากตัวเลขก่อนหน้านี้ที่มีผู้ป่วยอาการรุนแรง 16 ราย เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ60ปีขึ้นไปและมีโรคประจำตัวร่วมมากกว่า 50 % ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต


ต่อข้อถามกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุแลไม่มีโรคร่วม มีปัจจัยอะไร นายแพทย์อนุพงศ์ กล่าวว่า สำคัญที่สุดคือการวินิจฉัยเร็ว สามารถให้การรักษาที่ถูกต้อง เวลาโรคที่เกิดขึ้นมาทุกคนไม่มีภูมิคุ้มกัน แปลว่าร่างกายต้องให้ระบบเม็ดเลือดขาว ระบบภูมิคุ้มกัน น้ำเหลืองมาจัดการ ถ้าร่างกายจัดการได้ไม่ดี ก็จะเจ็บป่วยมากขึ้นและรุนแรงมากขึ้น เมื่อนั้นการขจัดเชื้อจากร่างกายก็จะทำไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่มีอาการกระทบต่ออวัยวะสำคัญ เช่น ปอด ไต ยิ่งทำให้มีอวัยวะหลายแห่ง ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต 


นายแพทย์ธงไชย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 1 กล่าวว่า คิดว่ามีอีก 2 ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีอาการรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิต คือ 1.จำนวนเชื้อที่เข้าไป ถ้าเข้าไปมากโอกาสแพร่กระจายลงไปในปอดก็จะเร็วขึ้น และ2.แต่ละคนมีความไวต่อการที่เชื้อก่อให้เกิดโรคแตกต่างกัน บางคนเชื้อเข้าไปม่มาก แต่โรคสามารถลุกลามลงไปในปอด และส่วนใหญ่ของการเสียชีวิตก็จะเป็นเชื้อลุกลามเข้าไปในปอด เพราะฉะนั้นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญคือผู้ที่มีโรคประจำตัวและสูงอายุซึ่งเป็นข้อมูลของทั่วโลก


อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลาได้มีการออกประกาศสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา พบผู้ป่วยโควิด-19สียชีวิตรายแรกของจ.ยะลา เป็นชายไทย 54 ปี อาชีพค้าขาย มีประวัติเดินทางไปประเทศมาเลเซีย โดยมีภาวะปอดอักเสบรุนแร และมีโรคปะจำคือเบาหวานและความดันโลหิตสูง