ถอดบทเรียนอิตาลี 'โควิด-19' ระบาดเกินควบคุม

ถอดบทเรียนอิตาลี 'โควิด-19' ระบาดเกินควบคุม

ตอนนี้สถานการณ์ไวรัสโคโรน่าในอิตาลีถือว่าหนักหนาสาหัสที่สุด เป็นรองแค่สหรัฐ หากเทียบประเทศอื่นในยุโรป ถือว่าบอบช้ำที่สุดจากพิษโควิด-19 ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านอิตาลีและสหรัฐควรเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในดินแดนนี้ เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ข้อมูลล่าสุด (30 มีนาคม 2563 เวลา 12.04 น.ตามเวลาไทย) ระบุว่า ขณะนี้อิตาลีมีจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 มากกว่าจีน โดยขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐ โดยสหรัฐ มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 142,178 ราย ตามมาด้วยอิตาลี 97,689 ราย จีน 81,470 ราย สเปน 80,110 ราย เยอรมนี 62,435 ราย ฝรั่งเศส 40,174 ราย และอิหร่าน 38,309 ราย 

นอกจากนี้ อิตาลี ยังมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีจำนวน 10,779 ราย ตามมาด้วยสเปน 6,803 ราย จีน 3,304 ราย อิหร่าน 2,640 ราย ฝรั่งเศส 2,606 ราย และสหรัฐ 2,484 ราย

นายแพทย์ซิลวิโอ บรูซาเฟอร์โร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพแห่งชาติของอิตาลี กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า สถานการณ์ในตอนนี้ยังไม่ถึงจุดวิกฤติที่สุด แม้จะมีสัญญาณของการชะลอตัว แต่ทิศทางของสถานการณ์นับจากนี้จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของประชาชนทุกคน

นอกจากนี้ บุคลากรการแพทย์ในอิตาลีกว่า 300 คน ร่วมกันลงนามในหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีจูเซปเป คอนเต ขอใช้ห้องปฏิบัติการของภาคเอกชน รวมถึงห้องทดลองซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่แต่ละคน เพื่อขยายขอบเขตของการตรวจสอบตัวอย่างเชื้อ เพราะตั้งแต่มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น จำนวนห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่เป็นของรัฐซึ่งมีจำนวนจำกัด สร้างความวิตกกังวลให้กับหลายฝ่าย ว่าอาจทำให้ไม่สามารถทราบขอบเขตการแพร่ระบาดที่แท้จริง

แม้ขณะนี้อิตาลีจะมีมาตรการที่เข้มงวดมากที่สุดในโลกในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แต่ในช่วงแรกของการระบาด ทางการอิตาลี ยังไงใช้มาตรการต่างๆ แบบหลวมๆ เนื่องจากรัฐบาลยังคงคำนึงถึงสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานและสภาพเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งมาตรการของอิตาลีที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ไล่ตั้งแต่การประกาศปิดเมือง ปิดแคว้น จนไปถึงการปิดประเทศ แต่ท้ายที่สุด อิตาลีก็ไม่สามารถไล่ตามการระบาดที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วได้

เมื่อรัฐบาลอิตาลีนำมาตรการปิดประเทศมาใช้ เพื่อต่อสู้กับการระบาด แต่ก็ล้มเหลวในการสื่อสารให้เห็นถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ซึ่งดูเหมือนจะเต็มไปด้วยช่องโหว่มากมาย

“วอลเตอร์ ริชชิอาดี” สมาชิกคณะกรรมการองค์การอนามัยโลก และที่ปรึกษาระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขอิตาลี ซึ่งเคยกล่าวแย้งว่า รัฐบาลอิตาลีดำเนินมาตรการโดยอิงจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ ยังออกปากว่า การควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมอย่างอิตาลีไม่ใช่เรื่องง่าย

ริชชิอาดี กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินมาตรการอย่างรวดเร็วและจริงจังมากกว่าประเทศอื่นในยุโรปและสหรัฐ แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่สามารถชักจูงให้กระทรวงอื่นๆ ทำตามได้ และความยุ่งยากในการในควบคุมหลักการแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ยังนำไปสู่ความแตกแยกในสายการบังคับบัญชา และสารที่ส่งออกไปก็มีความขัดแย้งกันเอง

“ในช่วงของการทำสงครามกับโรคระบาด ปัญหาดังกล่าวยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง และอาจทำให้การบังคับใช้มาตรการที่มีความเข้มงวด ต้องล่าช้าออกไป” ริชชิอาดี กล่าว

ประเด็นต่อมาที่น่าจะเป็นความผิดพลาดของทางการอิตาลีคือ การประมาท ไม่ตระหนักถึงคำเตือนของทางการจีน ซึ่งเป็นต้นตอของการแพร่ระบาด โดยเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ทางการจีนออกแถลงการณ์เตือนประเทศที่พยายามปิดบังเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า “จะถูกตรึงอยู่กับเสาแห่งความอับอายชั่วนิรันดร์”

กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของอิตาลี ไม่ให้ความสนใจคำเตือนของจีนเลยแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้ามกลับจัดคอนเสิร์ตอย่างใหญ่โตที่สถาบันดนตรีในกรุงโรมเพื่อรับรองผู้แทนจากจีนในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของ 2 ประทศ    

น่าเสียดายที่อิตาลี ไม่ได้มองสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนว่าเป็นคำเตือน แต่มองว่าเป็นแค่ภาพยนตร์แนวไซ-ไฟ ไม่เกี่ยวกับอิตาลีแม้แต่น้อย และเมื่อไวรัสระบาด ยุโรปกลับมองอิตาลีเหมือนกับที่อิตาลีมองจีน

เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายไปทั่วแคว้นลอมบาร์ดี ซึ่งเป็นเขตที่มีการทำการค้ามากกับจีนมากที่สุด และเป็นที่ตั้งของเมืองมิลาน เมืองธุรกิจและศูนย์กลางการค้าและวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศ โดยในช่วงปลายเดือนก.พ. การระบาดเริ่มรุนแรงขึ้น ทำให้ต้องยกเลิกเทศกาลคาร์นิวัลในเมืองเวนิส แคว้นลอมบาร์ดีประกาศปิดโรงเรียน พิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ ขณะที่ชาวเมืองมิลานแห่กักตุนสินค้าตามซูเปอร์มาร์เก็ต

อัตติลิโอ ฟอนตานา ประธานคณะกรรมการบริหารแคว้นลอมบาร์ดี บอกว่า สารต่างๆ จากรัฐบาลกลางที่เต็มไปด้วยความสับสน รวมทั้งมาตรการผ่อนปรนต่างๆ ทำให้ประชาชนทั้งประเทศเชื่อว่า การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องตลก และยังคงใช้ชีวิตตามปกติ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ หลังจากได้หารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีและผู้นำแคว้นอื่นๆ แล้ว เขากลับได้รับคำตอบว่า สถานการณ์ไม่ได้รุนแรงมาก และพวกเขาไม่ต้องการสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ

ต่อมารัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ที่รวมถึงเงินช่วยเหลือมูลค่ากว่า 25,000 ล้านยูโร แต่อิตาลียังคงถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เชื่อว่าการแพร่ระบาดคือภัยคุกคาม และฝ่ายที่ไม่เชื่อแบบนั้น และหลังจากที่ทราบว่าศูนย์กลางการระบาดทางภาคเหนือลามไปยังพื้นที่ในแคว้นเวเนโต้ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารณสุขอิตาลี ก็ตัดสินใจประกาศปิดพื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคเหนือ และจำกัดการเคลื่อนที่ของประชากรอย่างเข้มงวด พร้อมประกาศว่าประเทศกำลังเผชิญกับภัยฉุกเฉิน